กรมควบคุมโรค เตือนสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" บนเครื่องบินผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายควบคุมยาสูบ ปรับไม่เกิน 5 พันบาท และการเดินอากาศ โทษหนัก 2 หมื่นบาท ย้ำก่อสารพิษคนรอบข้าง
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีคลิปผู้หญิงรายหนึ่งสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะโดยสารเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่งเดินทางจากเชียงราย ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารรอบข้าง ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมและป้องกัน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 2.คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” 3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ในมาตรา 242 ว่าด้วยการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และมาตรา 246 ว่าด้วยการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และ 4. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 42 ว่าด้วยการสูบบุหรี่ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่
ดังนั้น กรณีนี้เป็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินจัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ผู้สูบจึงเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 อีกด้วย โดยห้ามสูบบุหรี่ในอากาศยานระหว่างการบิน ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากการกระทำนั้นก่อให้เกิดการขัดข้องแก่อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอากาศยาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบินในกรณีที่เป็นข่าวนี้ จึงมีความผิดตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แต่ เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท จึงใช้กฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดลงโทษ แก่ผู้กระทำความผิด คือ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการ ต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดไอระเหยที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างด้วย เนื่องจากในควันหรือไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า มีสารเคมีและสารปรุงแต่ง ประมาณ 7,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 10 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น บุคคลรอบข้างที่สูดดมเอาควันหรือไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง