อว. จับมือ 9 เครือข่าย CWIE และสมาคมสหกิจศึกษาไทย จัดงาน “วันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (CWIE DAY) ครั้งที่ 14 ประจำปี 2567” “ศุภมาส” ชูหลักสูตร CWIE สร้างบัณฑิตที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดงาน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานวันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (CWIE DAY) ครั้งที่ 14 ประจำปี 2567 ร่วมกับเครือข่าย CWIE ภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้แนวคิด “THE NEXT CWIE‘s FUTURE : พัฒนาคน ตอบโจทย์พัฒนาประเทศกับ CWIE โดยมี รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย นายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประธานเครือข่าย CWIE 9 เครือข่าย คณะผู้บริหาร และคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในเรื่องการพลิกโฉมของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การแข่งขันทางธุรกิจและความต้องการการบริโภคใหม่ ๆ ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยลดลง บัณฑิตที่จบมาแล้วมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาดงานหรือมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะมีการปรับตัวและพัฒนาดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นตัวเร่งให้ อว. ต้องทำการปฏิรูปการอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มทักษะ และเพิ่มโอกาสของนักศึกษา สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” การจัดการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE เป็นการจัดการศึกษาที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาผู้ผลิตบัณฑิต และสถานประกอบการผู้ใช้บัณฑิต สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยหลักสูตร CWIE จะช่วยลดภาระทางการเงินของนักศึกษาและผู้ปกครอง เนื่องจากนักศึกษาสามารถทำงานและมีรายได้ในระหว่างเรียน ทำให้มีรายได้เสริมเพื่อนำไปใช้จ่ายในการศึกษาและชีวิตประจำวัน และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากทุกคนมีสิทธิไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม
นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า หลักสูตร CWIE เน้นการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ทำให้นักศึกษาได้เพิ่มทักษะที่จำเป็นทั้ง Hard Skills, Soft skills ทำให้มีความพร้อมในการทำงานได้ทันที และยังเพิ่มโอกาส ให้นักศึกษาในการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ และมีโอกาสได้รับการจ้างงานหลังจากสำเร็จการศึกษา จากการที่ อว. ส่งเสริมให้มีการจัดหลักสูตร CWIE มามากกว่า 20 ปี ทำให้เห็นความสำเร็จของการจัดหลักสูตรที่เกิดการเชื่อมโยงนักศึกษากว่า 100,000 คน สถาบันอุดมศึกษาเกือบ 100 แห่ง และสถานประกอบการเกือบ 16,000 แห่งเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของ อว. ในอนาคต คือ การขยายผลการจัดหลักสูตร CWIE ไปยังทุกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ให้เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี ตั้งเป้าให้เป็น Main Stream ของการอุดมศึกษาไทย รวมทั้งมีการขยายภาคีความร่วมมือไปยังองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน สมาคมวิชาการและสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร CWIE เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำงานจริง
“ดิฉันหวังว่าเครือข่าย CWIE ทั้ง 9 เครือข่าย ที่มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเป็นสมาชิกจะยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตบัณฑิตที่มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดงาน“ รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายสมบัติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ อว. ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมกับสถานประกอบการจัดหลักสูตร CWIE มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาจัดหลักสูตร CWIE 99 แห่ง มีจำนวนหลักสูตร CWIE รวม 2,603 หลักสูตร มีนักศึกษา CWIE 111,508 คน และมีสถานประกอบการเข้าร่วมจัดหลักสูตร CWIE จำนวน 15,645 แห่ง โดยพบว่า บัณฑิตที่จบหลักสูตร CWIE ส่วนใหญ่ได้งานทำเร็วกว่านักศึกษาหลักสูตรปกติ และผู้ประกอบการมีความพึงพอใจคุณภาพบัณฑิต CWIE จึงเข้าร่วมจัด CWIE มากขึ้นทุกปี นอกจากนี้ หลักสูตร CWIE ยังได้พัฒนาไปสู่ระดับสากล โดยมีสถาบันอุดมศึกษา 34 แห่งจัดหลักสูตร CWIE นานาชาติ มีสถานประกอบการนานาชาติร่วมจัดหลักสูตร CWIE 324 แห่ง มีจำนวนหลักสูตร CWIE นานาชาติ 99 หลักสูตร และมีจำนวนนักศึกษา CWIE นานาชาติ 471 คน อว. สมาคมสหกิจศึกษาไทย และเครือข่าย CWIE 9 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดหลักสูตร CWIE มาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE DAY” และมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 นับถึงปัจจุบัน รวม 14 ครั้ง โดยการจัดงาน CWIE DAY นับเป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้สถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ CWIE รวมทั้งเป็นเวทียกย่องเชิดชูเกียรตินักศึกษา บุคลากร ที่มีผลการดำเนินงาน CWIE ดีเด่นระดับชาติ และยกย่องสถานประกอบการที่สร้างคุณประโยชน์ในการร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง