ใกล้จะเปิดเทอมใหม่ของนักเรียนทั่วประเทศ แต่ผู้ใหญ่ก็มีเรื่องวุ่นๆที่ต้องตามแก้ไขอย่างปัญหาเรื่องการส่งมอบแบบเรียน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้ทันหรือไม่ ภายหลังกระบวนการจัดพิมพ์เกิดปัญหา
ในเรื่องนี้ นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) หรือ องค์การค้าของ สกสค. เปิดเผยว่า องค์การค้าของ สกสค. เลือกใช้กระดาษที่ดีมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่นักเรียนทั่วประเทศต้องได้ใช้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ มีราคาที่เหมาะสม ซึ่งหนังสือต้นฉบับของ สสวท. นั้นถือเป็นหนังสือต้นแบบของประเทศ โดยหนังสือเรียนขององค์การค้าที่ถูกอ้างถึงในสื่อเราใช้กระดาษอาร์ต 64 แกรม ซึ่งเป็นกระดาษอาร์ตมีคุณสมบัติเป็นกระดาษเนื้อแน่นที่ผ่านการเคลือบผิวให้เรียบเหมาะกับการพิมพ์สีหรืองานพิมพ์ที่เน้นความสวยงาม ส่วนหนังสือเรียนของหน่วยงานอื่นที่ถูกอ้างถึงในสื่อ เป็นหนังสือเรียนที่ใช้กระดาษปรู๊ฟ 55 แกรม ในการพิมพ์
ทั้งนี้ องค์การค้าของ สกสค. เชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพและการทำงานของบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ว่าจะสามารถดำเนินการแก้ปัญหาและส่งมอบแบบเรียนได้ทันตามเวลาที่กำหนด
ด้านนายธิติทัศน์ ธนัชนนท์เดชน์ ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ กล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งปกให้บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ไม่ครบ จนทำให้ไม่สามารถพิมพ์หนังสือได้ทันตามที่กำหนดนั้น พบว่า องค์การค้าของ สกสค. ได้ส่งปกหนังสือครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ดำเนินการส่งปกหนังสือให้บริษัทตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 จนครบตามจำนวน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 โดยบริษัทได้ทำการเซ็นรับปกหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังน้น องค์การค้าของ สกสค. ยืนยันในการสงวนสิทธิ์ไม่ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามที่บริษัทร้องขอ เนื่องจากปริมาณปกหนังสือที่ขาดและชำรุดเสียหายนั้น มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณปกหนังสือที่บริษัทมีอยู่ในมือและต้องดำเนินการผลิต อย่างไรก็ตาม องค์การค้าของ สกสค. ได้เร่งรัดติดตามการพิมพ์หนังสือ เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศ ได้หนังสือทันก่อนเปิดภาคเรียน โดยได้เร่งรัดให้ทุกโรงพิมพ์ที่มีสัญญาการพิมพ์แบบเรียนในปี 2567 ต้องส่งแบบเรียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ก่อนวันเปิดภาคเรียน
ด้านบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อกล่าวหา โดยระบุว่า เมื่อทำสัญญาแล้วทางองค์การค้า บริษัทรุ่งศิลป์ฯ ก็ได้รับไฟล์งานและตัวอย่างหนังสือ และเริ่มพิมพ์ในทันที แต่เมื่อเริ่มพิมพ์ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์พบว่า ในข้อกำหนด TOR เกี่ยวกับคุณสมบัติของกระดาษ ไม่ตรงกับตัวอย่างหนังสือ ทั้งที่ในวันทำสัญญาทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ฯได้สอบถามในที่ประชุมว่า การพิมพ์นั้นต้องพิมพ์ตามตัวอย่างหนังสือ หรือตาม TOR ก็ได้รับคำตอบในที่ประชุมว่า ต้องตาม TOR เท่านั้น เมื่อโรงพิมพ์พบว่าตัวอย่างหนังสือที่ให้มากับ TOR ไม่ตรงกันจึงต้องหยุดการพิมพ์และทำหนังสือสอบถามไปยังองค์การค้า สกสค.
ตลอดเวลานับแต่เริ่มต้นการพิมพ์ ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงเหตุขัดข้องต่างๆ ทำให้การพิมพ์ต้องหยุดลงรอความชัดเจน และทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ฯก็ได้เสนอแผนการพิมพ์และแผนการส่งมอบให้ทราบตามที่ องค์การค้า สกสค.ร้องขอ เนื่องจากมีเหตุที่ทางโรงพิมพ์ไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้เอง ต้องรอให้องค์การค้า สกสค.ยืนยัน จึงทำให้ต้องสูญเสียเวลาในการพิมพ์ออกไปรวมทั้งสิ้น 15 วัน ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์จึงได้ร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้พิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาการพิมพ์ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา กลับถูกนำไปอ้างว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย
การที่ องค์การค้า สกสค.ออกแถลงการณ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายให้ร้ายกลั่นแกล้ง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งได้ออกสื่อทางสังคมออนไลน์ อันเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิด และร่วมกระทำความผิด เพราะทำให้ทางโรงพิมพ์ได้รับความเสียหาย