วันอนามัยโลก WHO หนุนช่วยกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิสุขภาพผ่านดิจิทัล พบเรียกเก็บค่ารักษากลุ่มไร้สถานะและสิทธิไม่ได้เฉลี่ยปีละ 2,564 ล้านบาท สธ.ใช้แพลตฟอร์ม HINT เพิ่มเข้าถึงกลุ่มคนไร้สถานะ ช่วยให้ได้เงินคืนใน 1 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ ภายในงานวันอนามัยโลก ประจำปี 2567 และครบรอบ 76 ปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิด้านสุขภาพเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดย WHO มุ่งมั่นในการส่งเสริมสุขภาพและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสิทธิทางสุขภาพ หมายถึง บริการด้านสุขภาพที่ มีคุณภาพ, พร้อมใช้งาน, เข้าถึงได้, ยอมรับได้และสามารถให้บริการได้ ตลอดเวลาและทุกที่ สำหรับทุกคน รวมถึงการมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม การศึกษา การได้รับข้อมูลข่าวสาร น้ำดื่มและอากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าใกล้การบรรลุวิสัยทัศน์ของการดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขทำทันที นอกจากจะดำเนินการในผู้มีสิทธิด้านสุขภาพแล้ว ยังดำเนินการในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและมีสุขภาวะ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สอดรับกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (Country Cooperation Strategy : CCS) พ.ศ. 2565 – 2569 ในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม
นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทยและงบประมาณในการดูแลสุขภาพในช่วง 4 ปี ดังนี้ ปี 2564 จำนวน 554,137 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,397 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,575 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน 604,394 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,148 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,544 ล้านบาท
ปี 2566 จำนวน 696,522 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,212 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,598 ล้านบาท
ปี 2567 ( ณ 19 เม.ย.)จำนวน 731,180 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,513 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริงไปแล้ว ราว 656 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม้ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดนปีงบประมาณ 2562-2566 เฉลี่ย 2,564 ล้านบาทต่อปี แยกเป็น
ปี 2562 จำนวน ราว1,894 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวนราว 1,763 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวนราว 3,514 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวนราว 3,597 ล้านบาท
ปี 2566 จำนวนราว 2,054 ล้านบาท
“ค่าใช่จ่ายในการดูแลกลุ่มที่ไม่มีสิทธิต่างๆ ประเทศไทยรองรับที่เรียกเก็บไม่ได้ราว 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแนวทางในการพัฒนาต่อไป คื การสร้างความร่วมมือเครือข่ายรัฐ-เอกชน ,การใช้ระบบดิจิทัลในการพัฒนาสุขภาพ โดยเชื่อมต่อข้อมูล ,การจัดบริการที่เน้นการเข้าถึงและเหมาะสมกับกลุ่มเปราะบาง และการพัฒนากองทุนสนับสนุนการดำเนินงาน ปีละ 2,500 ล้านบาทให้เป็นกองทุนระหว่างประเทศร่วมกันเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการ”นพ.ดิเรกกล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ WHO และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เช่น โครงการพัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT)
นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีโมดูล 6 เรื่อง ได้แก่
1.เชื่อมข้อมูลทั้งประเทศแบบเรียลไทม์ 2.จัดการทะเบียนสิทธิ สามารถเข้าถึงและยืนยันตัวบุคคลได้ทันที่ที่ใช้บริการ 3.รพ. หน่วยบริการสามารถประเมินและรับรู้มูลค่าของการจ่ายค่าชดเชยได้ทันที 4.สามรถเคลมและเทร็คกิ้งได้ตลอดเวลาจนกระทั่งหน่วยบริการได้รับเงินค่ารักษาคืน 5.เก็บข้อมูล Bigdata และ6. แสดงเป็น Business Intelligence
ปัจจุบันมีเครือข่ายหน่วยบริการทั่วประเทศ 1,048 แห่งครบถ้วน สามารถเข้าถึงและเชื่อมข้อมูลบริการได้แบบเรียลไทม์ โดยสามารถเข้าใช้งานด้วยระบบยืนยันตัวตันที่ทันสมัยและปลอดภัย เข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ประวัติแพ้ยาส่วนบุคคล และโรคประจำตัว ยาที่เคยได้รับ และอื่นๆ ไม่ว่าจะเข้ารับบริการที่รพ.ใดก็ตาม อำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับบริการและการรักษา นอกจากนี้ ทำให้ได้ Big Data เช่น โรคที่พบมาก มูลค่าการรักษารายโรค หรืองบประมาณที่จัดสรรลงไปให้รพ.และจ่ายเงินตามรายเคส และจำนวนผู้มีสิทธิทั่วประเทศ เป็นต้น
“แนวคิดพัฒนาในระยะต่อไป จะมีการขยายผลการใช้ไปยังกองทุนประกันสุขาพภาครัฐอื่นๆ โดยจะขยายไประบบกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพแบบออนไลน์ ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ตลอดเวลา จองคิวตรวจสุขภาพในโรงพยาบาล และใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์” นพ.สวัสดิ์ชัยกล่าว
นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เชียงรายมีประชากรคนไทยประมาณ 1.29 ล้านคน ส่วนใหญ่มีสิทธิรักษาพยาบาล บัตรทอง 30 บาท คิดเป็น 70 % บุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิราว 130,000 คน หรือ 10 % ส่วนใหญ่อยู่ที่อ.เมือง แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และแม่จัน ในการจัดบริกาดำเนินการให้ทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติ มีการรับบริการอย่างเท่าเที่ยมทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค
ในส่วนของคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ จ.เชียงราย ได้ลงแพลตฟอร์ม HINT เมื่อ พ.ย.2566 ทำให้เกิด WIN WIN ทั้ง 2 ฝ่าย โดยในส่วนผู้รับบริการเกิดความสะดวกกับผู้รับบริการในการยืนยันบุคคล เนื่องจากมีการถ่ายภาพ รูปภาพและสแกนลายนิ้วมือ ได้รับบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพคุณภาพ และส่วนของรพ.เดิมกว่าจะได้คืนเงินค่ารักษาใช้เวลาอย่างต่ำ 6 เดือน เมื่อใช้HINT ได้รับเงินคืนก็ใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ที่จะมีเงินต่างๆเข้าไปหมุนในระบบ เพื่อจัดบริการสุขภาพให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น