ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะอาหารที่มาจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร แต่การจะขึ้นเชลฟ์ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท หรือส่งออกไปต่างประเทศได้ ด่านแรกที่จะต้องผ่านคือ การได้เลข อย.เป็นใบเบิกทาง
อย.เร่งปรับตัวเป็นหุ้นส่วน
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายนำสุขภาพมาสร้างและกระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งไม่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น แต่จะมีการหารือไปจนถึงผลิตภัณฑ์จากฏครงการหลวง และสมาคมแม่บ้านตำรวจด้วย เพื่อให้สินค้าเหล่านี้ได้รับเลข อย.ซึ่งจะเป็นการการันตีว่ามีคุณภาพและความปลอดภัย ทั้งขั้นตอนการผลิตและการขนส่ง
"ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่า อย.เป็นหน่วยรับตรวจ อนุมัติ อนุญาต ที่ผ่านมาเราปรับกระบวนการภายในและหลักคิดหลักปฏิบัติ มองว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญของกระบวนการให้ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพปลอดภัยแก่ประชาชน เพื่อให้ได้เลข อย.และเข้าสู่ตลาดระดับต่างๆ ได้" นพ.ณรงค์กล่าว
นพ.ณรงค์กล่าวว่า อย.แปลงตัวเองจากคนรอรับอนุญาต ไปสนับสนุนทุกขั้นตอนตั้งแต่ดูการผลิต โรงผลิต ช่วยออกแบบแปลน ให้คำปรึกดษา จนถึงอนุญาต โดยบาลานซ์ทั้งคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีหลายระดับ ให้ได้รับโอกาสที่เหมาะสม ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตภายในให้เร็ว สะดวก แต่ไม่ลดคุณภาพและความปลอดภัย โดยเข้าไปช่วยตรวจสอบสถานที่ผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัวมีความเข้มข้นไม่เหมือนกัน เช่น ยาฉีดเข้าร่างกายและเส้นเลือด ต้องสเตอไลซ์ แต่อาหารหรือยาทาภายนอก ความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ไม่มาก อาจดูความสะอาดปราศจากการปนเปื้อน โดยต้องได้มาตรฐานแหล่งผลิต ขั้นตอนบรรจุหีบห่อและขนส่ง ซึ่งจะเห็นว่าบางตัวส่งออกได้ อย่างชาไทยไปชาโลกก็มีหลายเจ้า เช่นนี้จะเติบโตเร็ว รายได้คนในชุมชนก็จะโตเร็ว
"อย่างผลิตภัณฑ์ของป้าติ้วแมงโก้ก็มองว่า หากมีการทำน้ำมะม่วงเบาแล้วมาขอเลข อย. ก็สามารถไปได้ไกลถึงขั้นส่งขึ้นสายการบินได้ ตรงนี้ก็จะเพิ่มมูลค่าและรายได้ รวมถึงการพิจารณาให้รางวัล อย.ควอลิตี อวอร์ด ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยการันตีว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัย และเป็นรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ" นพ.ณรงค์กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดสงขลาที่ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี อวอร์ด จากการลงพื้นที่ดูงานของ อย.มี 2 วิสาหกิจชุมชน คือ
"เครื่องแกงตายาย"
นางณัฐธัญรดี คงชนะ หรือขวัญ ประธานวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย เล่าความเป็นมาว่า ประมาณปี 2548 มีการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีจิตสาธารณะ ช่วยกันทำเครื่องแกงในงานต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น งานวัด งานบวช งานแต่ง หรืองานบุญประเพณีต่างๆ โดยใช้สูตรเครื่องแกงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นตายาย และได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติความอร่อย