xs
xsm
sm
md
lg

มช. เตรียมความพร้อม ! 2 เวทีการแข่งขันวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ และการแข่งขัน วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



​มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิทยาศาสตร์ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 2 เวทีวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ “คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21” และการแข่งขัน “วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4” เพื่อเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทยร่วมแข่งขันในเวทีโลก

​ในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 นี้ คณะวิทยาศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 (The 21st Thailand Mathematical Olympiad (21st TMO) ระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤษภาคม 2567 และการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4 (The 4th Thailand Earth Science Olympiad (4th TESO) ระหว่างวันที่ 20 - 24 พฤษภาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

​การจัดการแข่งขันทั้ง 2 เวที มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ อีกทั้งเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อเฟ้นหาผู้แทนประเทศไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป

​สำหรับสาขาคณิตศาสตร์ นับเป็นสาขาแรกที่ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ 2532 โดยในประเทศไทยมีการจัดแข่งขันครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2547 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหลังจากนั้นมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในโครงการก็ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

​ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ เป็นสหวิชาที่ว่าด้วยธรรมชาติของโลกทั้งระบบ ตั้งแต่การกำเนิด ขนาด องค์ประกอบ วิวัฒนาการ ร่วมถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดาวดวงอื่นๆ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ จึงถือเป็นสหวิชาที่ต้องมีการบูรณาการ ผสมผสานความรู้หลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยา และวิชาเฉพาะอื่นๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือ วิชาธรณีวิทยา วิชาปฐพีวิทยา วิชาสมุทรศาสตร์ วิชาอุทกศาสตร์และบรรยากาศ และวิชาดาราศาสตร์ โดยการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2564 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

​คณะวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นว่าการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ทั้ง 2 สาขา จะมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนไทยในการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนทั่วประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันในครั้งนี้ จะสามารถคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพ เพื่อเข้าร่วมการอบรม และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป
​คณะวิทยาศาสตร์ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งแรงใจเชียร์เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขัน และร่วมกันผลักดันให้เด็กไทยให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการให้ทัดเทียมนานาประเทศ

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการแข่งขันทั้ง 2 เวที ได้ดังนี้
​- การแข่งขันการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21
​Facebook : TMO 21 & Math Festival 2024
​- การแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4
​Facebook : 4th Thailand Earth Science Olympiad: 4th TESO


กำลังโหลดความคิดเห็น