"ชลน่าน" เปิดสถานชีวาภิบาล “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี เป็นต้นแบบเขตสุขภาพที่ 4 ใช้อาคารรักษาผู้ป่วยเอดส์เดิม ปรับปรุงโฉมใหม่ ดูแลพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวม 32 เตียง พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการมาตรา 3 เบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ สปสช. ช่วยลดค่าใช้จ่ายวัด เจ้าอาวาส ตั้งเป้าเป็นฮับและศูนย์ฝึกดูแลผู้ป่วย พร้อมขอสนับสนุนเป็นคลังยา
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหารเป็นประธานเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี พร้อมมอบเกียรติบัตรการรับรองสถานชีวาภิบาลในชุมชนและองค์กรศาสนาและเกียรติบัตรขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นโยบายสถานชีวาภิบาล เรานำสิ่งที่วัดพระบาทน้ำพุทำมากำหนดในนโยบายและหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อเป็นรัฐบาลก็ประกาศนโยบายจะมีสถานชีวาภิบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้จากไปอย่างสงบและมีความสุข ทั้งนี้ ปัจจุบันประชากรสูงอายุและพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เจ็บป่วยในระยะท้ายเพิ่มมากขึ้น สธ.จึงขับเคลื่อนนโยบาย 1 เขตสุขภาพ 1 สถานชีวาภิบาล เพื่อดูแลพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งสุขภาพกาย ใจ ปัญญา และสังคม โดยมีพระคิลานุปัฏฐากและผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Care Giver) ที่ผ่านการอบรม ร่วมกันดูแล กิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่จำเป็น และพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ บูรณาการทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยพื้นฐานการดูแลแบบประคับประคอง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า จังหวัดลพบุรี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุ 21.1% เป็นผู้ที่มีภาวะติดเตียง 1,051 คน มีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2,670 คน จำนวนนี้เข้าสู่ระบบดูแลแบบประคับประคอง 1,921 คน หรือ 71% ได้พัฒนาต่อยอด "วัดพระบาทน้ำพุ" ให้เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 4 เนื่องจากมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยประคับประคองมายาวนานถึง 31 ปี โดยใช้อาคารวลัยลักษณ์ ซึ่งเดิมเป็นสถานที่รักษาและพักฟื้นผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ มาปรับปรุงเป็นสถานพักฟื้นให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวม 32 เตียง ประกอบด้วย 3 ห้องใหญ่ คือ ห้องหญิง 10 เตียง ห้องชาย 10 เตียง พระสงฆ์ 10 เตียง และ 2 ห้องเล็ก คือ ห้อง End of life 2 เตียง
"สปสช.ได้สนับสนุนขึ้นทะเบียนสถานชีวาภิบาล วัดพระบาทน้ำพุ เป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยตามสิทธิประโยชน์ ก็จะบรรเทาค่าใช้จ่ายทั้งวัด ประชาชนและญาติที่ต้องเข้ามาดูแล นอกจากนี้ สถานชีวาภิบาลยังรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นำบัตรประชาชนใบเดียวก็มารับบริการได้ โดยจะ รพ.ในพื้นที่ทำการดูแลผ่านระบบเทเลเมดิซีนและเทเลคอนซัลเข้ามายังที่วัด" นพ.ชลน่านกล่าว
