xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “ชุมชนล้อมรักษ์โมเดล” เมื่อทางออกของคนเสพยาอาจไม่ได้มีแค่คุกเสมอไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหายาเสพติด หนึ่งในปัญหาร้ายแรงอันดับต้น ๆ ของโลกและประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม สุขภาพ ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ความมั่นคงระหว่างประเทศ ตลอดจนภาพลักษณ์เมืองไทยในสายตาชาวโลก

ยังไม่นับรวมปัญหานักโทษล้นคุกที่ไทยกำลังเผชิญ ซึ่งพบว่ากว่า 82% เป็นตัวเลขของผู้ต้องหาจากคดียาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อย จนส่งผลให้คุกไทยแออัดติดอันดับ 6 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ผ่านมาในการจัดการปัญหายาเสพติดของประเทศไทย มีทั้ง ไม้อ่อน และ ไม้แข็ง เช่นครั้งหนึ่งที่เคยมีการใช้นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังและรุนแรง

ในขณะที่บริบทของสังคมเปลี่ยนไป “การปราบปรามที่เข้มข้น” เดินทางมาสู่ “การบำบัด” หลังประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ ความพยายามในครั้งนี้ของประเทศไทยคือการเดินหน้าเปลี่ยนมุมมองใหม่ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” หลักการลดความอันตรายจากการใช้สารเสพติด หรือ Harm Reduction

โดยสิ่งสำคัญคือ เน้นการรักษาและบำบัดผู้เสพให้กลับเข้าสู่สังคมได้

ซึ่งอีกหนึ่งนโยบายที่ถูกนำมาใช้ร่วมกันก็คือ “ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ Community Based Treatment : CBTx” การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยแนวคิดบำบัด ฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดด้วยความสมัครใจ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน แก้ปัญหานักโทษล้นคุก ภายใต้แนวทางขับเคลื่อนงานเครือข่ายต้นแบบชุมชนล้อมรักษ์ของกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ของกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1
ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) จะเป็นต้นแบบร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผ่านกลไกบูรณาการระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งขบวนการสำคัญที่จะช่วยดูแลสนับสนุนและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและต่อเนื่องทั้งทางการแพทย์ สภาพจิต สังคม การศึกษา การเสริมสร้างความรู้และทักษะในการดูแลตนเองและผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“CBTx สามารถคัดกรองผู้เสพแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ป่วยสีแดงคือมีภาวะวิกฤติด้านจิตเวช มีอาการรุนแรง ทำลายข้าวของ ซึ่งจะมีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปรองรับ ส่วนสีเหลืองหรือที่เรียกว่า Intermediate Care เป็นการบำบัดระยะกลาง จะมี ‘มินิธัญญารักษ์’ รองรับทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้ป่วยสีเขียวจะบำบัดโดย ‘ชุมชนล้อมรักษ์’ ที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งขณะนี้กระทรวงต่าง ๆ กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวบนเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ และถอดบทเรียนผสานจุดแข็งของ 6 พื้นที่ภูมิภาคไว้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และได้เริ่มปฏิบัติการ Quick Win สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เข้ารับการบำบัด ลดความรุนแรงจากปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด

โดยล่าสุด (17 มิ.ย.) กฎกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ดนั่นเอง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
จากข้อมูลสถานการณ์ผู้ใช้ ผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทย ปี 2566 มีถึง 1.9 ล้านคน แบ่งผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด 38,000 คน (2%) 2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 4.56 แสนคน (24%) และ 3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1.4 ล้านคน (74%)

“ปัญหายาเสพติดไม่ใช่แค่เรื่องการเล่นยาอย่างเดียว แต่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิต ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ การแข่งขันในสังคม การค้นหาตัวตน รวมถึงปัญหาความรัก และความอบอุ่นในครอบครัว อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหายาเสพติดในบทบาทหนึ่งจำเป็นต้องมีกฏหมายเข้ามาช่วยปราบปราม แต่อีกบทบาทหนึ่งชุมชนจะต้องรวมพลังกันเข้าไปดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาทางจิตใจหรือครอบครัวแตกแยก เช่น พ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้ หรือครอบครัวมีประวัติอาชญากรรมในอดีต ซึ่งกลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเดินเข้าสู่วังวนของยาเสพติด”

การที่เข้าไปดูแลตั้งแต่ตอนเด็กเป็นส่วนสำคัญมาก หรือเรียกว่า ต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะชุมชนจะได้รู้เท่าทันว่า ใครมีความเสี่ยงบ้าง ดังนั้น นอกจากจะต้องอาศัยชุมชนที่มีความพร้อมพอสมควร ก็ต้องอาศัยความรัก ความเอื้ออาทร ความห่วงใยที่ต้องคอยดูแลซึ่งกันและกันของคนในชุมชนด้วย” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชน

สสส. มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 กระจายคลอบคลุมทั้งประเทศ

ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ต้นแบบสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ เช่น พื้นที่ ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ต.ดูน อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาคล้อใต้ ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่น


ที่ผ่านมา สสส. ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนสถานการณ์สิ่งเสพติด จึงทำให้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงต้นทุนการทำงานของพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับกลไก พชอ. และ CBTx เพื่อเรียนรู้กลไกการทำงาน ความร่วมมือ และมาตรการนโยบายที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน นำมาสู่การเปิดเวที 6 ภูมิภาคเพื่อถอดบทเรียนสร้างความเข้าใจชุมชน ทั้งในเชียงใหม่ สงขลา นครนายก นครราชสีมา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ

ปัจจุบัน มีชุมชนเป็นฐานในการบำบัดยาเสพติด 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้นสามารถส่งต่อสู่ศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง

ส่วนความยากง่ายของพื้นที่ นพ.พงศ์เทพ ยอมรับว่า “จริง ๆ แล้วพื้นที่ในกทม. มีความยากในแง่ความหลากหลายของชุมชน” และอธิบายต่อ “ชุมชนที่มีรากฐานคือชุมชนที่รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนอยู่แล้ว มีผู้นำชุมชน รู้จักกัน ครอบครัวอยู่มายาวนานและมีความไว้วางใจระหว่างกัน แต่จะมีชุมชนอีกส่วนหนึ่งที่มีความยากในการเข้าไปจัดการอย่าง ชุมชนแออัดที่มาจากพื้นที่อื่น ๆ เพื่อประกอบอาชีพ รวมทั้งชุมชนแนวตั้งอย่างบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่ แต่ตรงนี้เขาจะมีจุดแข็งคือส่วนมากสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความรู้ที่จะปกป้องตนเองและลูกหลาน”

“ดังนั้น ผมคิดว่า แผนในอนาคตคงต้องมองไปถึงความหลากหลายของชุมชน และพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกรูปแบบ”

นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ แกนนำเครือข่ายเยาวชนบางกอกดีจัง
แล้วเสียงใดเล่าจะสะท้อนไปได้ดีกว่า คนที่เคยอยู่ในวังวนยาเสพติดมาก่อน

“ลุงผมเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด พ่อโดนวิสามัญเพราะเป็นพ่อเป็นพ่อค้ายารายใหญ่ และผมเคยเป็นเด็กส่งยามาก่อน” นั่นคือสิ่งที่ ม็อบ - สุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ แกนนำเครือข่ายเยาวชนบางกอกดีจัง วัย 26 ปี บอกกับเรา

เขาเล่าว่า ในช่วงของการปราบปรามอย่างหนักปี 2546 คุณพ่อที่เป็นพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ถูกวิสามัญ ซึ่งตอนนั้นตนอายุแค่เพียง 5 ขวบ หลังจากที่พ่อเสียชีวิตก็ต้องย้ายไปอยู่กับป้า ซึ่งเป็นชุมชนที่ขึ้นชื่อว่า มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นทำให้ป้าตนกลับเข้าสู่วงการวงจรยาเสพติดอีกครั้งและตนก็ต้องจำยอมไปส่งยาเสพติดให้ป้าและคนในชุมชน เพื่อใช้อยู่ ใช้กินและเรียนหนังสือ

“แต่ระหว่างนั้นผมก็ได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมประชุมชนบ้าง ซึ่งกิจกรรมหลัก ๆ ก็จะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกับครอบครัวผมในตอนนั้น เพราะกลับบ้านมา ผมก็ต้องไปส่งยาให้เขาอยู่ดี”

