สธ.เขตสุขภาพที่ 2 ยกระดับรับมือฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินระดับ 1 ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เฝ้าระวังทั้งเขตสุขภาพหลังพบฝุ่นยังสูงเกินมาตรฐาน เน้นสื่อสารประชาชน กลุ่มเปราะบาง ลดความเสี่ยงรับมลพิษ จัดบริการสุขภาพเชิงรุก สนับสนุนหน้ากากและมุ้งสู้ฝุ่น
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ตามที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ได้มอบหมายให้ผู้บริหารเขตสุขภาพดำเนินการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพที่มาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จึงมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จากผลการประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีข้อสั่งการยกระดับการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข จากภาวะปกติ (Watch mode) เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินระดับ 1 (Alert mode) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567
เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดด้วยระบบเฝ้าระวังที่ทันเหตุการณ์ทั้งเขตสุขภาพ เพิ่มการสื่อสารให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวลดความเสี่ยงรับมลพิษ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในชุมชน ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และจัดบริการด้านการแพทย์ดูแลประชาชน ทั้งเชิงรุกในพื้นที่และในสถานพยาบาล พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากและมุ้งสู้ฝุ่นให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง
สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในเขตสุขภาพที่ 2 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง (เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) โดยวันนี้ เวลา 07.00 น. มี 3 จังหวัดที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. ได้แก่ อุตรดิตถ์ 72.2 มคก./ลบ.ม. สุโขทัย 56.8 มคก./ลบ.ม. และตาก 43.7 มคก./ลบ.ม. ส่วนพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ แม้วันนี้ค่าฝุ่นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีบางวันที่มีระดับฝุ่นเกินเกณฑ์ จึงยังต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดศูนย์ PHEOC ครบทั้ง 5 จังหวัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 ศูนย์อนามัยที่ 2 และศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 พิษณุโลกสนับสนุนติดตามเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางให้ปลอดภัยลดการเจ็บป่วยจากฝุ่นด้วยมาตรการบูรณาการ