xs
xsm
sm
md
lg

“ดนตรีบำบัด” กับการส่งเสริมพัฒนาการในวัยเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูไม่ว่าจะเกี่ยวกับด้านอารมณ์ จิตใจ หรือร่างกาย “ดนตรีบำบัด” ถือเป็นศาสตร์แห่งการบำบัดฟื้นฟูแขนงใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการนำหลักฐานทางการวิจัย (Evidence-based research) มาใช้ในการออกแบบกิจกรรมดนตรีบำบัดให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อผู้รับบริการอย่างมีเป้าหมาย โดยมีนักดนตรีบำบัดที่ผ่านการศึกษาในสาขาวิชาดนตรีบำบัดโดยตรงในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท และผ่านการฝึกประสบการณ์ทางดนตรีบำบัดจนเกิดความเชี่ยวชาญ

“ดนตรีบำบัด” จะใช้ในสำหรับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยชรา และหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ “วัยเด็ก” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดค้นพบความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก และสามารถนำเด็กเข้ารับการบำบัดหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้รวดเร็วกว่าช่วงวัยอื่น ๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธี เชียงชะนา หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กที่เข้ารับดนตรีบำบัดมีหลากหลายประเภทตั้งแต่เด็กทั่วไปที่ต้องการใช้ดนตรีเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Children with special needs) ซึ่งมีหลากหลายประเภท เช่น เด็กพัฒนาการช้า เด็กพิการ เด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือโดนทารุณกรรม เป็นต้น สำหรับกลุ่มเด็กที่มาเข้ารับบริการดนตรีบำบัดมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กพิการ เช่น เด็กที่มีภาวะออทิซึม (Autism spectrum disorder) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Specific learning disorders) เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual disabilities) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา รวมทั้งเด็กที่มีความพิการซ้อน

อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถค้นพบพัฒนาการที่ไม่สมวัยหรือความผิดปกติของเด็กได้ตั้งแต่ช่วงต้นระยะพัฒนาการ และให้การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention) โดยใช้ดนตรีบำบัดเป็นสื่อในการกระตุ้นพัฒนาการ จะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดจนถึง 7 ขวบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของการพัฒนาสมองเด็ก แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะช่วงวัยใดก็สามารถเข้ารับดนตรีบำบัดได้เช่นกัน

ในด้านการออกแบบกิจกรรมดนตรีบำบัด (Music therapy interventions) นักดนตรีบำบัดจะออกแบบตามเป้าหมายเฉพาะตามความต้องการจำเป็นของเด็กแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การกระตุ้นพัฒนาการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านสังคม และด้านอารมณ์ ดังตัวอย่าง เช่น หากต้องการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษา สามารถใช้วิธีการร้องเพลงมาช่วยในเรื่องการฝึกออกเสียง การจดจำคำศัพท์ รวมถึงการทำท่าทางประกอบตามบริบทต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับคำศัพท์นั้นได้ การร้องเพลงยังช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสังคมช่วยให้เด็กสามารถทักทาย เรียนรู้มารยาททางสังคมผ่านบทเพลง หรือมีปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ กับคนในสังคม ตลอดจนช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย เพราะดนตรีมีเรื่องของจังหวะ (Rhythm) เมื่อสมองรับรู้ได้ถึงเสียงของดนตรีหรือได้ฟังเพลง สมองกับร่างกายจะเกิดการเชื่อมโยงกันทำให้เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินและการทรงตัวสามารถฝึกเดินตามจังหวะของบทเพลงได้

ขั้นตอนในการเข้ารับดนตรีบำบัดสำหรับเด็ก จะเริ่มต้นจากการส่งต่อ (referral) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะส่งต่อมาจากผู้ปกครอง แพทย์ พยาบาล หรือนักสหวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งบุคคลที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครอง ที่มีความใกล้ชิดและใช้เวลาส่วนใหญ่กับเด็กมากที่สุดซึ่งหากพบอาการผิดปกติบางอย่างและเห็นว่ามีความจำเป็นต้องส่งตัวเพื่อเข้ารับการบำบัดก็สามารถส่งตัวเด็กมาเข้ารับบริการดนตรีบำบัดได้ทันที จากนั้นนักดนตรีบำบัดจะทำการประเมินการเข้ารับการบำบัดตามความต้องการจำเป็นหรือตามพัฒนาการ 5 ด้านของเด็ก พร้อมประเมินการตอบสนองต่อดนตรี โดยเฉพาะการประเมินความชอบทางดนตรี (Music preference) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในดนตรีบำบัด

