xs
xsm
sm
md
lg

จากแพชชั่นนางงามสู่งานวิจัยที่ว่าด้วยการใช้สแลงของแฟนนางงามไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อพูดถึง “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” (มสธ.) ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปี เราจะพบกับป้ายบิลบอร์ดที่สุดแสนจะโดดเด่น ชนิดที่ห่างไปหลายร้อยเมตรก็ยังมองเห็น ที่เมืองทองธานีเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยในยุครุ่งเรือง หนึ่งในคนที่ปรากฏโฉมบนบิลบอร์ด นั่นคือ “รศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร” หรือครูปุ๋ย ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นพรีเซนเตอร์ของมหาลัยในยุคนั้นก็ว่าได้

ครูปุ๋ยไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการศึกษา เพราะปีนี้ย่างก้าวปีที่ 15 สำหรับเส้นทางนี้ โดยคลุกคลีอยู่กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาศึกษาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ สาขาหลักสูตรและการสอน ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมืองทองธานี

“ประมาณ 15 ปีก่อน ทาง มสธ. มีการคัดอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ไปทำประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยของเรา มันไม่ได้โบราณ เพราะเมื่อพูดถึง มสธ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทุกคนจะรู้สึกว่าอาจารย์ต้องใส่ผ้าไทยผ้าไหม เรารู้สึกว่ามันดูเมียง(เชย) เริ่มแก๊ส(แก่) จากนั้นก็มีการหาอาจารย์รุ่นใหม่ๆ มาช่วยในการโปรโมท ช่วงนั้นยังมีโอกาสได้ทำรายการทีวีของมหาวิทยาลัย ชื่อรายการ “กด like วัยทีน” รายการ “Hello English!” และมีรายการที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษอีก 2-3 รายการ ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันก็สนุก มันเหมือนเราได้ตื่น แต่งหน้า อ่านบท ไปทำงาน แล้วก็รู้สึกสนุกกับมันแต่มันก็เป็นช่วงเวลาหนึ่ง พอเรามองย้อนกลับไปเราก็ยังรู้สึกว่าจริงๆ แล้วก็ยังสนุกกับงานนั้นอยู่”
 


เปิดงานวิจัยการใช้สแลงของแฟนนางงามไทย

ความเป็นอาจารย์รุ่นใหม่บวกกับแพชชั่นที่ครูปุ๋ยชอบส่วนตัวเรื่องการประกวดนางงามแทบทุกประเภทที่จัดขึ้นในบ้านเราและบนเวทีโลก เรียกได้ว่าเป็นแฟนคลับนางงามท่านหนึ่งก็ว่าได้ จากความหลงใหลเหล่านี้ทำให้ครูปุ๋ย ได้เริ่มเขียนบทความวิจัยเรื่อง “การศึกษาการใช้สแลงของแฟนนางงามไทยในเฟซบุ๊กแฟนเพจการประกวดนางงาม THE STUDY OF SLANGS USAGE IN BEAUTY PAGEANT FACEBOOK FAN PAGES AMONG THAI FANS” เป็นบทความวิจัยที่ครูปุ๋ยภูมิใจเสนออย่างมาก ความที่สนใจในเรื่องการประกวดนางงามเป็นทุนเดิมหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนนางงามตัวยงแทบจะทุกเวที จึงคลอดผลงานวิชาการเรื่องนี้ออกมา โดยมองว่า เรื่องความงามของผู้หญิงจากทุกเวทีการประกวดของบ้านเรา ล้วนแต่เต็มไปด้วยความงามที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยเลยก็ว่า แต่เหนืออื่นได้ ครูปุ๋ยเห็นคุณค่าและความสำคัญรวมไปถึงสีสันของเวทีประกวดต่างๆ กระทั่งได้รวบรวมความหมาย “ศัพท์นางงาม” ที่พบเจอบ่อยในเวทีผ่านบทความวิจัย

“เวทีประกวดนางงามในประเทศไทยมีจัดขึ้นมากมายหลายเวที ทั้งเวทีใหญ่ เวทีเล็ก เวทีเก่าแก่ และเวทีใหม่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมแต่ละเวทียังมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปอีก แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือเราได้เห็นว่าผู้หญิงไทยไปจนถึงผู้หญิงไทยข้ามเพศ ต่างก็มีความสวยงาม มีความมั่นใจ และมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก นอกจากนางงามผู้เข้าประกวดแล้ว ผู้ชมอย่างเราต้องเตรียมตัวด้วย ต้อมเริ่มเข้าด้อม หาลูกสาวฝังตัวในกลุ่มเพราะเดี๋ยวจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง และยังเพิ่มอรรถรสให้การชมสนุกขึ้น

เริ่มจากการเล่นเฟซบุ๊ก และแน่นอนว่าในเฟซบุ๊กนั้นมีความหลากหลาย และช่วยเวลาเราเบื่อ พอเข้าไปดูก็พบว่า มีกลุ่มนางงามและเป็นคนชอบดูนางงามโดยเฉพาะเวลาที่นางงามตอบคำถาม เราก็เลยเข้าไปในกลุ่มนางงามที่มีเยอะมากในปัจจุบัน ทีนี้พอเราเข้าไปก็พบว่ามันสนุก ซึ่งสนุกตรงที่มีคำบางคำที่เราไม่เข้าใจ มีคำบางคำที่เรารู้สึกเอ๊ะคำนี้มันแปลกๆ แต่ที่สำคัญมันทำให้การดูนางงามของเรามันมีสีสันมากขึ้นอย่างเช่น คำพื้นๆ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เลยเช่นคำว่า บ้ง ชุดนี้มันบ้ง บ้งก็คือไม่ดีใช่มั้ยคะ หรือถ้าลูกสาวที่เราเชียร์ตุ้บ นางงามตุ้บแน่นอน ก็คือไม่เข้ารอบ แบบตุ้บ 40 ก็คือไม่เข้ารอบ 40 จากจุดนั้นเราก็เริ่มคิดว่ามันน่าสนใจ

จากนั้นจึงเริ่มทำการศึกษา สังเกต แล้วก็รวบรวมคำศัพท์ในช่วงที่ผ่านมา รวบรวมช่วงปี 2021 จนถึงปี 2022 แล้วก็เจอคำที่น่าสนใจในกลุ่มนางงามของไทยประมาณ 62 คำ เราก็เลยรวมตัวกันกับเพื่อนเขียนบทความขึ้นมาก็เป็นบทความวิจัยเรื่องหนึ่งที่เราทำขึ้น

เรารู้สึกว่า คำเหล่านี้มันสนุก คำเหล่านี้มันมีสีสัน เดิมทีเรารู้สึกว่า เวลาที่เราอ่านหนังสือ มันไม่สนุก เรารู้สึกว่าเราอ่านปุ๊บ มันเฉยๆ แต่เวลาเราอ่านคำเหล่านี้ ของกลุ่มพี่ๆน้าๆ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นพี่สาวประเภทสอง และกลุ่ม LGBTQ ด้วย เขาทำให้ภาษามันมีสีสัน เราอ่านแล้วเราหัวเราะ ภาษามันดูมีชีวิตชีวาขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ นอกจากตัวภาษาอังกฤษที่เราคลุกคลีอยู่แล้ว มันได้กลายเป็นว่า เราได้ไปศึกษาภาษากลุ่มอื่นๆด้วย”


ที่ว่าของคำที่ว่าด้วย “สมญานามนางงาม”

นอกจากงานวิจัยที่ว่านี้ ครูปุ๋ยมีงานวิจัยเกี่ยวกับนางงามเรื่องล่าสุดคือ “การศึกษาการสร้างสมญานามนางงามของแฟนนางงามไทยในเฟซบุ๊กแฟนเพจการประกวดนางงาม” อีกด้วย เป็นผลงานต่อเนื่องจากงานวิจัยการใช้สแลงของแฟนนางงามไทย ซึ่งครูปุ๋ยมองว่า ความน่าสนใจเกิดจากการที่ไม่รู้จักที่มาของสมญานามว่ามีต้นสายปลายเหตุจากอะไร เป็นต้นว่า ประโยคฮิตที่ว่าด้วย “แดงไหน” ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างมากในกลุ่มของ LGBTQ+ และในกลุ่มของผู้หญิง จึงเป็นที่มาที่จะต้องไปสืบค้นเพิ่มเติมต่อ


“คำว่า “แดงไหน” มาจากชุดของน้องนิ้ง โศภิดา ตอนประกวดเค้าใส่ชุดสีแดงแล้วเวลาเพื่อนๆ คุยกันถ้าเรื่องแดงไหนปุ๊บก็จะหมายถึงน้องนิ้ง โศภิดา หรือว่ากลุ่มนางงามกลุ่มแก๊งพลังใบ ไฮดี้พลังใบ อย่างนี้ ซึ่งกลุ่มนี้เขามีพลังกันอยู่ตลอดเวลา หรือว่าอย่างน้องขนม ทารีน่า ที่เพิ่งประกวดมิสเวิลด์ที่ผ่านมา จริงๆ เขาก็มีฉายานะ เขามีฉายาว่า สส. ขนม ซึ่งเราก็เอ๊ะ คิดว่า สส. นี่มาจากไหน ก็ทำการศึกษา กลายเป็นว่า ทารีน่า เนี่ยเขาเป็นคนที่ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เขาไปตามฟอลโล่ทุกคน เขาให้กำลังใจทุกคน ทุกคนก็รู้สึกว่ากริยาหรืออาการที่ ทารีน่า ทำเนี่ยมันคือการทำเหมือน สส. ก็เลยเรียก ทารีน่า ว่า สส.ไป ลักษณะแบบนี้ค่ะ

