เมียนมาหนีตายเข้าไทย 3,027 คน สธ.เผยเจอบาดเจ็บจากเหตุสู้รบอีก 32 คน อาการหนักสีแดง 8 คน จัดทีมดูแลสุขภาพ คัดกรองเฝ้าระวังโรค สุขาภิบาล ด้าน ผอ.รพ.แม่สอดประกาศแผนฉุกเฉินสูงสุดระดับ 5 เตรียมเจ้าหน้าที่ รถฉุกเฉินช่วยเหลือไม่แยกแยะฝ่าย
จากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ระหว่างกองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และทหารเมียนมาพื้นที่สะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียนมา) บ.เยปู่ อ.เมียวดี จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้าม บ.วังตะเคียนใต้ ม.7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 1.5 กิโลเมตร ทำให้มีชาวเมียนมาหลบหนีเข้าฝั่งไทย อ.แม่สอด จ.ตาก
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากฝั่งเมียวดีเข้ามายังพื้นที่ จ.ตาก ว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฝั่งเมียนมา ห่างจากแนวชายแดนไทยประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตั้งแต่คืนวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีชาวเมียนมาหนีภัยความไม่สงบข้ามมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นจำนวนมาก โดยวันนี้ได้รับรายงานจาก นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ว่าขณะนี้มีผู้หนีภัยฯ เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จ.ตาก จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งหมด 3,027 คน เป็นชาย 1,128 คน หญิง 1,118 คน และเด็ก 781 คน ซึ่งวันนี้ รพ.ได้รับผู้บาดเจ็บชาวเมียนมาจากบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เข้ารับการรักษา รวม 32 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักสีแดง 8 ราย อาการปานกลางสีเหลือง 17 ราย และอาการเล็กน้อยสีเขียว 7 ราย โดย รพ.แม่สอดมีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้หนีภัยฯ เข้ามาเพิ่มขึ้น สธ.ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งประสานหน่วยงานเอกชน(NGO) ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้หนีภัยฯ ที่เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม โดยจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คัดกรองและเฝ้าระวังโรคติดต่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น มาลาเรีย ตั้งจุดปฐมพยาบาลดูแลสุขภาพ และตรวจสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ พร้อมทั้งมีแผนเตรียมการด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.รเมศ ว่องวิไรรัตน์ ผอ.รพ.แม่สอด ประกาศแผนฉุกเฉินระดับ 5 ระดับสูงสุด โดยเตรียมเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย รวมทั้งรถฉุกเฉินเครือข่ายนับสิบคัน ช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ได้รับบาดเจ็บมาจำนวนมากโดยไม่สามารถแยกแยะผู้ได้รับบาดเจ็บว่า ฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายทหารเมียนมา รวมทั้งประชาชน แต่ทางโรงพยาบาลไม่ได้แยกแยะ ถือว่าเป็นผู้ป่วยโรงพยาบาลทั้งสิ้น และดูแลตามหลักมนุษยธรรม