เครือข่ายควบคุมยาสูบกังขา สภาฯ อนุมัติงบให้ กมธ.ไปดูโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่จีน ทั้งที่ผิดกฎหมายไทย และกำลังระบาดในเยาวชน
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ อดีตนายกแพทยสมาคมโลก และนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย มีแผนจะเดินทางไปศึกษาดูงานโรงงานผลิต และตลาดการค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศจีน ทำให้เกิดข้อกังขาในความไม่ชอบมาพากลของการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายของไทย เป็นสิ่งเสพติดที่กำลังระบาดในหมู่เด็กและเยาวชนไทย
“คณะกรรมาธิการฯ ควรมีบทบาทในการหามาตรการมาควบคุมกำกับให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่กลับจะเดินทางไปดูโรงงานผลิตเสมือนต้องการส่งเสริมให้มีการเปิดขายและผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของคณะกรรมาธิการฯ และรัฐสภาไทยอย่างมาก” นพ.วันชาติ กล่าว
รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า การไปศึกษาดูงานด้านการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อการกำหนดมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะการเดินทางไปดูงานในลักษณะนี้คล้ายคลึงกับประเพณีปฏิบัติของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่มักจะพานักการเมือง ข้าราชการ และสื่อมวลชน เดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงานที่โรงงานผลิตบุหรี่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้
“เครือข่ายควบคุมยาสูบเคยตั้งข้อสังเกตการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ไว้แล้วว่ามีบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าเป็นกรรมาธิการฯ ด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3 ที่ห้ามบุคคลที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทบุหรี่ร่วมในการกำหนดนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดังนั้นการเดินทางไปดูงานโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่จีน ยิ่งสะท้อนให้เห็นความผิดปกติของการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ซึ่งมีไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและขัดต่อหลักการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกด้วย” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว
ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ควรจะศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม กฎหมายที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และกระบวนการการบังคับใช้กฎหมาย ในประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เปรียบเทียบกับประเทศที่เปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือประเทศที่กำลังจะออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างบรูไน โดยควรขอข้อมูลจากหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงดิจิทัลฯ หรือหากทางคณะกรรมาธิการฯ ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสารวัดระดับสารเคมีต่าง ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมาธิการฯ อาจเชิญผู้แทนองค์การอนามัยโลกเข้ามาให้ข้อมูล เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้มีการตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์และสารเคมีในผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและให้คำปรึกษาแก่ประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว