"ชลน่าน" อวยผลงานนายกฯ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สธ.เดินหน้าบำบัด 1.9 ล้านคน เผย 7 เดือน ส่งเข้าบำบัดฟื้นฟูแล้ว 66,000 คน คืนคนดีสู่สังคม ไม่กลับมาเสพซ้ำกว่า 28,000 คน ช่วยตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยอีกทางหนึ่ง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ว่า สืบเนื่องจากการประชุมสมัยพิเศษสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด (UNGASS 2016) ทำให้ปัจจุบันประชาคมโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้เสพยาเสพติดคือผู้ป่วย เป็นการป่วยทางจิตใจที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จึงประกาศนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทาง 3 ป. คือ “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปรามสกัดกั้นยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น"
สธ.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการนำผู้เสพที่มีประมาณ 1.9 ล้านคน มาบำบัดและส่งคืนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลับสู่สังคม เราต้องเข้าใจและมองให้เหมือนกันว่า ผู้เสพยาเสพติดคือผู้ป่วยโรคสมองติดยาเรื้อรัง เพราะฉะนั้นเมื่อป่วยก็ต้องได้รับการรักษา ซึ่งกฎหมายใหม่นี้เป็นการให้โอกาสผู้ที่หลงผิดไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดได้เข้ารับการบำบัดจนหายและกลับมามีที่ยืนในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ดีกว่าที่เราจะผลักเขาเข้าคุก ถูกตีตราเป็นผู้ต้องโทษ เมื่อกลับออกมาก็ไม่ได้รับโอกาสจากสังคม จนสุดท้ายกลายเป็นผู้ค้ารายย่อยอยู่ในวงจรยาเสพติดหมุนเวียนไปไม่จบสิ้น
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สธ.ได้เตรียมความพร้อมรองรับการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จัดตั้งมินิธัญญารักษ์/กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และสนับสนุนให้มี CBTx ชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัด และมีศูนย์คัดกรองแยกผู้ป่วยเข้าสู่สถานบำบัดต่างๆ ตามระดับความรุนแรง โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – 17 เม.ย. 2567 ได้คัดกรองผู้ที่ติดยาเสพติดไปแล้ว 70,253 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว 56,763 คน รองลงมา กลุ่มสีแดง 8,391 คน กลุ่มสีส้ม 3,398 คน และสีเหลือง 1,701 คน นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ 66,399 คน โดยมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมร่วมให้การช่วยเหลือ อาทิ การฝึกอาชีพ จัดหางาน จัดหาทุนประกอบอาชีพ ก่อนส่งผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม โดยจากการติดตามจนครบกำหนด 1 ปี พบไม่กลับมาเสพซ้ำ 28,125 คน