จึงคิดจัดตั้งกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 รวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อศึกษาตลาด และวัตถุดิบ ปี 2555 จัดตั้งกลุ่มผลิตเครื่องแกง ในนามกลุ่มเครื่องแกงตายาย ปี 2557 จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP “เครื่องแกงตายาย” ปี 2558 ได้การส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา กระทั่งได้รับรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (สบ.1) ในนามกลุ่มเครื่องแกงตายาย และได้หนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา
ปี 2559 - 2560 ได้รับเป็นภูมิปัญญาดีเด่นอำเภอคลองหอยโข่ง ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว และห้าดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2559 (OTOP Product Champion) ได้รับรางวัล Best of Songkhla ปี 2561 ได้รับคัดเลือกเป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด และระดับเขต และได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ และปี 2562 ได้รับรางวัล อย. ควอลิตี อวอร์ด ประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน
ผลิตภัณฑ์ตราเครื่องแกงตายายได้รับเลขสารบบอาหาร 3 ตัว คือ เครื่องแกงส้ม เครื่องแกงเผ็ด และเครื่องแกงกะทิ โดยกรรมวิธีการผลิตเครื่องแกงเน้นความสะอาดและได้มาตรฐาน ตัวอาคารโรงงานมีรั้วรอบขอบชิด ป้องกันสัตว์และแมลง คัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ ทั้งพริกสด พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม ตะไคร้ ข่า พริกไทยดำ ต้องผ่านการล้างสะอาด 3 ครั้ง ก่อนตากแดดจนแห้งหรือสะเด็ดน้ำ เพื่อให้มีน้ำในวัตถุดิบน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้นาน เข้าสู่กระบวนการชั่งน้ำหนักตามสูตร เพื่อให้ได้เครื่องแกงที่มีรสชาติคงที่ และนำเข้าสู่เครื่องบด เครื่องแกงที่ได้จะต้องตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ เช่น สี กลิ่น ความละเอียด ก่อนจะนำมาตวงบรรจุถุงตามขนาด และซีลปากถุง 2 ชั้น ซึ่งเครื่องแกงจะมีหลายขนาดให้เลือก ทั้งแบบแกงครั้งเดียว หรือขนาดใหญ่ ครึ่งกิโลกรัม
"เราทำเครื่องแกงเพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนใต้ สามารถกินได้ทุกวัน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน หรือเจอสถานการณ์อะไรอย่างโควิด คนก็ยังกินเครื่องแกง ช่วงแรกๆ คนยังไม่เข้าร่วมเพราะยางแพงกิโลกรัม 110 บาท เราเริ่มกัน 7 คน ลงขันคนละ 2 หมื่นบาท จนตอนนี้ก็มาร่วมเยอะขึ้น เพราะช่วงกรีดยางไม่ได้ตรงนี้ก็เป็นรายได้เสริม ยิ่งพอได้เลข อย. รวมถึง อย.ควอลิตีอวอร์ด ระดับประเทศ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลา 5 ปี ซึ่งตอนนี้รายได้กลุ่มก็อยู่ที่หลักล้านบาท ค่าแรงจากลงเวลา คิดเป็นวันวันละ 250 บาท ก็เป็นจนเป็น 350 บาท" นางณัฐธัญรดีกล่าว
ส่วนจุดเด่นของเครื่องแกงตายาย นางณัฐธัญรดีนะบุว่า คือรสชาติของเรา จากการคัดสรรวัตถุดิบและสะอาด เมื่อไรสะอาดเครื่องแกงจะอยู่ได้นาน สูตรก็เป็นของคุณยาย เป็นแม่ของรองประธาน และเป็นแม่ครัวหมู่บ้าน การทำสูตรก็มาจากการตำทีละครกใส่เท่านี้ 2 ครกใส่เท่านี้ 3 ครกเท่านี้ ก็คำนวณเป็นกิโลแล้วบดเครื่องแกง ตัวสูตรพื้นฐานต้องนิ่งก่อนคืออร่อยแล้วถึงขายได้ ปัจจุบันขายแกงส้มหน้าโรงงานกิโลละ 200 บาท แกงเผ็ดและแกงกะทิกิโลละ 180 บาท ส่วนในเพจขายครึ่งกิโล 110 บาท แกงส้ม 120 บาท มีการส่งขายสนามบินทำแบบซีลสุญญากาศ แผนอนาคตอยากทำเครื่องแกงผงพร้อมปรุงสำเร็จรูป จะเก็บได้นานกว่าเครื่องแกงน้ำ
