xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมมือ ร่วมแยก เพื่อขยะ “ไม่เทรวม” สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อโลก ดีต่อกทม.และดีต่อทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะสร้างขยะได้มากถึง 800 กิโลกรัมต่อปี ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะมากถึง 8,000 ตันต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะเศษอาหารมากกว่า 50% อีกทั้งการทิ้งขยะรวมกันโดยไม่แยกขยะก่อนนั้น ทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหารบกวนสุขภาพกายใจของผู้คนสัญจรไป-มาและผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย
 
ที่ผ่านมา ผลเสียจากการไม่แยกขยะในกทม. มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้งบประมาณในการบริหารจัดการขยะต้องใช้เงินมากถึง 7 พันล้านบาทต่อปี เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาเมืองกทม. ต้องสะดุดหยุดชะงักลงได้ ดังนั้น การบริหารจัดการแยกขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวกทม. รวมถึงผู้ประกอบการช่วยกันลงมือแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง


นับตั้งแต่ปี 2565 ประชาชนเขตปทุมวัน พญาไท หนองแขม ได้ร่วมมือกันแยก “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” ออกจากกัน ตามนโยบาย “ไม่เทรวม” ที่นำร่อง 3 เขตแรก เพื่อการจัดการแยกขยะที่ปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นได้ขยายความร่วมมือการแยกขยะให้เข้าถึงทุกพื้นที่ โดยส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมกันแยกขยะง่าย ๆ เพียงแยกถุงขยะเศษอาหาร (เปียก) กับขยะทั่วไป (แห้ง) ออกจากกัน ไม่เทรวมกัน ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการแยกขยะที่ดี ทั้งนี้ หากต้องการแยกขยะแบบเหนือชั้นกว่า ประชาชนและผู้ประกอบการ สามารถแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขยะเศษอาหาร เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ 2.ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ 3.ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ และ 4.ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป โดยเมื่อแยกขยะแล้ว ให้เขียนข้อความระบุประเภทของขยะลงบนถุงกำกับ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกต่อไป


นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ สามารถแยกขยะได้อย่างสะอาด เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพในระยะยาว ผ่าน 4 แนวทาง คือ 1.ระบบรองรับขยะแยกประเภท ในรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน และ 5 ตัน ทุกคัน โดยติดตั้งถังขยะเศษอาหาร (ถังสีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) และถังขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในช่องใส่ขยะแยกประเภทด้านหลังคนขับ โดย กทม. แนะนำวิธีการคัดแยกขยะและวิธีการทิ้งขยะแยกประเภทให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง 2. รถเฉพาะกิจสำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารและขยะรีไซเคิลจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” อย่างน้อยสำนักงานเขตละ 1 คัน 3.จุดรวบรวมขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปทำปุ๋ยหรือส่งต่อให้เกษตรกรไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีจุดพักขยะอันตรายแยกประเภทเพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธี และจุดพักขยะรีไซเคิล เพื่อขายเป็นรายได้เข้ากองทุนสวัสดิการพนักงาน 4.บัญชีรายชื่อประชาชนและสถานประกอบการที่ร่วมโครงการไม่เทรวม และร่วมโครงการคัดแยกขยะ BKK Zero Waste และนำเข้าระบบรายงานตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมกำหนด เพื่อให้การบริหารจัดการขยะใน กทม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร


ด้วยประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ “ไม่เทรวม” ทำให้ปริมาณขยะลดลงเฉลี่ย 204 ตันต่อวัน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเป็นเงิน 387,600 บาทต่อวัน หรือ 74,460 ตันต่อปี ลดค่าใช้จ่ายต่อปีได้ถึง 141,000,000 บาท ซึ่งสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ในประโยชน์ด้านอื่น ๆ ให้กับเมืองได้หลากหลาย และตรงตามความต้องการของคนกรุงเทพฯ

เพื่อให้ประชาชนสามารถคัดแยกขยะได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว กทม. จึงจะผลักดันให้มีจุด Drop off หรือจุดทิ้งขยะรวมของชุมชนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตต่าง ๆ ยังคงไม่ลดละความพยายามที่จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์การแยกขยะต้นทาง “ไม่เทรวม” ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจัดเก็บขยะที่ง่ายขึ้น ลดปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ และสร้างพฤติกรรมการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าให้ได้ประโยชน์สูงสุด


ประชาชนที่สนใจส่งเสริมความร่วมมือ ส่งต่อแนวคิด “ไม่เทรวม” และขับเคลื่อนเป้าหมาย Zero Waste ลดขยะให้เหลือศูนย์ ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว และช่วยลดงบประมาณบริหารจัดการขยะกทม. อย่างยั่งยืน สามารถเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่แพลตฟอร์ม Traffy Fondue หรือ สายด่วน กทม. 1555

เพราะการแยกขยะ “ไม่เทรวม” ง่ายกว่าที่คิด และเริ่มได้ง่าย ๆ ที่ตัวเรานั่นเอง...


กำลังโหลดความคิดเห็น