ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ทุก ๆ วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ (World No Tobacco Day) โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้
โดยคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 คือ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”
จากคำขวัญดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็พุ่งเป้าไปที่ตัวร้ายหน้าใหม่อย่าง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ที่มีการคาดการณ์ว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่ที่มีอายุลดลง จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า เด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่น
ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงถือโอกาสเอาวันงดสูบบุหรี่โลกร่วมกับทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 พิธีมอบรางวัลกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียน ภายใต้แนวคิด “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” พร้อมผลการดำเนินงานช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบเข้าร่วม
ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า “กิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ในโรงเรียน” ภายใต้แนวคิด “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้แรงสนับสนุนจาก สสส. มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการจูงใจให้คนเลิกบุหรี่ พร้อมรับบริการรักษาฟัน ส่งเสริมให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีไปพร้อมกับสุขภาพร่างกายที่ดี โดยมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ซึ่งใน 2 ปีหลังได้ขยายความร่วมมือบูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินหน้าผลักดันกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ในโรงเรียนเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่
อย่างไรก็ดี มาตการการป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่โดยเฉพาะในวัยเรียนเป็นมาตรการที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน
“ดีใจที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงทุน ลงแรง เสียสละ เพื่อช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละเพียง 4 แสนกว่าคน เด็กอายุ 6-15 ปี แต่ละวัยมีเพียงแค่ 5-6 แสนคนซึ่งเด็กเหล่านี้ก็คือผลิตผลในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาพช่องปากที่ดี มีความสามารถที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่หรือยาเสพติดตั้งแต่ตอนนี้ สุดท้ายเราก็จะไม่มีคนทำงานเลี้ยงดูประเทศนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นโครงการนี้ถือการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในอนาคต ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของโครงการแล้ว”
ทพ.อดิเรก ให้ความรู้ต่อว่า จากการศึกษาระยะยาวพบ ผู้สูบบุหรี่จะมีการสูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งเร่งให้ฟันหลุดเร็วกว่าปกติ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยจากข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์ พบว่า ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก จุลินทรีย์ดีลดลง เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน นอกจากนี้ ยังพบว่า เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ Streptococcus mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินทุกชนิด ถือเป็นสารเสพติดที่มีผลต่อทั่วร่างกายโดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และหลอดเลือด และมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ดี นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กังวลว่า เด็กและเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอาจพบโรคทางช่องปากเร็วที่สุดภายใน 5-10 ปีนี้
ไม่เพียงเท่านั้น นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสริมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า บุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 2,817,347 ปี คิดเป็น 14.6% ของการสูญเสียทั้งหมด และเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทย 15.6% โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 26.1%
แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการลดอัตราการสูบบุหรี่ลงจนเป็นตัวเลขที่น่ายินดี โดยสามารถลดจาก 32% ในปี 2534 เหลือเพียง 17.4% ในปี 2564 แต่การเกิดขึ้นของ บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ผู้จัดการกองทุน สสส. มองว่า สงครามนิโคตินครั้งใหม่อาจส่งผลให้เราแพ้สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าถูกพัฒนาเพื่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติที่หลากหลาย กลิ่นหอม ไม่มีเขม่าควัน และพกพาง่าย ซึ่งจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) พบเด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่าเลยทีเดียว
ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า
“ถ้าถามว่า นิโคตินน่ากลัวอย่างไร? นิโคตินเป็นสารที่ไปกระตุ้นให้เกิดความสุข ฟังดูเหมือนจะดี เพราะปกติเราก็ต้องอยากมีความสุข ความสุขเรียกได้ว่า เป็นรางวัลที่สำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์ มนุษย์มีความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น จากการกินอาหารที่มีประโยชน์ จากการใช้ชีวิตที่ดี จากการพักผ่อนที่ดี แต่นิโคตินคือทางลัดการสร้างความสุข การเอาสารแห่งความสุขใส่เข้าไปก็จะได้รับความสุขโดยที่ไม่ต้องไปทำงาน ไม่ต้องกินอาหาร ไม่ต้องออกกำลังกายก็ได้ความสุขแล้ว แต่เมื่อสูบเข้าไปจนติด สุดท้ายคุณจะพบเลยว่า มันคือความสุขเทียม” และอธิบายต่อว่า “จริง ๆ ต้องบอกว่า การติดนิโคตินในเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน เพราะสมองจะรับรู้สารแห่งความสุขเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือผู้ใหญ่อาจจะมีความยับยั้งชั่งใจมากกว่าเด็ก ในแง่ที่ว่า กลัวตายเร็ว กลัวเป็นอันตรายมากขึ้น ในขณะที่เด็กขาดความยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งการใช้เหตุผลและชุดข้อมูลความรู้ที่ยังน้อยอยู่ ดังนั้น เมื่อเด็กสูบในปริมาณที่มาก ๆ และบ่อย ๆ ก็สามารถเกิดการเสพติดที่หนักมากกว่าผู้ใหญ่ได้เช่นกัน” นพ.พงศ์เทพ เล่าเสริม
ในครั้งนี้ สสส. สนับสนุนกลไกเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนทางนโยบาย/มาตรการควบคุมยาสูบ หนุนเสริมระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างกระแสทางสังคมและความรอบรู้ด้านการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 พบว่า ประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจของ สสส. ที่ต้องการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ขณะที่ส่วนราชการเดินหน้าปราบปรามอย่างเข้มข้น สสส. เองก็มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองผ่านการทำงานของเครือข่ายมูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่ สร้างเครือข่ายผู้ปกครองเพื่อร่วมพูดคุยและแก้ไขปัญหา อีกโครงการสำคัญคือการ ‘พัฒนานวัตกรรมนิทานออนไลน์ อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด’ หนังสือภาพที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสามารถดาวน์โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
โดย นพ.พงศ์เทพ เชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับลูกหลานตั้งแต่อยู่ในบ้าน
นอกจากการร่วมมือขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในรั้วโรงเรียนตลอด 2 ปี ในวันงดสูบบุหรี่โลกที่ผ่านมา ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เล่าว่า สพฐ. ได้ขับเคลื่อนสร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทั้งมิติของงานวิชาการ มิติการป้องกัน และมิติการเสริมสร้างกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประกาศให้เป็นสัปดาห์ปลอดบุหรี่ รณรงค์งดสูบในสถานศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมด้วยกิจกรรมรณรงค์เชิงสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ส่วนช่วงปิดเทอมมีการดำเนินการนำชุดความรู้จากภาคีเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบแจกจ่ายให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในช่วงวันหยุดยาว นอกจากนี้ยังมีการวางแนวป้องกันการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง ประสานการตรวจเข้มร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปรับแก้ประกาศเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ในสถานศึกษาให้ชัดเจนขึ้น ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรฝ่ายการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังการใช้บุหรี่ในสถานศึกษา
“นี่คือความพยายามของสพฐ. ที่ต้องการจะปกป้องเด็ก ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าว เราทำงานร่วมกันอย่างเต็มกำลังและหวังว่า ผู้ปกครองก็จะให้ความร่วมมือกับเราเช่นกัน อย่างที่รู้กันว่า ในตอนนี้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายขึ้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ในขณะเดียวกันเด็ก ๆ ก็ยังไม่เข้าใจถึงเรื่องผลที่ตามมามากนัก ซึ่งก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ข้อสำคัญคือวันนี้มีเด็กเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต เด็ก ๆ ทุกคนนั้นมีคุณค่าต่อประเทศ ถือได้ว่า เป็นกำลังหลักของชาติ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปกป้องรักษาให้เขาสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ ในภาพรวมของโครงการได้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สรุปรวมให้ฟังว่า โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบมีการดำเนินงานต่อเนื่องมากว่า 2 ปี สามารถช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ จาก 20 จังหวัดใน 12 เขตสุขภาพ จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมประมาณ 80 โรงพยาบาล โดยมีการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามาในคลินิกทันตกรรมทั้งหมด 508,156 คน พบว่า เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 26,109 คน ทันตบุคลากรชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าร่วมโครงการได้ 13,372 คน และสามารถช่วยผู้ป่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จจำนวน 1,272 คนคิดเป็น 9.5% นอกจากทันตบุคลากรจะมีส่วนช่วยเหลือยังมีการเลิกบุหรี่ผ่านอีก 2 ช่องทางอย่าง Dentist Hero และคลินิกฟ้าใสของโรงพยาบาลร่วมด้วย
โครงการฯ นี้ มีการแบ่งแผนงานหน่วยย่อยเพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในปีนี้คือ โรงเรียน ทั้งนี้ สพฐ. มีจัดการประกวดกิจกรรมเสริมหลักสูตรทักษะการปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีการตอบรับจากนักเรียนในสังกัดของสพฐ. 78 แห่งใน 12 เขตสุขภาพ 20 จังหวัด สุดท้ายมีผู้ได้รับรางวัล 13 รางวัล จากผลงานทั้งหมด 80 โรงเรียน และการประกวดวาดภาพระบายสี และจัดทำคลิปวิดีโอ TikTok ในหัวข้อ “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” มีผู้ได้รับรางวัลประเภทละ 15 รางวัล
ทั้งนี้ ทพ.สุธา ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ปักหมุดว่า ในเฟสต่อไปจะมีการเน้นช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ที่กระชับ มีประสิทธิภาพ และขยายตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ด้านหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดวาดภาพระบายสี ด.ช.กันตพัฒน์ พันธ์ป้อม หรือ ‘ริโต้’ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี เล่าไปยิ้มไปว่า ตนชื่นชอบศิลปะอยู่แล้วและเริ่มเรียนวาดภาพตั้งแต่ป.2 เมื่อคุณครูประจำชั้นได้ชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม ตนก็สนใจสมัครเข้าร่วมทันที ซึ่งความตั้งใจแรกเริ่มของตนก็ตั้งใจเพื่อบอกเล่าถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าผ่านการวาดรูปที่ชื่นชอบ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เห็นเพื่อนวัยเดียวกันเริ่มสูบบุหรี่
น้องริโต้ ยังเล่าต่ออีกว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่เอารางวัลกลับบ้านไปให้คุณพ่อคุณแม่ และอยากให้มีกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ในปีต่อไป
ในขณะที่ ‘น้องหนึ่ง’ ด.ช. ติณภพ หยาง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนทรงวิทยาเทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ กับ ‘น้องโตโล่’ ด.ช. ธนทอง ฝันทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสันกลางวิทยา จ.เชียงราย 2 ตัวแทนจากผู้ได้รับรางวัลชนะการประกวดคลิป TikTok บอกคล้าย ๆ กันว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ เพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์ สิ่งสำคัญคือได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเรื่องพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมฝากทิ้งท้ายว่า ต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็นเมื่อโดนชักชวนให้ลองสูบ และถ้ารักเพื่อนก็ต้องรู้จักเตือนเพื่อนหรือคนรอบตัว เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งนั้น
ถึงวันนี้ ประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายในบริเวณวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก รวมทั้งห้ามมีการโฆษณาหรือการทำสื่อสารการตลาดที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ฯ พ.ศ. 2561
ในส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยยังคงมีกฎหมายห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและจัดจำหน่าย (Totally Ban) เช่นเดียวกับ อินเดีย ตุรกี สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง รวมทั้งมีการยกระดับมาตรการทั้ง กรณีการขายบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นด้วยได้
กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ
และใน กรณีเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ จึงมีความผิดตามมาตรา 42 ประกอบมาตรา 67 แห่งพระบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท