ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล
ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2565 มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการจำนวน 2,474,769 คน และในปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.44 ของประชากรไทย โดยมีเพียงร้อยละ 38.75 ที่เข้าถึงการรักษา และยังมีผู้ป่วยอีกร้อยละ 61.25 ที่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ตัวผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม รวมถึงการทำงานได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่มีการแข่งขัน ความเร่งรีบ ความเครียด ปัญหาทางสังคม และปัญหาด้านยาเสพติด ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคจิตเวช โดยโรคจิตเวช คือความเจ็บป่วยทางจิต เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ซึ่งบางรายป่วยเป็นโรคจิตเวชโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเวช เพื่อที่จะได้สังเกตตนเอง และสังเกตคนรอบข้างว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีปัญหาทางจิตหรือไม่ โดยโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในประเทศไทย มีดังนี้
โรคซึมเศร้า (Depression) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติในสมอง ระดับของสารเคมีไม่สมดุล เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ การใช้ยาบางรักษาโรคบางชนิด หรือเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการ มีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อ หมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมาก เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ไม่มีสมาธิหรือลังเลใจไปหมด พูดช้า ทำอะไรช้าลงหรือกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง อาจมีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาการเข้าสังคม มีความคิดทำร้ายตนเอง เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หากพบว่ามีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ หากมารับการรักษาเร็ว อาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่ การให้ยาแก้เศร้า เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง โดยผู้ป่วยที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และการพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหา เข้าใจตนเอง นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าการรับประทานยา
โรคจิตเภท (Schizophrenia) พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ในอายุ 15-35 ปี เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้ความคิด การรับรู้ และพฤติกรรมผิดแปลกไปและไม่ตรงกับความเป็นจริง ประสาทหลอน ความคิดหลงผิด หูแว่ว ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ โดยโรคจิตเภทนั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากมีประวัติพ่อหรือแม่ป่วย ลูกจะเสี่ยงเป็นโรคนี้ถึง ร้อยละ 13 โรคมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ดำเนินไปอย่างเรื้อรัง บางรายมีอาการออกมาทีละอาการ และอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิต วิธีการรักษา การใช้ยาช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับมาทำงานอย่างสมดุล ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เนื่องจากยาจะช่วยควบคุมอาการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดูแลรักษาด้านจิตใจ การยอมรับจากคนในครอบครัว หลีกเลี่ยงใช้คำพูดที่รุนแรง เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยกำเริบ ช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อาการดีขึ้นและสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
โรควิตกกังวล (Anxiety) เป็นโรคทางจิตใจที่พบได้บ่อย เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ความกดดันทางสังคม ทั้งจากการเรียน การทำงาน เพื่อน คนรอบข้าง การเจอเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึก อารมณ์ การมีความเครียดสะสม พันธุกรรม และสารเคมีในสมองขาดความสมดุล ส่งผลให้การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ผิดปกติ เกิดเป็นอาการที่แสดงออกทางร่างกายจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในหลายๆ สถานการณ์ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในท้ายที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการวิตกกังวลรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาการของโรควิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ อาทิ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ใจสั่น มือสั่น คลื่นไส้ ปากแห้ง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึงเกร็ง มือเท้าเย็น เหงื่อออก นอนไม่หลับ อ่อนล้า เหนื่อยง่าย ใจลอย ไม่มีสมาธิ วิธีการรักษา คือ การรักษาด้วยยาเพื่อลดอาการวิตกกังวล การพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจและให้คำอธิบาย การทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) โดยการปรับความคิดที่เป็นปัญหาจนส่งผลต่อสภาวะอารมณ์และร่างกาย หากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด จะช่วยลดความรุนแรงของโรควิตกกังวล และช่วยป้องกันการเกิดอาการซ้ำ
โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด (Substance Induced Mental Illness) ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากในปัจจุบันคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด คือภาวะที่เกิดจากการได้รับสารเสพติดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากยาเสพติดแต่ละชนิดนั้น มักออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้เสพเกิดอาการประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ขาดสติ หวาดระแวงกลัวคนจะมาทำร้าย ไม่สามารถควบคุมตัวเอง อาจจะรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นโดยสารเสพติดสามารถแบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทได้ 4 ประเภท คือ ประเภทออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้สมองมึนงง ง่วงซึม พูดจาวกไปวนมา อารมณ์ดี อาการเหม่อลอย เซื่องซึม จิตใจเลื่อนลอย ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย ประเภทออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เกิดอาการ ตื่นเต้นตลอดเวลา ไม่รู้สึกง่วงนอน มีพลัง ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม ประเภทออกฤทธิ์หลอนประสาท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนเห็นภาพลวงตา หูแว่ว อารมณ์แปรปรวน ความคิดสับสน ได้แก่ LSD เหล้าแห้ง เห็ดขี้ควาย ประเภทออกฤทธิ์กดประสาทและหลอนประสาท ทำให้เกิดอาการกดกระตุ้น และหลอนประสาทในเวลาเดียวกัน ได้แก่ กัญชา วิธีการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับยาเพื่อควบคุมอาการของโรค และการเข้ารับการบำบัดการติดสารเสพติดอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับยา ซึ่งจะช่วยให้อาการทางจิตหายไป แต่หากใช้สารเสพติดไปเป็นระยะเวลานาน ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา บางรายอาจกลายเป็นโรคจิตหวาดระแวงถาวร เพราะการใช้สารเสพติดในปริมาณมาก ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะไปทำลายเซลล์ประสาทแบบถาวร ดังนั้นต้องรีบเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ให้มีการทำลายเซลล์ประสาทมากขึ้น เพราะหากไม่รักษาแล้วใช้สารเสพติดเรื้อรัง สุดท้ายกลายเป็นโรคจิตถาวรได้
โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder) หรือโรคไบโพลาร์ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ปัจจุบันเชื่อว่าโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ พันธุกรรม ซึ่งที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว มีโอกาสเป็นโรคสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3- 4 เท่า นอกจากนี้ อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และจากสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้โรคแสดงอาการ รวมถึงเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใด ๆ ในช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายอาจมีความคิดอยากตาย ส่วนช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการ คือ รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก นอนน้อยกว่าปกติมาก พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด ความคิดแล่นเร็ว สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูดอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริง ๆ การตัดสินใจเสีย ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย หรือไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ โดยอารมณ์ทั้ง 2 ขั้วนี้ จะเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา มีระยะเวลาติดต่อกันหลายสัปดาห์ ส่งผลกระทบให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ ผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยจะต้องมีวินัยในการรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อปรับอารมณ์ให้คงที่ และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ หากขาดการรักษาอาจมีโอกาสกลับไปเป็นโรคซ้ำ และอาจมีความรุนแรงกว่าเดิม
ท้ายที่สุดนี้ โรคจิตเวชก็คืออาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง สามารถรักษาให้หาย หรือควบคุมอาการได้ สิ่งสำคัญคือคนในครอบครัวและคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดกล่าวหาว่าเขาผิดปกติ เปิดใจยอมรับว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจแสดงอาการออกมาเช่นนั้น แต่เป็นเพราะความเจ็บป่วยและอาการของโรค ครอบครัวและคนรอบข้างควรให้กำลังใจ สังเกตอาการ และดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติในสังคมได้