“ปานเทพ” เผยอนุสัญญาเดี่ยวไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด เพียงแต่ให้มีการควบคุม ชี้ประเทศไทยควรออกกฎหมายควบคุมกัญชาโดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์กว่าให้กัญชาอยู่ใต้กฎหมายยาเสพติดแล้วใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดขั้นตอนยุ่งยาก และประชาชนกลับไปใช้กัญชาใต้ดินแบบเดิม จนเกิดปัญหา
วันนี้(18 พ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต
โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ว่า เมื่อวาน ในที่ประชุม อนุกรรมการด้าน กม.ยาเสพติด แหล่งข่าวแจ้งว่า “ตัวแทนทูตไทยในเวียนนา บอก Single convention ไม่ได้กำหนดให้จัดกัญชาเป็นยาเสพติด แต่ให้มีการควบคุม เช่น มีกฎหมายเฉพาะ มีองค์กร มีการติดตามรายงาน
“และไม่มีการระบุไว้ในที่ใดๆ เรื่อง การกำหนดระดับ THC ว่าต้องเป็นเท่าใด จึงจะจัดว่าเป็นกัญชา หรือกัญชง แต่ละประเทศจึงกำหนดแตกต่างกันไป”
ความเห็นส่วนตัว ตามเนื้อหาที่ปรากฏในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ประเทศไทยสามารถออกกฏหมายกัญชา กัญชงโดยเฉพาะได้ โดยไม่ต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดซึ่งมีอุปสรรคมากในการจ่ายยาให้คนไข้
เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกันในช่วงที่กัญชาเป็นยาเสพติดแล้วอ้างว่าใช้ทางการแพทย์ได้ คือ
1. แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายยากัญชาเพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่ยุ่งยากเกินไป เพิ่มภาระในสถานการณ์ที่แพทย์ขาดแคลนอยู่แล้ว
2. น้ำมันกัญชาที่รัฐผลิตทำขึ้นเหลือค้างประมาณครึ่งหนึ่งและหมดอายุไปโดยไม่จ่ายให้คนไข้ เปลืองงบประมาณอย่างมหาศาล
ส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการจ่ายยาได้ และในที่สุดก็จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้กัญชาใต้ดินอยู่ดี เหมือนผลการศึกษาที่ผ่านมาในช่วงที่กัญชาเป็นยาเสพติดแล้วอ้างว่าใช้ทางการแพทย์ได้
ซึ่งถ้าผู้ป่วยใช้กัญชาใต้ดินเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน เพราะไม่มีการตรวจหาสารพิษโลหะหนักตลอดจนปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชาเหล่านั้นเลย ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ในขณะที่ผู้ปลูกกัญชาเพื่อการดูแลสุขภาพตนเองก็สามารถถูกจับกุม นำไปติดคุกตารางได้
นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงควรออกแบบกฎหมายเฉพาะสำหรับกัญชา มากกว่าที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วมีปัญหาอีกด้าน
ในขณะเดียวกันกฎหมายกัญชากัญชงยังสามารถออกแบบให้มีบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งกว่ากฎหมายยาเสพติดก็ได้ในประเด็นที่สังคมห่วงใย เช่น การกระทำความผิดจำหน่ายให้เด็กและเยาวชน การลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย ฯลฯ
ส่วนคนที่ห่วงใยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยที่ขาดธรรมาภิบาล มีปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง รีดส่วย รับส่วย เอื้อประโยชน์ให้ผู้ทรงอิทธิพลหรือนายทุนรายใหญ่ สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมายเลย ไม่ว่ากฎหมายจะนำกัญชาเป็นยาเสพติดหรือเป็นยาเสพติดก็ตาม ดังเช่น ยาบ้า เป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กลับมีการระบาดมากเสียยิ่งกว่ากัญชา หรือแม้แต่การพนันออนไลน์ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจนแต่ก็ระบาดหนักในมือถือโทรศัพท์ของประชาชนทุกคน
ทางออกเรื่องนี้จึงควรพิจารณาออกกฏหมายเรื่องกัญชากันชงเป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ ทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ในขณะเดียวกันก็ออกมาตรการควบคุมในประเด็นที่สังคมห่วงใยให้ได้อย่างเข้มข้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด หรือดีกว่าการไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้โดยเร็ว
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต
18 พฤษภาคม 2567