xs
xsm
sm
md
lg

“โลกรวน” มหาวิบัติจากความเสื่อมถอยทางธรรมชาติที่ยากเกินแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โลกรวน” (Climate Change) คือภาวะที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแล้วส่งผลให้ผืนดิน ผืนน้ำ มหาสมุทร รวมถึงสภาพภูมิอากาศ และฤดูกาล มีความเแปรปรวนไปจากแต่ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แต่ยังทำให้กลไกหลายอย่างที่มีอยู่บนโลกใบนี้มานับหลายล้านปีเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต่างไปจากรถยนต์เก่าที่ถูกใช้งานมาอย่างยาวนานจนวันหนึ่งเกิดอาการรวน ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ เกิดความเสียหายต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ และยิ่งปล่อยไว้นานวันก็จะยิ่งสายเกินแก้และยากที่จะแก้ไขได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะศึกษาวิจัยในรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566 เรื่อง คำสัญญาของไทยใน COP กับการรับมือ “โลกรวน” ให้ข้อมูลว่า อุณหภูมิของโลกเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและชัดเจนตั้งแต่ช่วง “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” หรือราว 200 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงที่มีการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำแรงงานเครื่องจักรกลมาใช้ในกระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมแทนการใช้แรงงานมนุษย์เช่นแต่ก่อน เนื่องจากสามารถสร้างผลผลิตได้ทีละมาก ๆ และเมื่อความสามารถในการผลิตมีมากขึ้น สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว อัตราการบริโภคก็สูงขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การทำกิจกรรมทางธุรกิจพุ่งตัวสูงมากขึ้น นอกจากนี้ การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการคมนาคมและการขนส่งของผลผลิตไปยังพื้นที่ต่าง ๆ สามารถกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึง และเพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตของประชากร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากในอดีตอย่างรวดเร็วจากการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต และจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่างๆ เหล่านี้เอง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ระบุถึงสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ในรายงานฉบับที่ 6 (Assessment Report 6: AR6) ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ “เกิดจากฝีมือของมนุษย์” การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายและมีความเบาบางลงทุกขณะ เกิดการปล่อยก๊าซเสียชนิดต่าง ๆ จากการใช้ชีวิต เช่น การทำอุตสาหกรรม การโดยสารโดยรถยนต์ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น รวมถึงการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งมีการใช้ทรัพยากรและผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากในกระบวนการทำงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโลกกำลังเข้าใกล้จุดวิกฤติ ความรุนแรงของสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (Irreversible damage) แม้ประชากรโลกจะร่วมแรงร่วมใจกันมากมายเพียงใดก็ตาม เพียงแต่ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยชะลอความรุนแรงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้ช้าลงได้เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐภาคีสมาชิก (Conference of Parties: COP) ครั้งที่ 21 เมื่อปี ค.ศ. 2015 ผู้นำภาคีสมาชิกจำนวน 196 ประเทศ ร่วมกันลงนามใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันในการพยายามจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100 หมายความว่า ประเทศสมาชิกต้องพยายามทำให้อุณหภูมิโลกลดลงและไม่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่ภายหลังข้อตกลงนี้ได้พยายามร่วมกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2100 และกำหนดไว้ในที่ประชุม COP ครั้งที่ 26 เมื่อปี ค.ศ. 2021 ว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องมีการเสนอแผนปฏิบัติการของตนเพื่อที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ จากรายงานสภาพอากาศของ IPCC เมื่อปี ค.ศ. 2021 ระบุว่า ขณะนี้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ มนุษย์จึงแทบไม่เหลือเวลาที่จะป้องกันตัวเองจากหายนะที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไป ทำให้ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและร่วมกันตั้งเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ในการประชุม COP ครั้งที่ 26 เพื่อร่วมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี ค.ศ. 2021 - 2030 จากเดิมร้อยละ 20 - 25 ให้เป็นร้อยละ 40 ให้ได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อให้การดำเนินเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกด้วย

ประเทศไทยได้จัดทำ “แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก” (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation: NDC) ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ 10 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของไทย โดยผลักดันให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มการหมุนเวียนด้วยวัสดุเป้าหมาย อาทิ พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เกษตรอาหาร เพิ่มสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มอัตราการนำขยะมาใช้ใหม่ และลดปริมาณขยะต่อหัว

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร กล่าวต่อว่า พื้นที่ป่าไม้ของไทยซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก ซึ่งหมายความถึงกลุ่มก๊าซพิษประเภทต่าง ๆ ที่ถูกกักอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนโตรเจน ฯลฯ กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงมีการรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อที่ในอนาคตต้นไม้เหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกได้ โดยให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่ามีเพียงพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกเท่านั้นที่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ในสัดส่วนดังกล่าวไว้ได้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ อยู่ในสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 40 ทั้งสิ้น อีกทั้งยังพบว่าประเทศไทยมีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2.2 ล้านไร่ ปรากฏว่าเฉพาะในปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ป่าไม้โดยรวมลดลงราว 2,000 ไร่ ซึ่งแก่งกระจานที่นับเป็นป่าต้นน้ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำและช่วยควบคุมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขหรือฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้

ในรายงานฉบับที่ 6 (Assessment Report 6: AR6) ของ IPCC ยังได้รวบรวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยจำแนกออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 “ความเสื่อมโทรมบนพื้นดิน” จากการรวบรวมและศึกษาสิ่งมีชีวิตบนพื้นดินกว่า 12,000 สายพันธุ์ พบว่า สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การย้ายถิ่นฐานขึ้นไปอยู่ที่สูง การเปลี่ยนแปลงทางชีพลักษณ์ (Phenology) หรือ การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาทิ การแตกตา การแตกใบ และการแตกดอก ที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาปกติ และจากการติดตามสัตว์และพืช จำนวน 976 สายพันธุ์ พบว่าร้อยละ 47 สูญพันธุ์ไปแล้วเนื่องจากการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จะเป็นการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมบางอย่างเพื่อความอยู่รอด แต่รายงานส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะไม่มีทางรอดพ้นจากความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้หากปราศจากพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสายพันธุ์นั้น ๆ

การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นยังมีโอกาสทำให้ความชุ่มชื้นที่มีอยู่ในผืนป่าลดลง ส่งผลให้ความเป็นไปได้ในการเกิดไฟป่าสามารถติดได้ง่ายขึ้น ซึ่งไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศโลกในอัตราสูงถึง 1 ใน 3 ทำให้คุณภาพของพื้นที่เกษตรกรรมลดลง เสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึง การที่อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นยังส่งผลให้โรคภัยบางชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบางภูมิภาค สามารถขยายพันธุ์ไปถึงพื้นที่เหล่านั้นได้ด้วย เช่น โรคฝีดาษลิง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกา สามารถขยายพันธุ์เข้าไปในทวีปยุโรปที่เป็นเขตอากาศหนาวได้เนื่องจากบริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่อุ่นหรือสูงขึ้น

มิติที่ 2 “ความผันแปรของวัฏจักรน้ำและการเปลี่ยนแปลงในแหล่งน้ำ” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวัฏจักรของน้ำ (Hydrological cycle) ทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางน้ำ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ปรากฏการณ์แม่น้ำเปลี่ยนสาย เมื่อสัณฐานของแม่น้ำ (River Morphology) เกิดการเปลี่ยนเส้นทางหรือแห้งเหือดไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เคยใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาอาศัยผืนน้ำเหล่านั้นได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ อาทิ การทำเกษตรกรรม ความสามารถในการดำรงชีวิตของกลุ่มอารยธรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำ และความสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำต่าง ๆ และในขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้นยังส่งผลให้แผ่นน้ำแข็ง (Glacier) ลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งจากการละลายและการถล่ม ทำให้ก้อนน้ำแข็งและกระแสน้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยบนผืนดิน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและการสูญเสียของชีวิต


มิติที่ 3 “ความแปรปรวนของระบบนิเวศมหาสมุทร” มหาสมุทรเป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบภูมิอากาศของโลกด้วยการควบคุมความร้อน ปริมาณน้ำ และแร่ธาตุต่าง ๆ ให้คงอยู่ มหาสมุทรมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอีกมาก ด้วยความลึกและความกว้างที่ยากจะประมาณการได้ทำให้มหาสมุทรเป็นแหล่งดูดซับความร้อนส่วนเกินในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าบริเวณพื้นดินสูงถึงร้อยละ 90 การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอันเกิดจากฝีมือของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพทั่วไปของมหาสมุทรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การกระจายตัว และปริมาณของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทุกภูมิภาค อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังสร้างความเป็นกรดที่มากขึ้นและปริมาณออกซิเจนที่ลดลงของมหาสมุทร ทำให้สรีรสภาพ (Physiological conditions) ของปลาทะเล และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมีความเปลี่ยนแปลงและลดจำนวนลงจนส่งผลกระทบต่อสายใยอาหารในทะเลและมหาสมุทรอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความรวนของสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้คนทั่วโลกในการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงให้มากที่สุด เพื่อร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยาวนานมากที่สุด หากทั่วโลกยังขาดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ และไม่ลงมือแก้ไขในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในอนาคตเราก็จะสูญสิ้นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งทรัพยากร รวมถึงการมีอยู่ของมวลมนุษยชาติไปในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น