xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ลั่น ผิดเป็นผิด ไม่ยอมรับทุจริตทุกกรณี เดินหน้าตรวจสอบทุกโครงการไม่มีละเว้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสียงแข็งพร้อมสอบโกง ปม “ศูนย์กีฬาฯ กทม.” ลั่นผิดก็คือผิด รับปัญหาทุจริตฝังลึก จ่อเข้มเสนอโครงการ ยืนยัน กทม. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาเอง



กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจง กระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาฯ ภายหลังจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” โพสต์บทความหัวข้อ “กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเครื่องละ 4 แสน” ระบุว่า พบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงจริงภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ หลังจากที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้พัฒนา actai.co ระบบตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงการบริหารงานของ กทม. ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และฝ่ายสภา ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จะแบ่งเป็นขั้นตอน เรียกง่ายๆว่า 4+1 กล่าวคือ 1.ร่างข้อบัญญัติงบประมาณ 2.เข้าสภาเพื่อเป็นข้อบัญญัติ 3.เมื่อผ่านการเข้าสภาเพื่อตรวจสอบว่างบประมาณมีความเหมาะสมหรือไม่ตามกฎระเบียบต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็น พ.ร.บ. ในขั้นตอนนี้ 4. ขั้นตอนการตรวจรับงาน และขบวนการสุดท้าย ที่บวก 1 คือกระบวนการจากภาคประชาชนในการตรวจสอบ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ จะต้องร่วมกันทำอย่างจริงจังและเข้มข้น ในแต่ละขั้นตอนเราต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบในทุกๆขั้นตอน ลักษณะการปรับปรุงความเข้มงวดต่าง ๆ ต้องทำทั้ง 4 ขั้นตอน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าปัญหาการคอร์รัปชันยังมีอยู่ ไม่ได้หมดไป เรายังคงต้องเดินหน้าและปรับปรุงอยู่เสมอ เมื่อทราบเรื่องได้สั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ตรวจสอบทันที ซึ่ง ณ ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบว่ามีจุดไหนที่เกิดความผิดพลาดอย่างไร ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว เราเอาจริงเอาจังและไม่ยอมรับต่อการกระทำความผิด และจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อขยายผลต่อ

“กรุงเทพมหานครและรัฐบาลจะต้องร่วมมือกัน ในการปรับปรุงตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจัดซื้อจัดจ้าง และปรับปรุง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน นายศานนท์ กล่าวว่า การมีตาอยู่ไม่กี่ตา อาจทำให้การตรวจสอบไม่ละเอียดถี่ถ้วนเท่ากับการเพิ่มของประชาชนช่วยตรวจสอบ เรามีนโนบาย Open Bangkok ซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคม ในมิติเรื่อง Open Contracting ทำอย่างไรให้ทุกสัญญาที่มี เมื่อเข้าสภาแล้ว เราเปิดเผยข้อบัญญัติงบประมาณ เป็นส่วนแรกที่ประชาชน สามารถเข้ามาดูได้ในเว็บไซต์ กทม. ว่ามีโครงการอะไรบ้าง สำนักไหนบ้าง

นายศานนท์ กล่าวว่า ปี 2568 อยู่ในช่วงการจัดทำร่างข้อบัญญัติ ถ้าเสร็จแล้วจะเปิดเผยให้คนเข้ามาตรวจสอบได้ พอผ่านตัวร่างข้อบัญญัติเข้าสู่ขั้นตอน 3,4 เอาทุกโครงการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) กรมบัญชีกลาง ให้กรอกทุกโครงการ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ ให้ทุกโครงการสามารถตรวจสอบได้ โดยมีการใช้ AI ตรวจว่าถ้าราคาที่ผู้เสนอราคาอยู่ใกล้ราคากลางเกินไป ก็จะมีธงขึ้น ซึ่งปกติ 3-4 เจ้า หรือ ราคาต่ำไป 40% เพื่อเอางานก่อน ก็จะมีธงแจ้งเตือน

“ทั้งหมดผมคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจคือ การตรวจสอบของภาคประชาชน แล้วทำให้คนมีเจตนาไม่ดียากขึ้น” นายศานนท์กล่าว

นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.มีกระบวนการสอบเทียบราคา มีกระบวนการจัดทำ ร่างรายละเอียดขอบเขตของงานทั้งโครงการ (TOR) และประมูล สิ่งที่น่าสนใจใน Actai ถ้ากดเข้าไปในบริษัทที่ชนะ จะเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้สัญญามีตั้งแต่ปี 2565 เป็นปีที่เริ่มมาก่อนที่จะเข้ามากำหนดราคากลาง ที่เสนอมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นราคาที่สูงพอสมควร ประมาณกว่า 6 แสนบาท โดยในปี 2566 มีการจัดซื้อ และปี 2567 ได้ออกข่าวออกไป

ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า ตนนั้นมาในฐานะภาคประชาชน ช่วยติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ กทม. ว่าการติดตามการทำงานของภาครัฐทำได้อย่างไร ประชาชาชนต้องทำอย่างไร

“สิ่งที่สำคัญคือ ประชาชนต้องมีข้อมูล ถ้าประชาชนมีข้อมูล เราจะรู้ว่าโครงการราคาแพงเกินไปหรือไม่ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น กทม. ปปช. ปปท. และ สตง. สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์กล่าว

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า เว็บไซต์ actai สามารถหาข้อมูลได้เลย โดยข้อมูลเป็นทางการ เพราะเอามาจากระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) กรมบัญชีกลาง ดึงมาเชื่อมกับข้อมูลนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมดูผู้เสนอราคา ผู้ถือหุ้น หรือคณะบริษัท ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2558-2567 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 36 ล้านโครงการ โครงการที่ผ่านกรมบัญชีกลาง ระบบ e-GP โดยงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถส่งเรื่องไป กทม. ไปหน่วยงานร้องเรียน เพื่อตรวจสรอบต่อได้

“ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือให้ประชาชน มีสิทธิสร้างความเปลี่ยนแปลงเพราะ การแก้ไขปัญหา และป้องกันคอรัปชั่นที่ดีที่สุดคือประชาชน” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์กล่าว

รองปลัดฯ สมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างว่า เบื้องต้นที่ได้ทำการตรวจสอบ โครงการได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการ e-bidding เป็นการซื้อโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน สำหรับการกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาขึ้นมาเอง โดยให้คณะกรรมการสืบราคาจากท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ มีความมั่นคง มีมาตรฐานที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ทิ้งงานและไม่ทิ้งการให้บริการหลังการขายและของต้องมีคุณภาพ ในการนี้เป็นบริษัทที่จำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย โดยภายหลังกระบวนการสืบราคา จะใช้ราคาลางตามระเบียบกฎหมายกำหนด

“ขอยืนยันว่าหากตรวจสอบและพบการกระทำผิด หรือการทุจริตจริง กรุงเทพมหานครจะดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ละเว้น ทั้งนี้ ขอเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์มากที่สุด” รองปลัดฯ สมบูรณ์ กล่าวในตอนท้าย






































กำลังโหลดความคิดเห็น