คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประกาศเดินหน้าเตรียมความพร้อมในการผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคตผ่านหลักสูตรที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในยุคปัจจุบัน และยังสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ของภาคสังคมและภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผสานรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในอนาคต ด้วยทักษะ AI, ทักษะ Analytical Thinking, Creative Thinking, ทักษะ Active Learning และ Learning Strategies, ทักษะ Critical Thinking และ Complex Problem-Solving, ทักษะ Leadership และ Social Influence, ทักษะ Emotional Intelligence และ Soft Skills
คณะวิทยาศาสตร์ได้มีหลักสูตรที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี 5 หลักสูตร ได้แก่
• หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ วท.บ.(คณิตศาสตร์) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนในหลักสูตรได้เรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ วิทยาการการคำนวณที่หลากหลาย การวิเคราะห์เชิงตัวเลขที่นำไปใช้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อาชีพที่เป็นที่ต้องการและมีรายได้ที่มั่นคง ได้แก่ ครู อาจารย์ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย นักวางแผนและวิเคราะห์ระบบ นักจัดการบริหารฐานข้อมูล นักคณิตศาสตร์และสถิติในธุรกิจและอุตสาหกรรม
• หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี วท.บ.(เคมี) มุ่งเน้นมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะด้านเทคนิคสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีนาโน, เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม, เคมีชีวภาพ, และเคมีคอมพิวเตอร์ หลักสูตรเหล่านี้เน้นการบูรณาการความรู้พื้นฐานกับการประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาจริงในอุตสาหกรรม, สิ่งแวดล้อม, และการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนที่เน้นการทดลองและการวิจัยเพื่อส่งเสริมทักษะในการค้นคว้าและนวัตกรรมใหม่ๆ นักเคมีเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม เมื่อจบแล้ว สามารถประกอบอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ได้แก่ นักเคมีวิเคราะห์ นักเคมีอุตสาหกรรม นักเคมีสิ่งแวดล้อม นักเคมีเภสัชกรรม
• หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา วท.บ.(ชีววิทยา) มุ่งเน้นให้ผู้เรียน เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กับทรัพยากรสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่า โดยครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งทางด้านพันธุศาสตร์ พืชศาสตร์ สัตววิทยา และนิเวศวิทยา สมัยครอบคลุมหลากหลายด้านของชีววิทยา ทั้งในระดับโมเลกุล, เซลล์, อวัยวะ, และระบบนิเวศ นักศึกษาจะได้ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานของชีววิทยาเช่น พันธุศาสตร์, ชีววิทยาเซลล์, ชีววิทยาโมเลกุล, รวมถึงชีววิทยาพัฒนาการ นอกจากนี้ยังรวมถึงสาขาที่ทันสมัยเช่น ชีววิทยาสังเคราะห์, ชีววิทยาคอมพิวเตอร์, และชีววิทยาระบบ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่ และทำความเข้าใจกระบวนการชีวภาพในระดับที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หลักสูตรนี้เน้นการศึกษาทั้งแบบทฤษฎีและปฏิบัติผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการและงานวิจัย อาชีพที่เป็นที่ต้องการทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ นักชีววิทยาโมเลกุล นักชีววิทยาการแพทย์ นักปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ในอุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ นักชีววิทยาการอนุรักษ์ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
• หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ วท.บ.(ฟิสิกส์) เรียนพื้นฐานฟิสิกส์และการประยุกต์เพื่อนำไปสร้างนวัตกรรมฝึกปฏิบัติจากอุปกรณ์ที่ทันสมัย แผงวงจรรวมหรือสมองกลฝั่งตัว Arduino, Raspberry Pi, เป็นต้น เพื่อสร้างอุปกรณ์อาทิ เครื่องมือตรวจวัด หุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม (coding) ด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ข้างต้น วิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือจำลองปรากฏการณ์ เช่น ภาษาซี C, ภาษาไพธอน Python, ภาษา Arduino IDE ฟิสิกส์ของแผ่นเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้านอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาฟิสิกส์ โดยเฉพาะที่มีรายได้ดีในภาคส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ มีหลายอาชีพที่น่าสนใจ เช่น นักออกแบบและพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ทำงานเพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ฟิสิกส์ของควอนตัม นักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์และ sensor สำหรับการศึกษา อุตสาหกรรม และการแพทย์
• หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา วท.บ.(วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา)มุ่งเน้นให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ กายวิภาคศาสตร์พื้นฐานของมนุษย์ การออกกำลังกายและการฝึกทางการกีฬาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย รวมไปถึงการฝึกปรับสมรรถภาพทางกายของคนทั่วไปเพื่อสุขภาพ และการฝึกนักกีฬาที่มีผลต่อสมรรถนะการเล่นกีฬา โดยอาศัยศาสตร์หลายแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา เช่น เวชศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา การจัดการทางการกีฬา เป็นต้น อาชีพที่ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมรายได้ดี ได้แก่ Sport Trainer, Fitness Trainers and Aerobics Instructors, Trainer freelances, Exercise Physiologies เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการจัดการหลักสูตร 2 ปริญญา จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตร วท.บ.(ชีววิทยา) และหลักสูตร วท.ม.(ชีววิทยา) (เรียน 5 ปี)
- หลักสูตร กศ.บ.(การศึกษา) และหลักสูตร วท.บ.(คณิตศาสตร์) (เรียน 4 ปี)
- หลักสูตร กศ.บ.(การศึกษา) และหลักสูตร วท.บ.(เคมี) (เรียน 4 ปี)
- หลักสูตร กศ.บ.(การศึกษา) และหลักสูตร วท.บ.(ชีววิทยา) (เรียน 4 ปี)
- หลักสูตร กศ.บ.(การศึกษา) และหลักสูตร วท.บ.(ฟิสิกส์) (เรียน 4 ปี)
- หลักสูตร กศ.บ.(การศึกษา) และหลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา) (เรียน 4 ปี)
หลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 9 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร วท.ม.(คณิตศาสตร์), วท.ม.(เคมีประยุกต์), วท.ม.(ชีววิทยา), วท.ม.(วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา), ปร.ด.(คณิตศาสตร์), ปร.ด.(ชีววิทยา), ปร.ด.(วิทยาศาสตร์ประยุกต์) และ วท.ด.(วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา)
การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นทั้งการพัฒนาทักษะการบูรณาการทางวิชาการทั้ง Hard skill และ Soft skill ร่วมกับเทคโนโลยีและทักษะทางภาคอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิศักดิ์ ปิ่นมงคลกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า "เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น เรามุ่งมั่นในการปรับปรุงหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในระดับอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องการความสามารถที่ครอบคลุม การผสานการศึกษาดังกล่าวจะช่วยสร้างทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาอาชีพและการใช้ชีวิตด้วยความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ได้ในอนาคต"
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้าร่วมกับภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างโอกาสให้กับนิสิตได้รับประสบการณ์จริงในการทำงานผ่านการฝึกงานและโครงการสหกิจศึกษา มุ่งเน้นให้นิสิตได้รับการฝึกปฏิบัติที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสถานประกอบการและศูนย์วิจัย ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเตรียมพร้อมให้กับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตและมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมรับมือกับยุคของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชาญฉลาด
ช่องทางการติดต่อ:คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา 19 หมู่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 56000 Tel. 0 5446 6666 ต่อ 1713 Fax. 0 5446 6664
Mobile : 096-3872922
Website : http://www.science.up.ac.th
Facebook : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
Tiktok : @science.up