“เวลามีกิจกรรมในชุมชน ถ้าให้ผมเลือกระหว่างไปทำกิจกรรมกับอยู่บ้าน ผมเลือกที่จะออกไปทำกิจกรรม ผมไปกับเขาทั้ง ๆ ที่บ้านผมมีปัญหานั่นแหละ ผมรู้สึกว่า เซฟโซนของผมตอนนั้นไม่ใช่บ้านแล้ว แต่มันคือพื้นที่ข้างนอกมากกว่า โชคดีที่เราได้โอกาสจากพี่ ๆ หลายคนที่พอรู้และเข้าใจพื้นฐานครอบครัวเรา ก็ช่วยกันดึงเราเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น”

“ผมก็เคยถูกที่บ้านถามเหมือนกันว่า การออกไปทำกิจกรรมของผมได้อะไร ซึ่งผมก็ตอบชัดเจนว่า การออกไปมันเป็นความสุขของผม เวลาที่เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองเดินจูงมือกัน พาลูกพาหลานมาทำกิจกรรมร่วมกันมันเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง ผมคิดว่า มันคือภาพแห่งความสุขที่เรามอบให้คนอื่นแล้วมันก็สุขกับตัวเองด้วย”

แต่ก็มีหลายครั้งที่เขามักได้ยินหลายคนพูดว่า “โตขึ้น เดี๋ยวก็ขายยาเหมือนพ่อ ไม่รอดหรอก”

แต่วันนี้เขาเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจว่า “เงินขายยาได้มาง่ายก็จริง แต่ผมมองว่า วิธีการรวยมันไม่จำเป็นต้องไปทำแบบนั้นก็ได้ มันมีวิธีเยอะแยะมากมาย อีกอย่างผมพูดกับทุกคนไว้เสมอว่า ผมไม่อยากจบชีวิตแบบพ่อกับลุงแล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครดูแลย่าของผม”

“วันนี้ผมพิสูจน์ให้หลายคนเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดมาในสังคมแบบไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เราสามารถเลือกทางเดินชีวิตตัวเองได้ ผมคิดว่า คนแบบผมมันมีเยอะมาก แต่เขาไม่มีพื้นที่ออกมาพูด ผมแค่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งที่ได้มีโอกาสออกมาพูดแทนพวกเขาเหล่านั้น”

“จริง ๆ เรื่องแย่ ๆ ของเราก็ไม่อยากเล่าให้ใครฟังหรอก แต่กลายเป็นว่า เรื่องแย่ ๆ ของเรามันสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้เยอะมาก มันทำให้คนอื่นเปลี่ยนความคิดได้ ผมว่า มันก็เจ๋งดีนะ”

หลังจากป้าโดนจับตอนเขากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครอบครัวของเขาก็เดินออกจากวงจรยาเสพติดหันมาประกอบอาชีพสุจริตแทน ปัจจุบัน ม็อบ กลายเป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่จาก“บางกอกนี้ดีจัง”และการทำงานเบื้องหลังตามอีเวนท์ต่าง ๆ

นายรังสรรค์  ชื่นประเสริฐ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขอยื่น 4 ข้อเสนอสำคัญสำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อดังนี้

1.สนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมเป็นฐานของรัฐบาล โดยขอให้มีความจริงจังต่อเนื่อง

2.เร่งจัดตั้งศูนย์บำบัดแบบปิด ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสการบำบัดรักษาให้สำเร็จ

3.เร่งรณรงค์ และสนับสนุนมาตรการองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย สามารถสมัครเข้าทำงานได้

4.ขอให้กระทรวงแรงงานได้จัดหาอาชีพ หรือมีกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ (คล้ายกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพื่อรองรับผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย ให้สามารถมีอาชีพหรือมีทุนในการประกอบอาชีพได้

ท้ายที่สุดแล้ว คงไม่มีใครรู้ว่า ตอนจบของประเทศไทยกับสงครามยาเสพติดครั้งนี้จะเป็นแบบไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นได้ชัดคือความพยายามที่จะต่อสู้(อีกครั้ง)ของทั้งภาครัฐและประชาสังคม ไม่แน่ว่า ประเทศไทยอาจมีความหวังรออยู่ที่ปลายทางก็เป็นได้…






กำลังโหลดความคิดเห็น