xs
xsm
sm
md
lg

เช็คอาการแบบไหน เข้าข่ายเป็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระวัฒน์ เธียรประธาน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตหรือเร่งด่วน มีภาวะคุกคามชีวิตจำเป็นต้องให้การรักษาโดยทันทีหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นจำเป็นต้องให้การรักษาโดยเร็วที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยโครงสร้างหรือระบบที่หากมีความผิดปกติรุนแรงจากโรคต่างๆ หรือการบาดเจ็บแล้วจะส่งผลให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท

ห้องฉุกเฉินของแต่ละโรงพยาบาลจะมีหน่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อประเมินผู้ป่วยก่อนว่ามีความเร่งด่วนในการรักษามากน้อยแค่ไหน ซึ่งการคัดกรองผู้ป่วยจัดระดับความเร่งด่วน แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะต้องได้รับการตรวจทันที ระดับ 2 ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน จะต้องได้รับการตรวจภายใน 15 นาที ระดับ 3 ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วน จะต้องได้รับการตรวจภายใน 15 นาที และระดับ 4 ซึ่งเป็นผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งระดับ 5 ซึ่งเป็นผู้ป่วยบริการอื่นๆ ไม่มีกำหนดเวลา

ตัวอย่างอาการที่เข้าได้กับภาวะฉุกเฉินวิกกฤต เช่น คนไข้หมดสติ ไม่หายใจ สงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นต้องรีบกู้ชีพขั้นสูง ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นจำเป็นต้องเปิดทางเดินหายใจ ระบบหายใจล้มเหลวจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีภาวะช็อกจากเสียน้ำหรือเสียเลือดจำเป็นต้องให้สารน้ำหรือเลือด หรือมีระดับความรู้สึกตัวที่เปลี่ยนแปลงไปหรือมีอาการชักจำเป็นต้องให้การยาหยุดชัก ซึ่งควรได้รับการตรวจอย่างโดยทันที นอกจากนี้ตัวอย่างภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการที่ (เสี่ยง) ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการที่ (เสี่ยง) ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือผู้ป่วยที่มาด้วยอาการที่ (เสี่ยง) ภาวะติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการซึมสับสน หรือมีอาการปวดในอวัยวะที่สำคัญ (ศีรษะ หน้าอก ช่องท้อง) ควรได้รับการตรวจอย่างรวดเร็วหรือไม่ควรเกิน 15 นาที ในกรณีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินหรือว่าไม่วิกฤต สามารถรอแพทย์ตรวจได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น อุบัติเหตุทั่วไปที่ไม่รุนแรง หรือเจ็บป่วยทั่ว ๆ ไป

อาการฉุกเฉินวิกฤตโดยส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่ออวัยะที่สำคัญของร่างกาย ได้แก่ ระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งประกอบไปด้วยหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และระบบประสาท ตัวอย่างเช่น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยทันทีอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นหรือแย่ลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตตามมาได้

หากพบผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน ยกตัวอย่างเช่น พบผู้ป่วยหมดสติ บุคคลหรือประชาชนทั่วไปสามารถทำการช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยลำดับแรกผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องตั้งสติก่อน ดูว่าผู้ป่วยยังมีสติอยู่หรือไม่โดยให้ลองปลุกเรียกโดยการตบที่บ่าแรง ๆ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนอง ไม่รู้สึกตัว ให้เปิดหน้าอกเพื่อดูการขยับของทรวงอกเพื่อประเมินการหายใจ หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวร่วมกับไม่หายใจให้ทำการกดหน้าอกทันที ซึ่งตำแหน่งของการกดหน้าอกจะเป็นช่วงกระดูกหน้าอกครึ่งล่าง หรือบริเวณราวนม โดยใช้บริเวณของส้นมือข้างใดข้างนึง และใช้อีกมืออีกข้างหนึ่งประสานกัน กดหน้าอกลงไปได้เลย ซึ่งผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือจะนั่งคุกเข่าอยู่บริเวณข้างตัวของคนไข้ กดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ หรือประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร อัตราเร็วประมาณ 100 – 120 ครั้ง/นาที กดให้ลึกและให้ทรวงอกคืนตัวให้ได้มากที่สุด กดไปเรื่อยๆ จนครบ 2 นาที หรือจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง โดยเมื่อกดหน้าอกครบ 2 นาที ให้สังเกตว่าผู้ป่วยกลับมาหายใจหรือว่ารู้สึกตัวแล้วหรือยัง โดยไม่แนะนำให้เป่าปากเพื่อช่วยผู้ป่วยหายใจเพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ได้แก่ อุปกรณ์ในการช็อกหัวใจ หรือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ (AED; Automated External Defibrillator) เครื่องดังกล่าวส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้ในบริเวณที่สาธารณะ หรือสถานที่ๆ พบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้บ่อยๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สนามกีฬา ฟิตเนส รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติสามารถเอามาวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้ ถ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยสามารถกระตุกไฟฟ้าโดยการช็อกไฟฟ้าได้ ตัวของเครื่อง AED ก็สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังผู้ป่วยเพื่อช็อกไฟฟ้าหัวใจได้ ซึ่งการช็อกไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมารอดชีวิตได้ โดยผู้ที่ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นพื้นฐานต้องมีความรู้ในการกดหน้าอก โดยบุคคลหรือประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาความรู้ในการใช้ช่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐานทั้งการกดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติเพิ่มเติมได้จากในคลิปของ Mahidol Channel มหิดล แชนแนล หรือตามเว็บไซต์ของโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ หากท่านไม่มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 เป็นสายด่วนฉุกเฉิน ซึ่งจะมีทีมช่วยเหลืออาสาหรือทีมกู้ชีพเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ภายใน 4-8 นาที หลังจากที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้าหรือนำส่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่เหมาะสมที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการรักษาฉุกเฉินเพื่อให้พ้นภาวะวิกฤติก่อน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) Coordination Center จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤต หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องกลับมาใช้สิทธิปกติตามที่ผู้ป่วยมี เช่น สิทธิบัตรทอง 30 บาท สิทธิประกันสังคม หรือว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ในปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย แบ่งเป็นทีมกู้ชีพระดับพื้นฐานและทีมกู้ชีพระดับสูง โดยทีมระดับพื้นฐานจะประกอบไปด้วย อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะอยู่ประจำจุดที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ โดยทีมระดับพื้นฐานจะไปยังที่เกิดเหตุได้เร็วกว่าทีมขั้นสูงเนื่องจากมีจำนวนทีมมากกว่า มีการกระจายตัวมากกว่า และใกล้กับจุดเกิดเหตุมากกว่า ส่วนทีมกู้ชีพระดับสูงปกติจะประจำอยู่ตามโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน นักฉุกเฉินการแพทย์ เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ โดยทีมกู้ชีพระดับสูงจะมีสมรรถนะของบุคลากรและมีอุปกรณ์กู้ชีพขั้นสูงเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินวิกฤติหรือฉุกเฉินเร่งด่วน ทีมกู้ชีพในเขตของกรุงเทพมหานครจะมีศูนย์เอราวัณเป็นเครือข่ายหลักเพื่อทำการประสานงานผู้ป่วยกับโรงพยาบาลปลายทาง

จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินสามารถตอบสนองความต้องการการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่ผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล รวมทั้งมีการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของแพทย์ฉุกเฉินในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย


กำลังโหลดความคิดเห็น