"ชลน่าน" แจงออกประกาศปลดล็อก ยส.5 ให้เสพเพื่อรักษาโรค-ศึกษาวิจัย เฉพาะตำรับยาที่มี "ฝิ่น-เห็ดขี้ควาย" เป็นส่วนผสม ไม่รวมสารสกัดกัญชา บังคับใช้ตั้งแต่ 23 เม.ย.67 เป็นต้นไป ย้ำหากไม่ออกประกาศก็เอามาใช้รักษาและวิจัยไม่ได้
จากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2567 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการออกประกาศฉบับนี้ว่า ปัจจุบันยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย และสารสกัดกัญชากัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ซึ่งประกาศฉบับนี้หมายถึงให้ใช้ตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ด้วย ใช้เพื่อการรักษาและใช้เพื่อการศึกษาวิจัยได้ ยกเว้นสารสกัดกัญชากัญชง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
“ยาเสพติดประเภท 5 คือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ จึงต้องมีประกาศนี้ออกมารองรับอนุญาตให้สามารถนำไปใช้ประโชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ในกรณีนำไปปรุงยาเข้าเป็นตำรับยาเพื่อการรักษาโรคหรือใช้เพื่อการศึกษาวิจัย เพราะหากไม่มีประกาศนี้ออกมาก็ไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยการนำพืชฝิ่น หรือเห็ดขี้ควาย ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยาต้านการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นอื่น ภายใต้มาตรการควบคุม และลดการนำเข้ายาประเภทมอร์ฟีนจากต่างประเทศในอนาคต ซึ่งฝิ่น ในอดีตทางการแพทย์ใช้เป็นยาระงับอาการปวด แก้ท้องเสีย และแก้ไอ ขณะที่เห็ดขี้ควายมีงานวิจัยว่าสารซีโลไซบิน (psilocybin) สามารถรักษาผู้ที่มีอาการซึมเศร้าได้ เมื่อใช้ร่วมกับจิตบำบัด