จากผลการวิจัยพบว่า “ดนตรีที่ชื่นชอบ” มีผลต่อประสิทธิผลของการบำบัดมากที่สุด ดังนั้นในทางดนตรีบำบัดเราจึงไม่มีบทเพลง (หรือสูตรสำเร็จ) ในแต่ละอาการหรือโรค แต่บทเพลงที่ดีที่สุดคือบทเพลงตามที่ผู้รับบริการชื่นชอบ นักดนตรีบัดจะการเลือกใช้ดนตรีตามความชอบของผู้รับบริการ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปแล้วนักดนตรีบำบัดจึงจะทำการออกแบบกิจกรรมดนตรีบำบัด (Music Intervention) ให้สอดคล้องต่อความต้องการจำเป็นและความสามารถในการตอบสนองต่อดนตรีของเด็กเป็นรายบุคคล พร้อมประเมินการบำบัดและรายงานผลความก้าวหน้าของการบำบัดแก่ผู้ส่งต่อ

นอกจากนี้ บ่อยครั้งมักเกิดการตั้งคำถามว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เช่น เด็กหูหนวกและเด็กหูตึง สามารถเข้ารับดนตรีบำบัดได้หรือไม่ บางคนเข้าใจว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอาจไม่ได้ยินเสียงเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังคงสามารถใช้การได้ยินที่หลงเหลืออยู่ (Residual hearing) ได้ ซึ่งระดับการได้ยินที่หลงเหลืออยู่นี้จะแตกต่างกันไปตามระดับความบกพร่องของการได้ยิน โดยส่วนใหญ่พวกเขาจะได้ยินในระดับเสียงที่ดัง เช่น เด็กหูหนวก จะได้ยินที่ระดับ 90 เดซิเบลขึ้นไป และสามารถรับรู้เสียงในระดับต่ำหรือทุ้ม มากกว่าเสียงระดับกลางหรือสูง ซึ่งการใช้ดนตรีบำบัดในเด็กกลุ่มนี้นักดนตรีบำบัดจะเลือกใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบ จำพวกกลองที่มีโทนเสียงต่ำ หรือใช้เครื่องเป่าลมทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต หรือทรอมโบน เป็นต้น แต่สำหรับในเด็กหูหนวกที่ใส่ประสาทหูเทียม (Cochlear implant) จะมีความสามารถในการรับรู้เสียงของดนตรีได้หลากหลายมากขึ้น สำหรับในเด็กหูตึงจะสามารถรับรู้เสียงจากการได้ยินน้อยกว่า 90 ลงมาจนถึง 26 เดซิเบล ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถรับรู้ระดับเสียงและคุณลักษณะของเสียงเครื่องดนตรีได้กว้างกว่าเด็กหูหนวก โดยเฉพาะหากพวกเขาใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) จะช่วยให้รับรู้เสียงได้มากขึ้น สำหรับเป้าหมายของดนตรีบำบัดในเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นการใช้ดนตรีเพื่อฟื้นฟูความบกพร่องหลัก เช่น กระตุ้นการได้ยิน การออกเสียงพูดและการสื่อสาร แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นไม่แพ้กันที่ดนตรีบำบัดสามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น เป้าหมายด้านอารมณ์ ทักษะสังคม สติปัญญาและการเรียนรู้ เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธี เชียงชะนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาโดยตลอด พลังของดนตรีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการทำให้มนุษย์รู้สึกสนุก มีความสุข ได้ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเสียงเพลงรวมถึงประโยชน์ในเชิงบวกด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดศาสตร์แห่งการบำบัดฟื้นฟูที่มีชื่อว่า “ดนตรีบำบัด” นี้ขึ้นมาอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความต้องการจำเป็นตามกลุ่มอาการต่าง ๆ ให้สามารถฟื้นฟูอาการเหล่านั้นให้ดีขึ้นได้ผ่าน “ดนตรีที่ชื่นชอบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น