"มะม่วงเบา ป้าติ้วแมงโก้"
นางอุไรวรรณ หอมจันทร์ ป้าติ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก หรือป้าติ้วแมงโก้ เล่าประวัติว่า เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน จำนวน 22 คน เมื่อปี 2547 กิจกรรมช่วงแรกมีหลากหลาย เช่น ทำขนม ทำดอกไม้ประดิษฐ์ รับจัดดอกไม้และพวงหรีด เน้นสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิก และได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านนาออก” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 ต่อมามีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้าน เนื่องจากในพื้นที่เกษตรกรจะปลูกมะม่วงเบาไว้จำนวนมาก เป็นผลไม้ประจำถิ่นของอำเภอสิงหนคร เมื่อผลผลิตออกมามากราคาก็ตกต่ำ บางครั้งสินค้าล้นตลาดขายไม่ได้ พอสุกก็ต้องทิ้งไปเป็นปุ๋ย จึงต้องหาวิธีแปรรูป ทำให้มะม่วงเบามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ทดลองผลิตมะม่วงแช่อิ่มและน้ำมะม่วง ซึ่งใช้มะม่วงเบาผลอ่อนเป็นวัตถุดิบหลัก เมื่อมะม่วงสุกก็ทดลองแปรรูปเป็นแยมมะม่วงขาย แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อ คือ มะม่วงเบาแช่อิ่ม เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา ทำให้ได้มะม่วงแช่อิ่มที่รสชาติกลมกล่อม กรอบ อร่อย ปลอดภัย ไม่มีการใส่สารเจือปน
"จากตอนนั้นมะม่วงเบาราคากิโลละบาทก็เป็นกิโลละ 250 บาท จากนั้น 3 ปี ราคามะม่วงขึ้นเลย จนไม่มีมะม่วงสุกให้ดูอีกเลย รายได้ต่อเดือนประมาณ 2-5 หมื่นบาท บางเดือน 7 หมื่นถึงแสนบาท ซึ่งถ้าได้ออกบูธก็ได้เป็นแสนบาทต่อเดือน คนที่มาร่วมทำจริงๆ มีงานที่ทำอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นรายได้เสริม ทุกวันนี้ก็ได้อยู่ที่ 2-3 พันบาทต่อเดือน" ป้าติ้วกล่าว
ป้าติ้วบอกอีกว่า ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ปี 2561 ถือเป็นกำลังใจในการทำงาน เป็นอะไรที่สวยงาม เราไปยืนตรงนั้นก็ภูมิใจที่สุดตอนไปรับก็ตื้นตันใจมาก เหมือนกับกำลังใจของเรา เป็นของขวัญให้เรา รางวัลก็ช่วยเรื่องยอดด้วย แต่สิ่งที่ต้องทำมากคือต้องยึดไว้รักษาดูแล ต้องพัฒนาตัวเอง อะไรไม่อร่อย ไม่ดีก็ไม่ออกขาย อะไรผิดพลาดไม่ยอมขาย สิ่งที่ป้าติ้วยึดถือคือ เรารักในอาชีพของเรา ต้องรับผิดชอบงานที่เราทำทุกอย่าง
กระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน มะม่วงที่นำมาทำแช่อิ่ม จะต้องเป็นมะม่วงสดขนาดกำลังดี ไม่อ่อนมาก หรือแก่จนเกินไป(ยังไม่เป็นกะลา) จะทำให้เมื่อดองแล้วจะกรอบอร่อย ในการปอกผลมะม่วงจะต้องควบคุมการปอกเปลือกเขียวออกให้หมด เพราะถ้าปอกออกไม่หมด จะทำให้มะม่วงมีสีดำไม่น่ารับประทาน การล้างทำความสะอาดแต่ละขั้นตอน เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก และจุลินทรีย์จากการหมักดอง ควบคุมอัตราส่วนของส่วนผสม ที่ใช้ในการดองจะต้องเป็นไปตามสูตรที่กำหนด รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการดอง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีรสชาติและคุณภาพสม่ำเสมอ โดยเราใช้มะม่วงที่ปลูกในอำเภอสิงหนครเท่านั้น ไม่ว่าที่อื่นราคาถูกกว่าอย่างไรก็ไม่ซื้อ พอออกดอกเราจองเลย ทิ้งเงินไว้เลยห้ามขายใคร นอกจากนี้ การดำเนินงานของกลุ่มเรายังมุ่งเป้าเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย