อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ในสังคมยุคปัจจุบัน หลายครอบครัวมีแนวคิดและวิธีการในการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไป ซึ่งนอกจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมของเด็กแล้ว การอบรมเลี้ยงดูเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อพัฒนาการ การเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น การเลี้ยงลูกแบบที่ประคบประหงมมากจนเกินไป เพราะไม่อยากขัดใจลูกหรือกลัวลูกไม่รัก อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อลูกเสมอไป ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญรวมถึงให้ความรักอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จะมีส่วนในการส่งเสริมพฤติกรรมของเด็กอีกทางหนึ่งด้วย มีการแบ่งลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ไว้เป็น 4 ประเภท ตามทฤษฎีของนักจิตวิทยาหญิงชาวอเมริกัน “Diana Baumrind” นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์คลีย์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษารูปแบบการอบรมเลี้ยงดูอย่างจริงจัง โดย Baumrind ได้เสนอมิติสำคัญในการอธิบายพฤติกรรมของบิดามารดาในการอบรมเลี้ยงดูบุตรว่าประกอบด้วย 2 มิติ คือ 1) มิติควบคุมหรือเรียกร้องจากบิดามารดา และ 2) มิติการตอบสนองความรู้สึกเด็ก จากการผสมผสาน 2 มิติ ทำให้ Baumrind จัดรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเป็น 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (ควบคุมและตอบสนองความรู้สึกเด็ก) รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม (ควบคุมแต่ไม่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก) และรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ (ไม่ควบคุมแต่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก) ต่อมา Maccoby and Martin สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้เพิ่มรูปแบบการเลี้ยงดูแบบที่ 4 เพิ่มเติมคือ รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (ไม่ควบคุมและไม่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก)
1.การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style) คือ ผู้ปกครองจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองเรียนรู้ มีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ มีการใช้เหตุและผลทั้งของพ่อแม่และลูกมาประกอบกัน ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของครอบครัวได้ พ่อแม่แบบนี้จะให้ความรัก ความอบอุ่นและใส่ใจต่อลูกมาก เด็กที่เติบโตมาจะเป็นเด็กที่มีความสุข ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี มีทักษะทางสังคมที่ดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง และเห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี
2.การอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวด (Authoritarian Parenting Style) คือ ผู้ปกครองมีความเข้มงวดอย่างมาก มีการวางระเบียบและกฎเกณฑ์ให้เด็กปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยไม่ค่อยอธิบายถึงเหตุผลให้เด็ก ๆ ฟัง จะใช้เหตุผลของตนเองเป็นหลัก เด็กที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงแบบนี้ จะเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย แต่จะไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง หรือกล้าตัดสินใจเรื่องอะไรด้วยตัวเอง อาจมีความก้าวร้าวซ่อนอยู่ภายใน และมีความต้องการเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง
3.การอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive Parenting Style) ผู้ปกครองให้ความรักและความเอาใจใส่ในตัวเด็กสูงมาก ผู้ปกครองในกลุ่มนี้จะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เด็กต้องการได้โดยไม่มีข้อแม้ เมื่อมีการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาก็ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นกับเด็ก ๆ ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นคนที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ค่อนข้างเห็นแก่ตัวเนื่องจากเคยผู้รับเพียงอย่างเดียว จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ยาก
4.การอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (Uninvolved Parenting Style) ผู้ปกครองจะไม่ค่อยได้ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก ๆ เวลาที่เด็ก ๆ ต้องการพูดคุยหรือถามในสิ่งที่ตนเองสงสัย ขณะที่ลูกมีพัฒนาการที่ยังไม่เหมาะสมกับช่วงวัย หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไขก็ไม่มีความสนใจที่จะปรับปรุงแก้ไข เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียเวลา เด็กเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้จะมองโลกในแง่ร้าย เป็นคนเก็บกด อาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เข้าสังคมลำบาก
อาจารย์ธามกล่าวว่า “การเลี้ยงลูกด้วยวิธีการที่ดี คือ การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ดูแลตามพัฒนาการ แบบ Authoritative Parenting Style” แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการเลี้ยงดูแบบนี้ จะเหมาะสมกับเด็กทุกคน บางครั้ง การเบี่ยงเข้าไปสู่สไตล์การเลี้ยงดูแบบอื่น ๆ ก็จำเป็นสำหรักเด็กเช่นกัน เช่น การดูแลแบบเข้มงวด กวดขัน เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถกำกับตัวเองได้ อาจจะมีความดื้อ ไม่เป็นระเบียบ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องเข้าไปกำกับมากขึ้น หรือการเลี้ยงดูแบบเสรีตามใจ แม้จะฟังดูว่าไม่ดี อาจจะตามใจลูกจนเหลิง จนเอาแต่ใจ แต่ถ้าเป็นเด็กที่ควบคุมตนเองได้บ้าง การให้เสรี ก็อาจจะหมายความว่าให้อิสระกับเด็กได้ตัดสินใจด้วยตนเอง ฉะนั้น แนวทางการเลี้ยงดู พ่อแม่คงต้องผสมผสานกันไปอย่างกลมกล่อม คือ มีแนวทางการเลี้ยงดูหลัก แต่ก็ผสมผสานการแเลี้ยงดูแนวทางอื่น ๆ บ้างในสัดส่วน ประมาณ 80:20 ก็จะดี”
นอกจากรูปแบบการเลี้ยงดูแล้ว ครอบครัวเองก็มีส่วนความสำคัญไม่แพ้กันที่จะช่วยปลูกฝังหล่อหลอมเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคมได้ โดยเด็กส่วนใหญ่ที่มีปัญหาพบว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะอยู่ใน “ครอบครัวที่บกพร่อง” (dysfunction family) โดยแนวคิดนี้ มาจากนักจิตวิทยาครอบครัว ที่ชื่อว่า “John Bradshaw” ซึ่งหมายถึง “ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวผูกขาดบทบาทหน้าที่ตายตัว มีการใช้อำนาจครอบงำ มีพฤติกรรมเสพติด มีความหวาดกลัว ไม่สื่อสารจริงใจ และใกล้ชิดผูกพัน และสมาชิกไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันในบทบาทหน้าที่ ทำให้เกิดภาวะครอบครัวไม่ทำหน้าที่หรือครอบครัวบกพร่อง”
ลักษณะง่ายที่ใช้ในการพิจารณาดูว่าครอบครัวบกพร่องหน้าที่หรือไม่ คือ ดูว่าสมาชิกครอบครัวมีสมาชิกที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้หรือไม่ เช่น มีการใช้สารเสพติดหรือมีพฤติกรรมเสพติด พ่อแม่ในฐานสามีภรรยามีความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรง หรือมีลักษณะอำนาจนิยมครอบงำสมาชิกคนอื่นๆ และเลี้ยงดูแบบเพิกเฉยละเลย ไม่มีเวลาร่วมกันขาดสายใยผูกพัน เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ครอบครัวเกิดความบกพร่องอาจเป็นผลมาจากปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านการเงิน ความกังวลใจของพ่อแม่และความขัดแย้ง ปัญหาความเจ็บป่วย ความตายและการสูญเสีย การหย่าร้าง การไม่มีเวลา และการแบ่งบทบาทที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวแบบนี้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากครอบครัวที่ไม่ทำหน้าที่
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ที่เติบโตมาจากครอบครัวบกพร่องหน้าที่ คือ
1.เด็กจะสูญเสีย ถูกกัดกร่อนความรู้สึกไว้วางใจ ทั้งในตัวเอง ในคนอื่นและต่อโลกใบนี้
2.เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น ยากที่จะมีรัก มีคู่ หรือสานสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มั่นคง
3.มีโอกาสที่จะเสพติดแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดอื่น ๆ
4.เพิ่มโอกาสที่จะมีภาวะโรคที่มีอาการผิดปกติทางจิต ความกังวลใจ ความซึมเศร้า ท่ามกลางผู้คน
5.มีภาวะความตระหนักในคุณค่าตัวเองต่ำ
6.ยากที่จะทำงาน หรือรักษาสภาพการถูกจ้างงานทำไต้ตลอด
7.ต่อสู่ดิ้นรนที่จะสร้างกำแพงกีดกันคนอื่น
8.มีประสบการณ์ที่ไม่สบายใจเกี่ยวกับการต้องจัดการอารมณ์
9.มีโอกาสที่จะสร้างครอบครัวที่ไม่ทำหน้าที่ ต่อไปในอนาคต
ดังนั้น การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น จึงเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ครอบครัวได้ทำหน้าที่อย่างสมบุรณ์ โดยยึดหลักปฏิบัติที่ควรมีในครอบครัว ได้แก่
• "การยอมรับ" ไม่เป็นไร ที่จะไม่มีการถูกควบคุมความรู้สึก พฤติกรรม และความสัมพันธ์
• "สมบูรณ์ไม่ต้องแบบ" ครอบครัวจะดีต่อสมาชิกในครอบครัวหากมีการทำผิดบ้างก็ได้
• "(มี) ตำหนิได้" ไม่เป็นไร ถ้าจะปล่อยให้บางเรื่อง บางครั้ง เป็นปัญหา มีตำหนิในชีวิต แบบที่ไม่ต้องไปหาสาเหตุ หรือหาคนผิดตลอดเวลา
• "คุยกันได้" ไม่เป็นไร ที่จะพูดออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ จริงใจต่อกัน
• “มองเห็นความเป็นจริง" มันไม่เป็นไรที่จะมองเห็นว่ามันเป็นปัญหา อย่าโกหกหรือสร้างภาพว่ามันไม่ใช่ปัญหา
• "ลุล่วงผ่านพ้น" ตกลงที่จะแก้ไขความแตกต่างระหว่างกัน และยอมรับมันให้ผ่านพันไป
• "ไว้วางใจกันและกัน" เรียนรู้ที่จะไว้วางใจตนเอง และใครสักคนที่วางใจได้
ประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะครอบครัวบกพร่องหน้าที่คือ “ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ มีผลต่อการดำเนินชีวิต และการพัฒนาการของเด็กในอนาคตเป็นอย่างมาก ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญต่อการหน้าที่ของครอบครัวเป็นอย่างมาก เพื่อการดูแลบุตรหลานอย่างถูกวิธี ด้วยการสร้างพื้นฐานจากครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัว เรียนรู้และเติบโตขึ้น ตามพัฒนาการที่สมวัย สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ”