กรมควบคุมโรค ติดตามผลกระทบแอมโมเนียรั่วไหลโรงงานน้ำแข็ง "ชลบุรี" 3 โซนสีแดง-เหลือง-เขียว ยังไม่พบแอมโมเนียเกินมาตรฐาน ย้ำวิธีป้องกันแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงาน
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเหตุแอมโมเนียรั่วไหล ภายในโรงงานน้ำแข็ง จ.ชลบุรี ว่า แอมโมเนีย มีสถานะเป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูงจัด เป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำ เป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้
อุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับพนักงาน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1.สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการป้องกันตนเอง 2.หมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาถัง/ท่อส่งก๊าซอย่างสม่ำเสมอ 3.จัดเก็บถังแอมโมเนียในพื้นที่ที่ปลอดภัย 4.จัดทำแผนและซ้อมแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่เกิดเหตุ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1.ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด 3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดและถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที 4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 5.โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรคได้ประเมินพื้นที่รับผลกระทบจากเหตุแอมโมเนียรั่วไหล ซึ่งค่าแอมโมเนียในอากาศจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ประมาณ 25 ppm โดยจากการตรวจวัดพื้นที่ผลกระทบโดยตรง (สีแดง) พื้นที่ผลกระทบปานกลาง (สีเหลือง) และพื้นที่ผลกระทบน้อย (สีเขียว) ซึ่งพิจารณาตามทิศทางลม ทั้ง 3 โซนไม่มีจุดใดเกินค่ามาตรฐานในสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่สีแดงตรวจวัด 3 จุด คือ ด้านข้างโรงงาน (ซ้าย) อยู่ที่ 2.1ppm หน้าศูนย์การศึกษาพิเศษ 2.0ppm และด้านหน้าโรงงาน 5.2ppm พื้นที่สีเหลืองตรวจ 4 จุด คือ หน้าร้านสะดวกซื้อ 4pp, ถนนในหมู่บ้านเอื้ออาทร 4.2ppm ริมถนนเลียบทางรถไฟหลังโรงงาน 39.ppm และจุดคัดกรอง 2.2ppm ส่วนพื้นที่สีเขียว บริเวณหน้าป้อมเฟส2ป้อม2 อยู่ที่ 1.18 ppm