วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 WHO เตือนภัย เด็ก 13-15 ปีทั่วโลก ติดบุหรี่กว่า 37 ล้านคน ทันตแพทย์ห่วงบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก ชี้คนสูบบุหรี่เสี่ยงสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า เสี่ยงป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า สูญเสียปีสุขภาวะ 2.8 ล้านปี เร่งสานพลัง สสส. และ สพฐ. รณรงค์ “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” ป้องกันนักสูบหน้าใหม่
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” หวังกระตุ้นเยาวชนให้กล้าปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อถูกชักชวน
ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การศึกษาระยะยาวพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีการสูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ จึงเชิญชวนเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกนี้ ขอให้ประชาชนเลิกผลิตภัณฑ์นิโคตินทุกชนิด เพราะเป็นสารเสพติดที่มีผลต่อทั่วร่างกายโดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และหลอดเลือด และมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโรคซึมเศร้า เพื่อการมีสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายโดยรวมที่ดี ซึ่งจากการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่นๆ
“ขณะนี้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดในเด็กระดับประถมศึกษา เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดของผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเด็กและเยาวชน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันสวยงาม มีการแต่งกลิ่นดึงดูดใจ เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ภายใต้คำขวัญ ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า วิชาชีพทันตแพทย์ และภาคีเครือข่าย จึงขอให้รัฐบาลได้คำนึงถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยคงกฎหมายห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและจัดจำหน่าย (Totally Ban) เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อไป” ทพ.อดิเรก กล่าว
ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์ พบว่าไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก จุลินทรีย์ดีลดลง เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ Streptococcus mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 2,817,347 ปี คิดเป็น 14.6% ของการสูญเสียทั้งหมด และเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทย 15.6% โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 26.1% ที่น่าห่วงคือ การแพร่ระบาดของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมากขึ้นในเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) พบเด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า
"สสส. สนับสนุนกลไกเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนทางนโยบาย/มาตรการควบคุมยาสูบ หนุนเสริมระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างกระแสทางสังคมและความรอบรู้ด้านการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 พบว่าประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจ ของ สสส. ที่ต้องการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การเริ่มสูบบุหรี่ในเด็กจะทำให้เสพติดและเลิกได้ยากมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช่องปาก สุขภาพร่างกาย และสติปัญญา ทันตบุคลากรจึงให้ความสำคัญการป้องกันผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าร่วมโครงการได้ 51.32% จากผู้สูบ 26,109 ราย และมีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 1,272 ราย คิดเป็น 9.5% ขอขอบคุณ สสส. สนับสนุนกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม และการรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตลอด ทั้งนี้วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดโครงงานดีเด่น เรื่องกิจกรรมเสริมหลักสูตรทักษะการปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีผู้ได้รับรางวัล 13 รางวัล จากผลงานทั้งหมด 80 โรงเรียน และการประกวดวาดภาพระบายสี และจัดทำคลิปวิดีโอ TikTok ในหัวข้อ “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” มีผู้ได้รับรางวัลประเภทละ 15 รางวัล
ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดยมีภารกิจสำคัญในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งค้นหานวัตกรรมการใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และสร้างค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้อง ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตลอดจนส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดทุกระดับนำมาตรการในการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ไปดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป ทั้งนี้ สพฐ. มีความห่วงใยต่อปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาวจึงได้ร่วมกับโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ทั้งด้านวิชาการ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักการปฏิเสธบุหรี่มวนแรก มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และป้องกันปัญหาการเสพติดในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน