ผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าต่างๆ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ยา ฯลฯ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแค่ไหน ปัจจัยสำคัญคือการคัดกรองและการตรวจของด่าน อย.ตามจุดชายแดนต่างๆ
แต่ละด่าน อย.จะมีสินค้านำเข้าแตกต่างกันออกไป บางจุดมีผักผลไม้เข้ามามาก บางจุดเป็นอาหารทะเล การสกรีนจึงมีความแตกต่างกันไปตามสินค้าที่นำเข้ามา
อย่างไรก็ตาม การเก็บตัวอย่างตรวจ ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผอ.กองด่านอาหารและยา อย. ระบุว่า ที่ด่านจะสุ่มตรวจสินค้าด้วยชุดทดสอบ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.แผนเฝ้าระวังปกติ เมื่อมีสินค้าเข้ามาก็จะบอกว่า ต้องเก็บมาตรวจมากน้อยแค่ไหน เช่น แอปเปิ้ลเก็บกี่ผล ถ้าผลผ่านก็ปล่อยสินค้าได้ แต่ถ้าผลเป็นบวกก็จะส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ตรวจยืนยัน ถ้าไม่ผ่าน สินค้าที่มาจากแหล่งผลิตนั้นจะถูกส่งเข้าระบบกักกัน
2.สินค้าเสี่ยงสูงในระบบกักกัน อย่างผักผลไม้ที่ล็อตก่อนหน้านี้ตรวจพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ หรือผลตรวจตกซ้ำๆ ก็จะเข้าสู่ระบบกักกัน ทุกชิปเมนต์ที่เข้ามาจะต้องถูกตรวจทุกชิปเมนต์
3.แผนกรณีพิเศษ เช่น กรณีเกิดเหตุการณ์พิเศษที่ต้องตรวจเพิ่ม อย่างกรณีโรงงานไฟฟ้านิวเคลีนร์ฟูกุชิมะ ก็จะเก็บตัวอย่างทุกชิปเมนต์ เป็นต้น
สำหรับชุดทดสอบอย่างการตรวจสารเคมีในผักผลไม้ ของด่าน อย.สะเดา จะมีน้ำยาที่เป็นตัวตัดสินและตัวควบคุม เป็นเกณฑ์หลัก หากผลการตรวจของตัวอย่างได้สีออกมาเท่ากับหรือน้อยกว่าหลอดควบคุม คือ ไม่พบยาฆ่าแมลง
หากสีของตัวอย่างมากกว่าตัวควบคุมแต่น้อยกว่าตัวตัดสิน คือ พบสารเคมีแต่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยถือว่าผ่าน แต่หากตัวอย่างสีเข้มเท่ากับหลอดตัดสินหรือมากกว่า แสดงว่าไม่ปลอดภัย ต้องส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันอีกที
นอกจากนี้ บางรายการจะเป็นการตรวจร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ศุลกากร โดย อย.จะดูใบอนุญาตและตัวสินค้าว่าตรงกันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะมีเอกสารสำคัญมาแสดงต่อ อย. อย่างยาก็ต้องดูว่าเป็นไปตามข้อกำหนดที่จดทะเบียนไว้กับ อย.หรือไม่ ขณะที่ศุลกากรก็จะดูพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พอทั้งสองเรื่องครบถูกต้องตรงกันก็สามารถปล่อยผ่านสินค้าล็อตนี้เข้าประเทศได้ ถ้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดก็ต้องดำเนินการยึดอายัดตามข้อหาความผิด
ขณะที่ด่าน อย.ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะมีกระบวนการตรวจสินค้านำเข้าอีกลักษณะ โดยขั้นตอนการตรวจสอบ ดร.วัฒนศักดิ์ระบุว่า
หลังจากที่ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินจะเจอด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศก่อน เพื่อคัดกรองโรคในคนก่อน เช่น กรณีมีโรคติดต่ออันตรายก็จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายไปยังจุดอื่น จากนั้นจึงจะเข้าสู่ด่าน ตม. ซึ่งจะแบ่งแยกคนไทยและต่างชาติ
เท่าที่ทาง ตม.อธิบาย พบว่า มีการดำเนินการเพื่อให้ผู้โดยสารคล่องตัวขึ้น โดยลดขั้นตอนคนไทยไม่ต้องถ่ายรูป สแกนลายนิ้วมือ ใช้เวลา 20 วินาทีต่อคน ส่วนต่างด้าวใช้เวลาตรวจไม่เกิน 30 วินาทีต่อคน ไม่ต้องสแกนบอร์ดดิงพาส ไม่ต้องใส่ที่พักโรงแรม ก็ทำให้เร็วขึ้น ดำเนินการกับผู้โดยสารจากทุกประเทศเหมือนกันหมด ซึ่งกรณีมีคนน่าสงสัยจะมีแบล็กลิสต์วอตช์ลิสต์แจ้งเข้ามา
จากนั้นจะมารับกระเป๋าที่สายพาน ก็จะเข้าสู่โซนด่าน CIQ โดย C คือ Costom , I คือ Immigration และ Q คือ Quarantine หลายหน่วยงานหลายกระทรวงจะอยู่ตรงนี้ รวมถึงด่าน อย.ด้วย
ผู้โดยสารจะต้องเลือกเข้าเรดไลน์ หรือกรีนไลน์ ซึ่งเรดไลน์คือมีการนำสิ่งของที่ต้องสำแดง ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารต้องรู้ก่อนเดินทาง สามารถตรวจสอบรายละเอียดก่อนได้ เช่น ของต้องเสียภาษี กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น หากเป็นผลไม้จากต่างประเทศก็ต้องสำแดง จะมีด่านตรวจพืชกำกับ เป็นต้น ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจสัมภาระผู้โดยสารให้สแกนกระเป๋า
ทั้งนี้ หากสแกนเจอของที่ผิดปกติ นายตรวจจะเชิญเจ้าหน้าที่ด่านตรวจร่วมมาตรวจบริเวณหลังเคาน์เตอร์ เพื่อเปิดกระเป๋าตรวจสอบ เช่น พบว่ามีการพก อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง แบบผิดปกติเข้ามาก็จะเชิญด่าน อย.มาร่วมดู หรือพกสมุนไพรเข้ามาก็จะมีด่านพืชมาร่วมดู เป็นต้น
เราก็จะพิจารณาว่าผ่อนผันได้หรือไม่ เอามาใช้วัตถุประสงค์อะไร ถ้าบอกว่าเอามาใช้เอง ก็จะมีข้อกฎหมายประกาศ อย.ว่าไม่เกิน 6 ชิ้นต่อรายการ เช่น ครีมคนละชนิด ก็จะได้ชนิดละ 6 หลอด แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30 ชิ้น จะเกิน 30 ชิ้นไม่ได้ ถ้าเกินก็ต้องอธิบาย เช่น หากพกยามาแล้วมีใบรับรองแพทย์ว่าต้องใช้ โดยอยู่ในประเทศนาน ก็จะพิจารณาตามความจำเป็นที่ต้องใช้ เป็นต้น ซึ่งหากไม่อนุญาตให้นำเข้ามากิน ก็จะพกเข้าไปได้แค่ที่อนุญาต ส่วนที่เหลือก็ต้องส่งมอบไว้ที่ด่าน จะเสียค่าปรับแล้วขอเอาเข้าไปทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งสินค้าที่ส่งมอบนี้เราจะรวบรวมนำไปทำลายภายหลัง
สำหรับการพัฒนาด่าน อย.นั้น นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ ต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรวดเร็วอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการเคยสะท้อนเรื่องนี้ เนื่องจากบางรายการ อย่างการตรวจผัก อาจต้องตรวจหาสารกว่า 130 ชนิด แต่ชุดตรวจไม่ครอบคลุม ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่า 24 ชั่วโมง จึงนำมาสู่การหารือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตรวจสอบต่างๆรวดเร็ว ภายใต้เงื่อนไขประชาชนปลอดภัย
ดังนั้น จึงนำมาสู่การผลักดัน “One ด่าน One Lab One Day” ซึ่งรายงานให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทราบถึงความจำเป็นดังกล่าวแล้ว เพราะยิ่งช้า ผู้บริโภคก็อาจเสี่ยงได้เช่นกัน แต่หากสามารถทำให้ด่าน อย. สามารถทำงานจบได้เพียงจุดเดียว คล้ายๆ One Stop คือ ตรวจที่ด่าน และมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบได้ ทราบผลภายใน 1 วันก็จะทำให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องการตรวจไปยังอีกสถานที่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่ง
ขณะนี้ได้มอบให้กองด่านอาหารและยา รวบรวมข้อมูลความจำเป็นว่า แต่ละด่านมีความจำเป็นต้องปรับเป็น One ด่าน One Lab One Day หรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีด่านทั้งหมด 52 ด่าน เป็นด่านเก่า 49 ด่าน และเพิ่มตั้งใหม่ 3 ด่าน ซึ่งเมื่อรวมรวมข้อมูลแล้วจะนำเรียน รมว.สธ.เพื่อพิจารณาต่อไป และนำไปสู่การออกแบบตัวระบบ เช่น
การออกแบบห้องปฏิบัติการต้องตั้งที่ด่าน อย. ต้องมีทั้ง “เงิน คน ของ” อย่างเครื่องที่ใช้ในการตรวจสอบของแล็บเฉลี่ย 20 กว่าล้านบาท จะให้ทันต่อปริมาณที่เข้ามาต้องมีถึง 2 เครื่อง เมื่อมีห้องตรวจ ก็ต้องมีคน โดยคนต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ต้องแบ่งเป็นกะ อย่างน้อยต้องมี 4-5 คน ดังนั้น ก็ต้องมาดูความจำเป็นว่า อย.จะทำเอง โดยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดตั้งแล็บที่ด่านหรือจะร่วมกับภาคเอกชน
"เรื่องนี้นับเป็นนโยบายระดับชาติ ต้องหารือร่วมกันหลายฝ่าย อย่างกระทรวงพาณิชย์ หรือจะดึงภาคเอกชนมาเป็น Out Sourse ก็ต้องมาพิจารณางบประมาณดำเนินการ ซึ่งแต่ละปี อย.ได้งบประมาณเรื่องนี้ 10 กว่าล้านบาท จริงๆ ต้องใช้หลายร้อยล้านบาท ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ได้งบเพียงพอ ขณะนี้ได้มอบหมายทำแผนดำเนินการออกมา จะสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ควรร่วมมือกับเอกชน หรือเราจะทำเอง โดยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากเราทำเองก็จำเป็นต้องมีงบประมาณ ทั้งเงิน คน ของ ต้องครบถ้วน เพราะเมื่อเราเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวตั้ง ก็จะคล้ายๆ การสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องสร้างเพื่อประชาชน" นพ.ณรงค์กล่าว