เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต” Medical Sciences Innovations : From Lab to Life ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยจัดให้มีการประกวดผลงานรางวัล DMSc Award เปิดโอกาสให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยมีเวทีส่งผลงานเข้าประกวด โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารีทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 32 และพระราชทานรางวัลดังกล่าว
สำหรับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล DMSc Award ในปีนี้ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ผลงานเรื่องThe Pilot Study of Immunogenicity and Adverse Events of a COVID-19 Vaccine Regimen : Priming with inactivated Whole SARS-CoV-2 Vaccine (CoronaVac)and Boosting with the Adenoviral Vector (ChAdOx1 nCov-19) Vaccine โดย ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เป็นการนำข้อมูลจากงานวิจัยวัคซีนโควิด 19 ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนที่มีจำนวนจำกัดในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงระบาดของสายพันธุ์เดลตาและโอไมครอนให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการได้รับวัคซีน CoronaVac 2 เข็มและกระตุ้นด้วย ChAdOx1 nCov-19ให้ประสิทธิผลถึง 86% สูงกว่าการได้รับวัคซีน ChAdOx1 nCov-19สองเข็ม และการได้รับวัคซีน CoronaVac 2 เข็ม ประกอบกับข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่ามีประชาชนไทยที่ได้ประโยชน์จากข้อมูลงานวิจัยนี้ โดยการฉีดวัคซีนสูตรนี้กว่า 13 ล้านคน
ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานที่ได้รับรางวัล คือเรื่อง“ประสาทวิทยาคลินิกพื้นฐานและการตรวจร่างกายทางระบบประสาท” (Basic Clinical Neurology and Neurological Examination) โดย รศ.พญ.จิราพร จิตประไพกุลศาล สาขาวิชาประสาทวิทยาภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นตำราที่นำเสนอเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับระบบประสาท ได้แก่ประสาทกายวิภาคและสรีรวิทยา อธิบายถึงโครงสร้าง หน้าที่และกลไกการทำงานของระบบประสาท โดยนำแนวทางการซักประวัติผู้ป่วยโรคระบบประสาทอย่างละเอียด เทคนิคการซักประวัติที่ช่วยดึงข้อมูลสำคัญนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่นยำ โดยมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหาแต่ละส่วน เหมาะกับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาท
ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่การพัฒนาระบบบริการชั้นเลิศการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคเครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์(Development of the Best Service of Expanded newbornScreening in Srinagarind Hospital Network) โดย ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ยงานห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นศูนย์ตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดและศูนย์โรคหายากให้บริการแบบครบวงจรเพียงแห่งเดียวในส่วนภูมิภาค จึงได้มีการพัฒนาระบบบริการและโปรแกรม KKU-IEM web ซึ่งเป็น online web-based เพื่อใช้รับส่งต่อข้อมูลทารกแรกเกิดและรายงานผลการตรวจให้ผู้ใช้งานปฏิบัติงานได้ง่าย ติดตามสถานะสิ่งส่งตรวจได้แบบ Real-time โดยหลังเริ่มดำเนินการได้เพียง 2 เดือนแรก มีโรงพยาบาลเครือข่ายเข้าร่วมสูงถึง 76% และสูงขึ้นเป็น 97.2% หลังดำเนินการครบ 1 ปี สามารถเพิ่มอัตรารอดชีวิตและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคหายากลง
“ทั้งนี้ขอเชิญผู้สนใจรับฟังการบรรยายจากผู้ได้รับรางวัล DMSc Award ทั้ง 3 ท่าน ได้ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 32 “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต” Medical Sciences Innovations: From lab to life ในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชมได้ที่เพจเฟสบุคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” นอกจากนี้ภายในงาน ยังมี การบรรยายจากวิทยากรชาวไทยและชาวต่างชาติ การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ นิทรรศการแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์ และบริการให้คำปรึกษา จากเครือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี (เข้าร่วมงานฟรี) นายแพทย์ยงยศ กล่าว