ปัญหาวุ่นๆ เกี่ยวกับการจัดพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(องค์การค้าของ สกสค.)ปีการศึกษา2567 ยังคงคาราคาซังต่อเนื่อง
ล่าสุดมีความเห็นจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ออกมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขัดกับกฎหมาย
ในเรื่องนี้ นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์(1977) ในฐานะที่ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับเรื่องนี้ เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน จะไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตามระเบียบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 220 ไว้พิจารณา เนื่องจากไม่ได้อุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นว่าการที่สกสค.กำหนดเงื่อนไขในTOR เป็นการกีดการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การที่สกสค.กำหนดในTORข้อ 8.1 ว่า "การยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17" ข้อ 8.2 กำหนดว่า "การที่ยื่นเสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่มตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น" และ ข้อ 16.2 กำหนดว่า "ผู้ว่าจ้างจะต้องจะพิจารณาราคาต่อรายการ" ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกีดกันการเสนอราคาทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
“เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผมเคยทำหนังสือร้องเรียนไปยัง พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียนปีการศึกษา 2567 ขององค์การค้าของสกสค. โดยวิธีการคัดเลือกตามทีโออาร์ซึ่งบริษัทรุ่งศิลป์เห็นว่าการจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือกดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและสอบไปในทางทุจริตหรือไม่ไปแล้ว "นายนัทธพลพงศ์ กล่าวสรุป