ความจริงที่ว่า คนไทย 1 ใน 3 หรือคิดเป็นตัวเลขกว่า 22 ล้านคนมี “หนี้” และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2561 เป็น 37% ในปี 2565 โดยมีโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งในจำนวนนี้ 57% มีหนี้เกิน 100,000 บาท และอีก 14% มีหนี้เกิน 1 ล้านบาท
แต่ถ้าหากดูเพียงตัวเลขดังกล่าว คงน่ากังวลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมล่าสุดที่พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทยยังสูงติดอันดับ 7 ของโลก เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่เกาหลีใต้และฮ่องกง
โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว
แล้วคนไทยใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง? จากภาพรวมมาสู่การเจาะลึกสถานการณ์หนี้ของคนไทยผ่านข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติ การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ชี้ให้เห็นว่า รายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทย ปี 2564 หมดไปกับค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคมากที่สุด คิดเป็น 87% (18,802 บาท) จากรายจ่ายทั้งหมดซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 21,616 บาท โดยรายจ่ายสูงสุด คือ อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ คิดเป็น 35.5%
ที่น่าสนใจคือ ครอบครัวที่ยากจนกว่า 3 ล้านคนใช้เงินร้อยละ 21.5 ของรายได้ไปกับการสูบบุหรี่ และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเหล้าสูงกว่าคนรวยถึง 6 เท่า อีกประเด็นที่น่ากังวลคือตัวเลขผู้ติดหนี้พนันก็สูงขึ้นตามไปด้วยราว ๆ 1.6 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน จากปี 2564 ซึ่งคาดว่า มูลค่าหนี้สินรวมอาจมากถึง 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน
นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ต้องเร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจังด้วยมาตรการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ” ต่อยอดงานขับเคลื่อนด้านสุขภาวะคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศอย่างหนี้ครัวเรือน โดยเริ่มเดินหน้าให้เห็นแล้วที่นี่ “อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี”
ลดเหล้า ลดบุหรี่ ลดหวย = ลดหนี้ ?
“ปัญหาหนี้สินครัวเรือนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างมาก ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนสูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและเร่งวางแนวทางการแก้ไขโดยด่วน โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ มาตรการ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ’ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. โดยความเห็นของคณะกรรมการกองทุนมีมติร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) พัฒนาแนวทางจัดการหนี้ครัวเรือนขึ้น”
“โดยเริ่มจากการ ลดรายจ่าย ที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะเหล้าบุหรี่ การจัดทำบัญชีครัวเรือน ไปจนถึงการเสริมความรู้ทางการเงิน เช่น การออม การสร้างอาชีพ ส่งเสริมการผลิตและใช้เอง”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 ยกตัวอย่างการลดรายจ่ายง่าย ๆ ให้ฟังว่า หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า สูบบุหรี่จะทำให้จนได้อย่างไร ต้องบอกว่า บุหรี่ 1 ซองราคาประมาณ 100 บาท หนึ่งปีมี 365 วัน รวมเป็นเงินทั้งหมด 36,500 บาท ซึ่งนี่คือเงินในส่วน 21.5% ที่คนจนต้องเสียไปกับค่าบุหรี่ ดังนั้น เพื่อลดรายจ่ายจากการสูบบุหรี่ จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยใช้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการสูบบุหรี่ในระยะยาว
“ดีใจและยินดีที่รับทราบถึงความสำเร็จของมาตรการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพที่ทาง สสส. และ สทบ. ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ. เพชรบุรี ผมคิดว่า ผลงานชิ้นนี้จะเป็นผลงานที่ช่วยทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยหลุดพ้นจากความยากจน มันไม่ใช่ทำปีเดียวให้มันจบ แต่ว่าให้เราซึมซับความรู้และขุมทรัพย์แห่งประสบการณ์นี้ไว้”
“เพราะสุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจคน เข้าใจปัญหา มันแก้ได้” นายสมศักดิ์ เอ่ยขึ้น
และกล่าวทิ้งท้ายต่อว่า ทั้งนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างกระบวนการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในพื้นที่ จ. เพชรบุรีจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการบริโภคเหล้า บุหรี่ และปัจจัยเสี่ยง เดินหน้าไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพตนเอง ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนไปจนถึงระดับประเทศให้ดีต่อไป
ในส่วน นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงบทบาทของ สสส. ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ไว้ว่า มาตรการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาและลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนโดยเฉพาะประชาชนรายย่อย ภายใต้กรอบแนวคิดการดำเนินงาน “ลดรายจ่ายครัวเรือน เลิกเหล้า เลิกบุหรี่”
โดย สสส. มีต้นทุนในการทำงานพื้นที่ สามารถเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ สทบ. ได้แก่ 1. พื้นที่ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ อาทิ เครือข่ายชุมชนปลอดเหล้า/บุหรี่ เครือข่ายตำบลสุขภาวะ 2. ทีมวิชาการที่จะเข้าไปเสริมพลังการเรียนรู้และพัฒนาในพื้นที่ และ 3. ชุดความรู้ที่จะนำไปต่อยอดสร้างโมเดลงดเหล้า แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน
นอกจากนี้ สสส. ยังมีงานด้านขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องเล่าบุหรี่และการพนัน อาทิ ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ โครงการ “คนหัวใจเพชร” ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา นำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เฉพาะปี 2565 มีชุมชนที่เข้าร่วม 461 ชุมชน มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบแสนคน ซึ่งสามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท ลดการพนัน เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม ในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 150 โรงเรียน นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดรายจ่าย มีพื้นที่นำร่อง 9 จังหวัดผ่านระบบการสื่อสารในชุมชน การสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย สวนผักชุมชน ลดรายจ่าย สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน รวมถึงการจัดการขยะอินทรีย์
ทั้งนี้ รองผู้จัดการกองทุน สสส. ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนและกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ โดยคนพื้นที่เอง เพื่อพัฒนาให้เกิดกระบวนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบและมีกลไก สามารถเดินหน้าสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้ในที่สุด
โดยในก้าวต่อไป สสส. มีเป้าหมายการขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องระดับตำบลไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ
หนองหญ้าปล้อง ถือเป็นพื้นที่ดำเนินการอำเภอบูรณาการเข้มข้นแห่งแรกของ จ.เพชรบุรี ผ่านทุนองค์ความรู้และเครื่องมือจาก สสส. และภาคีเครือข่าย ครอบคลุมปัจจัยพื้นฐาน เริ่มที่โครงการ “ชวน ช่วย เชียร์ เลิกเหล้า เลิกจน” กระบวนการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยชมรมคนหัวใจเพชร กลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชรและชุมชนสุขปลอดเหล้า
โดยมีคนอาสา ‘ชวน’ คนในครอบครัว ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ‘ช่วย’ ผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าเข้าสู่ระบบการรักษา ‘เชียร์’ ติดตาม ให้กำลังใจ ผู้ที่เข้าสู่ระบบการรักษา อาศัยช่วงเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษา
ขณะนี้ “คนงดเหล้าเข้าพรรษา” ในของภาคตะวันตกมีการขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงกว่า 8 จังหวัด มีจำนวนชุมชนคนสู้เหล้าที่ขับเคลื่อนทั้งหมด 80 ชุมชน และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อช่วงงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2566 ตลอด 3 เดือนมีคนเข้าร่วมโครงการมากถึง 1,521 คน สามารถประหยัดรายจ่ายได้ประมาณ 7 ล้านกว่าบาท
ทั้งนี้ มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 218 ร้านจาก 80 ชุมชน
“ลดเหล้า ปลดหนี้ ชีวิตดีที่ดงตากิจ” เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2557 โดยใช้หลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านด้วยหลักการสำคัญ จากการสำรวจสภาพปัญหาหนี้สินครัวเรือนของชุมชนบ้านดงตากิจระดับครัวเรือนเป็นหนี้สินในหมู่บ้านหลากหลายกองทุนสัญญาจึงได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์จัดการหนี้ในชุมชน 1 ครัวเรือน 1 สัญญา พัฒนาเครื่องมือบัญชีครัวเรือน จัดการเรื่องรายรับ รายจ่าย และการออม ส่งผลให้เห็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยเฉพาะด้านปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ โดยมีกองทุนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนคนเลิกเหล้าและครอบครัว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างความมั่นคงของชีวิตด้วยการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ด้วยเกษตรผสมผสาน หารายได้เสริมจากการขายน้ำหมักชีวภาพ ฝรั่งกิมจู กาแฟโรบัสต้า กลุ่มจักสาน ตุ๊กตาเรซิน
ปัจจุบันบ้านดงตากิจสามารถดำเนินงานจนลดหนี้จากทั้งหมด 149 ครัวเรือน เหลือเพียง 38 ครัวเรือนเท่านั้นที่ยังเป็นหนี้อยู่
“เครือข่ายประชาคมงดเหล้า จ.เพชรบุรี ขับเคลื่อนผ่านทีมอาสาเครือข่ายชมรมคนหัวใจเพชร และแกนนำชุมชนคนสู้เหล้า จำนวน 15 ชุมชน เน้นงานชวน ช่วย ชมเชียร์ คนเลิกเหล้า และออมเงิน ฟื้นฟู ผู้ติดสุรา ส่งเสริมให้ลดรายจ่ายสร้างรายได้ รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าในงานบุญ งานศพ และงดเหล้าตลอดทั้งปี ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือสามารถลดรายจ่ายการจัดงานจาก 63,000 บาท หลังเข้าร่วมโครงการ เหลือ 13,500 บาท เหลือเงินออมได้ถึง 49,500 บาท นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกองทุนเจ้าภาพ และสวัสดิการ สนับสนุนเจ้าภาพงานเลี้ยงปลอดเหล้าจากกองทุนชุมชน เจ้าภาพละ 1,000 บาท และสนับสนุนทุนตั้งต้นเพื่อพัฒนา” ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สรุปภาพรวมการทำงานในพื้นที่
และเสริมด้วยข้อมูลว่า ในทุก ๆ ปี อาจจะนึกไม่ถึงว่า คนไทยกินเหล้าปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่นับความสูญเสียที่ตามมา โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ HITAP (ไฮแทป) คำนวณว่า จะมีความสูญเสียตามมาอีก 1.7 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เพียง 1.5 แสนล้าน นั่นแปลว่า เราเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ตามที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคำนวณอย่างละเอียดว่า ช่วงเข้าพรรษาไม่ใช่มีเพียงค่าเหล้าเท่านั้น แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่ตามมาด้วย และคำนวณได้ถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่ง ภก.สงกรานต์ ในฐานะคนที่ขับเคลื่อนงานด้านปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 20 ปี กล่าวด้วยความพอใจว่า จากตัวเลขดังกล่าวนั่นหมายความว่า ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินในช่วงเข้าพรรษามากถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่งผมมองว่า มันคุ้มค่าต่อการรณรงค์
ต่อมาที่โครงการ “เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม” ที่หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการพนันและหวย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน โดย สสส. ใช้เครื่องมือสองตัวหลัก ซึ่งถูกออกแบบโดยใช้หลัก Active Learning ได้แก่ หลักสูตรลอตเตอรี่ศึกษา หลักสูตรการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับครอบครัวและกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการเล่นหวย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ‘รู้เท่าทันความหวัง’ การทำความเข้าใจว่า โอกาสที่หวยจะทำให้รวยมีน้อยมาก ‘รู้เท่าทันความเชื่อ’ การทำลายความเชื่อที่ผิด ๆ อย่างการเชื่อว่า การถูกหวยเป็นเรื่องง่าย ถ้าครั้งนี้เฉียด ครั้งหน้าจะถูกแน่นอน และ ‘รู้เท่าทันความจริง’ ยอมรับความจริงว่า โอกาสถูกหวยมีเพียงแค่ 1 ในล้านเท่านั้น
หลักสูตรพี่เลี้ยงการเงิน มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวบ้านอย่างยั่งยืน โดยมีการติดตามผลและเสริมแรงจากพี่เลี้ยงในท้องถิ่น โดยแบ่งเป็นเครื่องมือ 3 ชิ้นสำคัญ ได้แก่ 1.ตรวจเช็คพฤติกรรมรายจ่ายประจำเดือน หรือการทำบัญชีรับจ่ายประจำเดือน 2.ตรวจเช็คสุขภาพการเงินรายปี เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานะการทางการเงินแบบภาพรวม ที่สำคัญ 3.ความรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้และหลักการปิดหนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านถึงประเภทของดอกเบี้ยจากหนี้ที่เป็นอยู่ และรู้วิธีการปิดหนี้ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดการหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เล่าต่อว่า ปัจจุบันมีการนำร่องพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา ลำปาง เลย กาฬสินธุ์ สุรินท์ อุบลราชธานี สระบุรี และพัทลุง พร้อมเตรียมขยายผลไปสู่ผู้ใช้งานจริงและเดินหน้าผลักดันสู่นโยบาย
“หวยมีความยากตรงที่ว่า มันอยู่กับสังคมไทยมานานและชาวบ้านก็เคยชินแบบนั้น การเอาชนะพฤติกรรมและความเคยชินไม่ใช่เรื่องง่าย” นายธนากร อธิบายต่อว่า มันจึงต้องมีกระบวนการของการสร้างความเคยชินใหม่ สิ่งสำคัญคือสภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลิกเล่นหวยและพนัน เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกมากมายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ดังนั้น พลังของชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ตัวอย่างเช่น การมีพี่เลี้ยงการเงินที่ช่วยเสริมสร้างพลังชุมชน หรือบางชุมชนที่แข็งแรงจนมีกติการ่วมกัน เพราะเชื่อได้ว่า การพึ่งพาตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้แข็งแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการสนับสนุนจากชุมชนร่วมด้วย
ถึงตรงนี้ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ชูอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลเมื่อพบว่า คนไทยเริ่มเล่นพนันเร็วขึ้นทุกปี โดยจากการสำรวจทุก ๆ 2 ปี พบเด็กไทยอายุน้อยสุดที่เริ่มเล่นพนันคืออายุเพียง 6 ขวบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีพนันหลากหลายรูปแบบที่ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย และบางครั้งเด็กก็ไม่รู้ว่า ตนเองกำลังเล่นพนันอยู่
“พนันออนไลน์ทำให้เด็กเข้าถึงพนันได้ง่ายขึ้น เล่นเร็ว รู้ผลเร็ว เล่นได้ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น บางทีคนไม่ค่อยรู้ว่า พนันมันเป็นสิ่งเสพติด ทำให้เกิดการเสพติดทางสมอง สมองคุ้นเคย สมองปรับตัวไปแล้ว พอไม่ได้เล่นมันจะเกิดอาการเหมือนขาดยา เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งเด็กเล็กไปเล่น สมองส่วนยับยั้งชั่งใจเขายังไม่พัฒนาและทำงานได้น้อย ความยับยั้งชั่งใจจะต่ำไปจนถึงสูญเสียตัดสินใจทั้งในเรื่องพนันและเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน” นายธนากร กล่าว
“แผนเศรษฐกิจชุมชนและแผนปลดหนี้ครัวเรือน” จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 4 แห่ง ประกอบด้วย ตำบลท่าคอย ตำบลวังจันทร์ ตำบลถ้ำรงค์ และตำบลหนองหญ้าปล้อง โดยท้องถิ่นมีการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และผลักดันเพื่อให้ชุมชนเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งแต่การจัดสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกสมาคมพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย อดีตนายก อบต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี หนึ่งในตำบลสุขภาวะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อปท.ใน จ.