พระราชวิสุทธิประชานาถ กล่าวว่า วัดพระบาทน้ำพุเป็นวัดแรกที่เปิดรับดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายเมื่อ 31 ปีที่แล้ว สมัยนั้นปัญหาเอดส์เป็นรุนแรง ชาวบ้านไม่ต้อนรับผู้ป่วย มีการต่อต้านด้วยความไม่เข้าใจ เกิดความกลัวและรังเกียจ เราใช้ความอดทนเพียรพยายามสร้างความรู้ชาวบ้าน สุดท้ายเอาชนะใจชาวบ้านได้ ชาวบ้านก็มาช่วยเป็นอาสาสมัคร ใช้แนวคิดการบูรณาการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทุกวันนี้จึงเป็นเหมือนกับศูนย์พักพิงของผู้ป่วยโรคเอดส์และลูกหลาน นอกจากนี้ ยังมีการคิดมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยสร้างรพ.ขนาด 400 เตียง แต่ไม่มีหมอ พยาบาลที่จะเปิดดำเนินการได้ เพราะมองเห็นอนาคตบ้านเมืองว่า จะมีผู้สูงอายุมากมายที่ไม่มีลูกหลานก็จะถูกทอดทิ้ง ได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลงหรือไม่มีลูก ไม่อยากมีลูก สธ.เองก็ประเมินว่าอนาคตประชากรเราจะลดลงเรื่อยๆ เด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคน อีก 30-40 ปีข้างหน้าประชากรเราอาจเหลือครึ่งเดียว ปัญหาผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นมากมาย เพราะไม่มีลูกหลาน แต่โชคดีที่เรามีกระบวนการดูแลในรูปแบบของ อสม. จิตอาสาและองค์กรรัฐเอกชนที่เข้มแข็งด้านสาธารณสุข
"คนลพบุรียินดีกับสิ่งนี้ เพราะเราเป็นศูนย์ผู้สูงอายุอยู่แล้ว มีผู้สูงอายุมาทำกิจกรรม 200-300 คน แต่อีกด้านหนึ่งผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขเราก็คงรับปัญหานี้ไม่ไหวทั้งหมด จึงเป็นแนวคิดที่ดีที่ให้มีสถานชีวาภิบาลเหมือนวัดพระบาทน้ำพุหลายๆ แห่ง แต่อยากฝาก สธ.ว่าอยากให้ที่นี่ควรเป็นเหมือนเป็นฮับดูแลวัดทุกอำเภอในเรื่องสถานชีวาภิบาล เพราะมีความเข้าใจระบบการแพทย์และระบบสื่อสาร และวัดควรเป็นเหมือนคลังยาด้วย โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่จะเอามาช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณยาแผนปัจจุบัน ต่อไปวัดพระบาทน้ำพุจะเป็นหน่วยสนับสนุนยาเวชภัณฑ์เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้นแบบและศูนย์ฝึก สร้างคนสร้างระบบในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย" พระราชวิสุทธิประชานาถกล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ขึ้นทะเบียนวัดพระบาทน้ำพุเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขตามมาตรา 3 แล้ว ซึ่งเราสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุข เบิกอะไรได้บ้างจะอยู่ที่การจัดบริการอะไรแก่ผู้ป่วย เช่น อาหาร ยา แต่เราไม่ได้แยกเป็นรายการ เราจ่ายเหมาให้ไปดูแลจะง่ายกว่า ซึ่งทางวัดบอกว่าไม่ได้ต้องการตรงนี้ แต่ต้องการสิ่งที่ภาครัฐรับรองว่าถูกกฎหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นส่วนเสริมเพื่อให้ขยายงานได้เร็วขึ้น โดยอัตราเหมาจ่ายที่กำหนดไว้คือ คนไข้ 1 คนให้ 10,442 บาท/คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 6 พันบาท เพราะต้องมีค่าจ้างผู้ดูแลต่างๆ ด้วย
ถามว่าสถานพยาบาล 400 เตียงของวัดก็ขึ้นทะเบียนด้วยหรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า เราขึ้นทะเบียนทั้งวัด ส่วนบริการจะจัดอย่างไรเป็นเรื่องของวัด จำนวนเคสก็ขึ้นกับบริการที่มี ถ้ามี 400 เตียง เราก็จ่ายให้ 400 คน แต่เราคงไม่ได้มาดูว่าตึกเป็นอะไรอย่างไร จะมีสาธารณสุขตรวจว่าตามมาตรฐานหรือไม่ โดยวัดจะมีหน่วยกลไกมาจัดการ เช่น มูลนิธิ รพ. รพ.สต.มาบริหาร เป็นต้น