จึงเป็นที่มาของการรวบรวมเขียนออกมาเป็นงานวิจัย โจทย์คือจะทำยังไงให้ทุกคนได้เข้าใจเหมือนกัน คือถ้าเกิดใครเข้ามาในกลุ่มนางงามแล้วไม่เข้าใจก็สามารถนำงานวิจัยมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจในบริบทที่มาของสมญานามนางงามต่างๆได้ ซึ่งก็จะช่วยให้ทำความเข้าใจได้มากขึ้น ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ว่ามันไม่มีวันสิ้นสุด เราอยู่ตรงไหนเราก็เรียนรู้ได้ เราอยู่วงการกีฬา เราก็ศึกษาภาษาที่เกี่ยวกับกีฬา ภาษาลูกหนัง เราอยู่การเมืองก็จะมีภาษาการเมืองที่ศึกษา เรามีกลุ่มที่เป็นการค้าขาย กลุ่มการขายออนไลน์ก็จะมีคำพิเศษของเขาที่เขาใช้กันอยู่ ซึ่งอยากให้ทุกคนลองมองรอบตัว มันอาจจะไม่ใช่ภาษาอังกฤษก็ได้ มันอาจจะเป็นภาษาไทยรอบตัวเรา ที่มันทำให้เราเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกับที่เราเรียกว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong Learning”


ภาษาดิ้นได้


ความสนุกในเรื่องของภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาของกลุ่มใด ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ในตัวมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาใหม่ๆของวัยรุ่นปัจจุบัน มีบ่อยครั้งที่ครูปุ๋ยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้ภาษาเหล่านี้

“ทุกวันนี้มีการนำเอาสแลงมาใช้ร่วมกันในชีวิตประจำวัน มีการพิมพ์ถูกพิมพ์ผิดกันมากขึ้น ดูได้จากเฟซบุ๊ก มีการสะกดผิด ซึ่งส่งผลให้การพูดในภาษาชีวิตประจำวันก็ผิดด้วยเช่นกัน หรือความกังวลว่าถ้อยคำบางคำจะหยาบไปหรือไม่ ครูปุ๋ย อยากจะบอกว่าภาษามันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือภาษามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ปัจจุบัน เขาก็เข้าใจได้ และเขาก็แยกแยะออกตรงไหนควรพูดตรงไหนที่ไม่ควรพูด เขาแยกแยะออก ปัจจุบันเขาโตเกินกว่าที่เราจะนั่งจ้ำจี้จ้ำไช

แต่อยากให้ผู้ปกครองมองอย่างนี้ค่ะว่าทุกวันภาษาเรามีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างงานวิจัย ครูปุ๋ยมีการระบุคำว่า “ฉ่ำ” ลงไป แต่คำว่าฉ่ำจะแปลว่าสวยเท่านั้นในปี 2021 ถึงปี 2022 แปลว่าสวยเฉยๆ แต่ปัจจุบันในปี 2024 คนใช้คำว่าฉ่ำกันเกลื่อนมาก ฉ่ำแบบสวยฉ่ำ เธอกินฉ่ำก็คือเธอกินเยอะ คือกลายเป็นว่าภาษามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าเราย้อนกลับไปสมัยครูปุ๋ยเด็กๆ เราจะเจอคำว่า “จ๊าบ” ปัจจุบันก็ไม่ใช้กันแล้ว ถามว่าใครใช้จ๊าบถือว่าโบราณมาก เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับภาษามีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเกิดเราอยากให้ช่องว่างระหว่างวัยมันน้อยลง เราอาจจะต้องลองศึกษาภาษาที่เขาใช้อยู่ในปัจจุบัน พูดคุยกับเขา มันอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเราใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าคำนั้นมันตายไปนะ มันมีการดิ้นอยู่ตลอดเวลา เช่นปีหน้าเราอาจจะไม่ใช้คำว่าฉ่ำแล้วก็ได้ ก็เหมือนคำว่าจ๊าบที่มันจบไปแล้ว อยู่ดีๆก็มีเพลง ‘จ๊าบของแท้’ มาในปีนี้ ปีหน้ามันอาจจะเป็นคำอื่น อย่างตอนนี้คำว่า “เฟี้ยว” คำว่า “แรง” คำว่า “เบอร์แรง” คำว่า “สุด” กำลังอยู่ในกระแส อีกหน่อยอาจจะไม่เจอคำนี้แล้วก็ได้

จริงๆ เราน่าจะจดไว้ แล้วเดี๋ยวปีหน้ามาดูกันว่า เขาใช้คำว่าอะไร เขาอาจจะมีคำเพิ่มเติมที่มันอาจจะสนุกสนานมากขึ้นหรือมันอาจจะมีคำที่แปลกแหวกแนวมากขึ้น แต่ว่ามันก็ทำให้ชีวิตมันมีสีสันและภาษาก็มีสีสันและช่องว่างระหว่างวัยลดลงด้วย”





กำลังโหลดความคิดเห็น