เพชรบุรี มีจำนวน 84 แห่ง ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 55 แห่ง กระจายทั้ง 8 อำเภอ คิดเป็น 65.5% ทำงานร่วมกับแผนสุขภาวะชุมชน สสส. ดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ด้วยแผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนปลดหนี้ครัวเรือน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน นำผลผลิตท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า เช่น กลุ่มต้นตาลประดิษฐ์ กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากใบตาล หมู่บ้านจัดการตนเองด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และผลักดันกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ โดยมีทุนหมุนเวียนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ให้สมาชิกสามารถกู้ยืมไปประกอบอาชีพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญอื่น ๆ อีก อาทิ “เพชรบุรี…ดีจัง” ร่วมสร้างทักษะชีวิต ภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเชาวชนผ่านพื้นที่เล่นและพื้นที่เรียนรู้ ทั้ง ‘เขาวังเคเบิลคาร์’ เปลี่ยนจากกุฏิสงฆ์เก่าให้เป็น ‘หอศิลป์สุวรรณาราม’ ที่ตั้งอยู่ในวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ‘ถนนพานิชเจริญ’ ย่านสร้างสรรค์ของเมืองเพชรบุรีที่เปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ มีกิจกรรมมให้เด็กและเยาวชนได้ทำแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย “สวนผักคนเมือง” ต้นแบบของการทำเกษตรในเมืองเพื่อลดค่าใช้จ่าย สร้างการเข้าถึงอาหารสุขภาพ ซึ่งความท้าทายในปัจจุบันคือค่าครองชีพ โดยเฉพาะเรื่องอาหารของคนเมืองสูงมาก ในครัวเรือนปกติอยู่ที่ 35% ของค่าใช้จ่ายทั่วไป ในขณะที่ประชาชนที่มีรายได้น้อยอาจจะสูงถึง 50% และเพื่ออาหารสุขภาพ คนเมืองอาจจะต้องจ่ายสูงถึง 136 บาท/วัน
“ตำบลต้นมะม่วง” พื้นที่ต้นแบบเลิกเหล้าแบบเข้มข้น
“สสส. ทำงานเรื่องเหล้ามาตั้งแต่ปี 2546 เริ่มจาก ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ แล้วก็พัฒนานวัตกรรมมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้น ‘ชวน ช่วย ชม เชียร์’ เพื่อนำไปสู่การเลิกเหล้า ลดค่าใช้จ่ายแล้วก็ทำให้ชุมชนครอบครัวที่เข้ามาร่วมในการงดเหล้าเข้าพรรษาได้ใช้กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ต้องบอกตามตรงว่า กินเหล้าครั้งหนึ่งมันไม่ใช่มีแค่ค่าเหล้าอย่างเดียว มันมีค่าขนม มีค่ามิกเซอร์ กับแกล้มหรือถ้าผนวกกับงานใหญ่ ๆ งานบุญ งานแต่ง งานวันเกิดหรืองานบวช ยิ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น”
“หลัก ๆ ตอนนี้ สสส. มีการทำงานร่วมกันประมาณ 15 ชุมชนที่เข้ามาทำอย่างจริงจังและเขานำไปต่อยอด ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้วก็ต้องคิดในส่วนของการเพิ่มรายได้ด้วยการสร้างอาชีพให้แข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้น จากคนที่เคยดื่มเหล้าเป็นผู้ที่ไม่ได้มีคุณค่าในครอบครัวมากเท่าไหร่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองเลิกเหล้าขึ้นมาเป็นแกนนำหารายได้ให้กับครอบครัว อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ชุมชนเราสามารถมีรูปธรรมแล้วก็ขยายต่อไปได้”น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ “ตำบลต้นมะม่วง” พื้นที่ต้นแบบเลิกเหล้า ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้
ความน่าสนใจของที่นี่ ตามคำบอกเล่าของ น.ส.รุ่งอรุณ คือ ศักยภาพของชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกันคือ คนเพชรบุรีเป็นสุขด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง ด้วยศักยภาพการจัดการปัญหาอย่างมีระบบ การจัดการพื้นที่ให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ใหม่ที่เข้ามา เพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ของตนเอง
“ท้ายสุดสิ่งที่พยายามเกิดขึ้นมันทำให้พิสูจน์แล้วว่า เรามีชมรมคนหัวใจเพชรที่เลิกเหล้าตลอดชีวิตหรืออย่างน้อย 3 ปีเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งทุก ๆ เข้าพรรษาในทุกปี ปัจจุบัน สสส. มีแกนนำเข้มแข็งอยู่กว่า 1,010 ชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่า บทเรียนความสำเร็จเหล่านี้สามารถที่จะทำให้ชุมชนต่าง ๆ ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเข้ามาใช้วิธีการลดเหล้า ลดค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บเงินออมแล้วก็สามารถที่ส่งต่อสู่การสร้างรายได้ในอนาคตได้ด้วย”
“นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว สิ่งที่ตามมาจากปัญหาเหล้าก็คืออุบัติเหตุบนท้องถนน” ร.ต.ต.กนกศักดิ์ มุทธากาญจน์ นายก อบต.ต้นมะม่วง จ.เพชรบุรี ให้ความเห็นคล้าย ๆ กันว่า ตำบลต้นมะม่วง เดิมทีมีอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4-5 คน/ปี นอกจากนี้ยังมีเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่ม แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า รวมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นก็สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนตัวเลขเป็นศูนย์ ซึ่งนับว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีรณรงค์งดดื่มสุราในสถานที่ราชการ ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลและสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการซื้อขายแอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่กฎหมายกำหนด โดยองค์กรในพื้นที่จะมีการเข้าตรวจสอบร่วมกับสาธารณสุขเป็นประจำ
ส่วนความยั่งยืนในการจัดการของชุมชน ในฐานะเจ้าบ้าน นายก อบต.ต้นมะม่วง แนะนำว่า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้นำในพื้นที่ที่มีความเอาใจใส่ต่อปัญหาและคนในพื้นที่ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ ซึ่งผู้นำในพื้นที่ต้องเป็นผู้เสียสละ ทำให้คนในพื้นที่เชื่อมั่นและศรัทธา ซึ่งความร่วมมือต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่ว่า เราสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ได้ไหมและต้องทำอย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า แต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันอย่างตำบลต้นมะม่วง ข้อดีคือทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่
ด้านตัวอย่างความสำเร็จของอดีตทหารเรือ ที่เรียกตนเองว่า “ขี้เมาประจำบ้าน” นายภานุพงศ์ อยู่ยั่งยืน อายุ 56 ปี คนต้นแบบ ตำบลต้นมะม่วง จ.เพชรบุรี เล่าประสบการณ์เลิกเหล้าว่า ตนเริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 18 ปี จนตอนนี้อายุ 51 ปี ยิ่งช่วงเข้ารับราชการทหารยิ่งดื่มหนักด้วยความที่ผู้ชายอยู่รวมกัน นับเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ไม่เคยหยุดพัก หลังลาออกจากงานราชการมาทำการค้าก็ยังดื่มเหล้าเป็นประจำ ซึ่งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สคล. จ.เพชรบุรี เข้ามาพูดคุยพร้อมชักชวนเป็นแกนนำเลิกเหล้า ตนจึงตั้งใจเข้าร่วมเลิกเหล้าอย่างจริงจัง
“ตอนนั้นไม่คิดว่า จะเลิกเลย แค่คิดแค่ว่า ลองดูก่อนแล้วกัน” นายภานุพงศ์ เล่าต่อว่า ช่วงแรกของการเลิกเหล้า รู้สึกกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนแอ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แต่ตัดสินใจทำต่อเพราะตนมีแรงจูงใจนั่นก็คือครอบครัวและลูก
“จากที่ต้องจ่ายค่าเบียร์ทุกวัน วันละ 300 บาท ผมก็เอาเงินนั้นหยอดใส่กระปุกไว้ จากหนึ่งกระปุก เพิ่มขึ้นเป็นสอง สามกระปุก แต่ละวันที่เรามองดูเงินในกระปุกที่มันเพิ่มขึ้น ตรงนั้นแหละที่ทำให้เราภูมิใจ ดีกว่าเอาเงินไปละลายทิ้งกับแอลกอฮอล์ที่ทำร้ายทั้งตัวเองและครอบครัว”
“ผมตัดสินใจเลิกถาวร เลิกเด็ดขาดก็เพราะคำพูดของลูก ลูกบอกว่า พ่อหนูเป็นซูเปอร์แมน เขากลับบ้านแล้วไม่เห็นพ่อเมา ตรงนี้เรามองว่า มันยิ่งใหญ่มากเลยนะ พอนึกถึงคำพูดของลูก ผมก็คงไม่หวนกลับไปอีกแล้ว อีกอย่างในครอบครัวเราก็มีความสุขมากขึ้น จากที่ไม่เคยให้อะไรภรรยา วันนี้ผมสามารถที่จะทำบ้าน เปลี่ยนรถให้ภรรยา รวมทั้งให้เงินเดือนด้วย (หัวเราะ) แล้วก็ซื้อทองให้ตัวเองได้แล้ว”
นายภานุพงศ์ ส่งกำลังใจทิ้งท้ายว่า การเลิกดื่มเหล้าต้องเริ่มจากความตั้งใจ ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า ทำเพื่ออะไร ตนเชื่อว่า คนที่มีตั้งใจจริงต้องทำได้แน่นอน
วันนี้ “ตำบลต้นมะม่วง” ในช่วงโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมา นอกจากนายภานุพงศ์ ยังมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 22 คน สามารถงดเหล้าได้ครบพรรษา 3 เดือน และตั้งใจเลิกตลอดชีวิต 2 คน