ร้านยาทั่วประเทศ 4,349 แห่ง ร่วมให้บริการบัตรทอง ทั้งสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค รับยาใกล้บ้านลดแออัด รพ. ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ เผยปี 66 ประชาชนรับบริการ 7.8 แสนคน รวม 1.89 ล้านครั้ง เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพ
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาได้มีมติรับทราบการมีส่วนร่วมและความคืบหน้าการดําเนินงานของ หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม (ร้านยา) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง 30 บาท)
ทั้งนี้ แนวทางการดําเนินงานของร้านยาในระบบฯ ให้บริการ 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่จ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) ให้บริการคนไทยทุกคน ประกอบด้วย บริการยาเม็ดคุมกำเนิดและบริการให้คำปรึกษา บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและบริการให้คำปรึกษา บริการจ่ายถุงยางอนามัยและบริการให้คำปรึกษา บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต บริการตรวจ/ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิค (เม็ดแยก/เม็ดรวม)
2. บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับหน่วยบริการร่วมกับร้านยา (Model 1 2 3 ) รับยาใกล้บ้านเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ครอบคลุมบริการ 5 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช และโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล โดยรูปแบบมีทั้งร้านยาจ่ายยาให้กับผู้รับบริการตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม การจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์จากหน่วยบริการแม่ข่าย และแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่ายสั่งจ่ายยาโดยให้ผู้รับบริการไปรับยาที่ร้านยาในเครือข่าย
3. บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ (Common Illness) หรือ บริการดูแลอาการการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ให้การดูแลตามข้อบ่งชี้แนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรม 16 กลุ่มอาการ ประกอบด้วย ปวดหัว เวียนหัว, ปวดข้อ, เจ็บกล้ามเนื้อ, ไข้ ไอ, เจ็บคอ, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ท้องผูก, ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลําบาก, ปัสสาวะเจ็บ, ตกขาวผิดปกติ, ผิวหนังผื่นคัน, บาดแผล, ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหู
“จากผลการให้บริการที่ร้านยาในระบบฯ ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบันพบว่ามีร้านยาเข้าร่วม 4,349 แห่ง เบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. แล้ว 2,433 แห่ง หรือร้อยละ 56 โดยมีประชาชนรับบริการ 7.8 แสนคน เป็นจำนวน 1.89 ล้านครั้ง รวมวงเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 304 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อดูภาพรวมข้อมูลบริการที่ร้านยาทั้ง 3 รายการ พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิมากที่สุด คือ 6.9 แสนคน รองลงมาเป็นบริการรับยาที่ร้านยาฯ 7.1 หมื่นคน และรับบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 4.6 หมื่นคน จะเห็นได้ว่าร้านยาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและบริการในระบบบัตรทองได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ร้านยานี้มีแนวโน้มการรับบริการเพิ่มมากขึ้น โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีจำนวนการรับบริการมากกว่าปี 2566 ทั้งปีในทุกกิจกรรม โดยเขตสุขภาพที่มีการให้บริการสูงสุด คือ เขตสุขภาพที่ 11, 8 และ 12 ตามลำดับ ขณะที่ในส่วนของบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับหน่วยบริการ ร้านยาจะทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องจ่ายยาให้โรงพยาบาล พบว่ารูปแบบโมเดล 1 คือ โรงพยาบาลจัดยาแล้วส่งมาให้ผู้ป่วยไปรับที่ร้านยายังเป็นรูปแบบที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี พบว่าแนวโน้มการให้บริการแบบโมเดล 3 คือ แพทย์เป็นผู้ออกใบสั่งยาแล้วให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาเอง มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพื้นที่ซึ่งให้บริการร้านยาเพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลมากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 2, 1 และ 12 ตามลำดับ
ส่วนบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ มีร้านยาเข้าร่วมให้บริการ 1,331 แห่ง มีผู้รับบริการ 4.7 แสนคน จำนวนรับบริการ 8.3 แสนครั้ง เขตสุขภาพที่ 13 มีประชาชนมารับบริการมากที่สุด รองลงมาคือ เขต 6 และ 12 โดยเป็นการรับบริการด้วยอาการไข้/ไอ/เจ็บคอ มากที่สุด รองลงมาคือ ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นผิวหนังและปวดท้อง
“จากรายงานที่ สปสช. นำเสนอนี้ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบแนวทางและผลการดำเนินงาน พร้อมได้มีข้อเสนอเพิ่มเติม รวมทั้งเสนอให้ผู้แทนของสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง พิจารณาเรื่องการนำร้านยาเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายให้บริการแก่ผู้ประกันตนและผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกสิทธิสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อการพัฒนาในระยะต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว