xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” ผู้นำจิตวิญญาณสำนักสันติอโศก มรณภาพแล้ว ลูกศิษย์เศร้าโพสต์อาลัย

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ (ชื่อเดิม มงคล รักพงษ์) เจ้าสำนักสันติอโศก ได้มรณภาพ ด้วยโรคชรา ในวัย 90 ปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ด้วยอาการปอดอักเสบ และออกจาก รพ. กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนจะมรณภาพ

เมื่อถึงเวลาที่พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์จะละสังขาร ตามเส้นทางอาริยะโพธิสัตว์

ข้าน้อยจะนำธรรมะที่พ่อท่านสอน...โพสต์โดย Chaiklang Penthai เมื่อ วันพุธที่ 10 เมษายน 2024


กำหนดการพิธีเคลื่อนสรีรสังขาร "พ่อครูสมณะโพธิรักษ์"
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ละสังขาร ด้วยโรคชรา เวลา 06.40.10 น.

ชาตะ :...โพสต์โดย ปุ๊ก ทองไท บุญนิยมทีวี เมื่อ วันพุธที่ 10 เมษายน 2024


กำหนดการพิธีเคลื่อนสรีรสังขาร "พ่อครูสมณะโพธิรักษ์"
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ละสังขาร ด้วยโรคชรา เวลา ๐๖.๔๐.๑๐ น.
ชาตะ : วันอังคาร ที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๗๗
มรณภาพ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๗
สิริอายุ : อายุ ๘๙ ปี ๑๐ เดือน ๖ วัน
อุปสมบท : วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓
๕๓ พรรษา ๕ เดือน ๔ วัน
๑๐.๐๐ น. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
และนายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมพ์สะ แพทย์เจ้าของไข้
มากราบขอขมา
๑๐.๓๐ น. เคลื่อนสรีรสังขาร จาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไปยังบวรราชธานีอโศก
๑๑.๐๐ น. ถึงราชธานีอโศก ***ตั้งขบวนรับจากสะพานโค้งรุ้ง
๑๑.๓๐ น.พิธีบรรจุสรีรสังขารพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ลงหีบ โดยท่านสมณะ ณ ใต้เฮือนศูนย์สูญ


ประวัติโดยสังเขป สมณะโพธิรักษ์ เดิมชื่อ มงคล รักพงษ์ ชื่อเล่นว่า แป๊ก เกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 บิดา คือ นายทองสุข แซ่โง้ว ถึงแก่กรรมเมื่อ ด.ช.มงคล อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ส่วนมารดาชื่อนางบุญโฮม รักพงษ์ ซึ่งได้แต่งงานใหม่กับ สิบโท บุญเฉย รักพงษ์ ด.ช.มงคลเป็นลูกคนเดียวของนายทองสุข ส่วนมารดามีลูกกับบิดาเลี้ยง 10 คน ลุงซึ่งเป็นนายแพทย์ประจําจังหวัดศรีสะเกษ ชื่อ นายแพทย์สุรินทร์ พรหมพิทักษ์ ขอไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก และต้องย้ายที่อยู่ต่อมา ขณะที่เด็กชายมงคลเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ได้เกิดสงครามอินโดจีน ลุงจึงนํามาส่งคืนมารดาซึ่งทํางานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

ด.ช.มงคล มีความขยันหมั่นเพียรและมีความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก เดิมฐานะทาง บ้านดี เพราะมารดาค้าขายเก่ง แต่ต่อมามารดาถูกโกงและป่วยเป็นวัณโรค ทําให้ประสบปัญหาทางการเงิน ด.ช.มงคลจึงช่วยมารดาค้าขายเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว นอกจากนั้น ยังชอบขาย ของและหารายได้เอง และเมื่อเดินทางมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ทํางานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนสีตบุตรบํารุง กรุงเทพฯ นายมงคลได้ไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างในแผนกที่ตั้งใหม่คือแผนกวิจิตรศิลป์ โดยไม่ต้องสอบเข้า ระหว่าง พ.ศ. 2495-2500 จนจบการศึกษา และในขณะที่กําลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างปี 5 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์

เมื่อมารดาถึงแก่กรรม เป็นช่วงเวลาที่นายรัก รักพงษ์ จบการศึกษาเพาะช่างและได้เข้าทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์จํากัด นายรัก รักพงษ์ได้รับภาระเลี้ยงดูและส่งเสียน้องทุกคนเรียนหนังสือ

นายรัก รักพงษ์ เริ่มทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์ จํากัด เมื่อ พ.ศ. 2501 โดยเป็นนักจัดรายการ ซึ่งได้แก่รายการเด็ก รายการการศึกษา และรายการทางวิชาการต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นครูพิเศษสอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ และมีงานประพันธ์ ทั้งสารคดี เรื่องสั้น บทกวี และบทเพลง ใช้นามปากกาแตกต่างกัน เช่น มงคล พงษ์มงคล, เกื้อ ปรียา และโบราณ สนิมรัก งานประพันธ์ที่ ทําให้มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ บทเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง “ผู้แพ้” ซึ่งประพันธ์ขึ้นสมัยที่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างระหว่าง พ.ศ.2497-2498 เป็นผู้ประพันธ์ทั้งคําร้องและทํานอง มีเนื้อ หาสาระแฝงคติธรรมในการต่อสู้ชีวิต และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า รัก พงษ์มงคล

หลังจากนั้น รัก รักพงษ์ได้สนใจศึกษาเรื่องจิตทําให้หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์ไประยะหนึ่ง จนกระทั่งได้มีโอกาสศึกษาพุทธธรรมจนเกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาต่อการดํารงชีวิต ความสนใจในทางศาสนาทำให้นายรัก รักพงษ์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่ม โดยใช้นามปากกาว่า โพธิรักษ์ เช่น ชีวิตนี้มีปัญหา เป็นงานเขียนที่รวบรวมจากบทความต่างๆ ที่เขียนประจําในนิตยสาร “ดาราภาพ" กลางทะเลชีวิต เป็นหนังสือ รวมบทความจากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “สตรีสาร” และลําธารชีวิตเป็นหนังสือรวมบทความ จากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “ไทยโทรทัศน์”

ต่อมา นายรัก รักพงษ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตที่วัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 โดยมีอุปัชฌาย์ คือ พระราชวรคุณ และได้รับ ฉายาจากการอุปสมบทว่า “พระโพธิรักษ์” ซึ่งหมายถึง “ผู้รักษาความตรัสรู้” เป็นฉายาจากนามปากกาขณะที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะเมื่อยังเป็นฆราวาส และได้ขออุปัชฌาย์ใช้นามนี้เป็นฉายา

หลังจากที่มีบุคคลเลื่อมใสศรัทธามาบวชและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น วัดอโศการามจนกลายเป็นกลุ่มชนใช้นามว่า “ชาวอโศก” พระโพธิรักษ์จึงขอสร้างสถานที่เฉพาะกลุ่มเพื่อปฏิบัติธรรมตามแนวคําสอนของตน แต่พระอุปัชฌาย์ไม่อนุญาตให้อยู่ปนกันทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต เนื่องจากพระโพธิรักษ์เป็นพระฝ่ายธรรมยุต พระโพธิรักษ์จึงไปอุปสมบทใหม่ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2516 เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย มีอุปัชฌาย์ คือ พระครูสถิตวุฒิคุณ ขณะนั้นมีใบสุทธิ 2 ใบ และได้นําใบสุทธิของฝ่ายธรรมยุตมาคืนที่วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2516

การทํางานเผยแพร่ธรรมของพระโพธิรักษ์มีอุปสรรคและมีปัญหามากจากความขัดแย้งกับคณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยม เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “นอกรีต” จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ พระโพธิรักษ์จึงประกาศตัวลาออกจากมหาเถรสมาคม หรือที่เรียกว่า นานาสังวาส เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2518 แต่ยังได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งได้รุนแรงมากขึ้นจนนําไปสู่กรณีสันติอโศก โดยมหาเถระสมาคม ได้เห็นชอบให้มีการประกาศนียกรรม ให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน มิให้คบหาสมาคมหรือให้ความร่วมมือใด ๆ แก่พระโพธิรักษ์ และคณะที่พระโพธิรักษ์บวชให้  ซึ่งประกาศนียกรรมมีค่าเท่ากับ "บัพพาชนียกรรม" เมื่อครั้งพุทธกาลนั่นเอง อันเป็นผลให้พระโพธิรักษ์ต้องสึกจากพระภิกษุและใช้นามว่าสมณะโพธิรักษ์แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม นุ่งห่มแตกต่างจากพระสงฆ์ไทยทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ.2532 เป็นต้นมา

ในปี 2533 อัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระโพธิรักษ์และพระชาวอโศก ข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กรณีการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2538 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540

“สมณะโพธิรักษ์” ได้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2551 รวมถึงการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 ด้วย โดยเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.นั้นสมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มาแล้ว

ทั้งนี้ “สมณะโพธิรักษ์” ได้นำพากลุ่มชาวอโศกสร้าง “ชุมชนบุญนิยม” ตามปรัชญา แห่งศาสนาพุทธ ที่เชื่อมั่นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นแกนสำคัญ ของมนุษย์ และสังคมโดย มีความ เป็นอยู่ อย่างเรียบง่าย, พึ่งตนเองได้, สร้างสรร, ขยัน-อดทน, ไม่เอาเปรียบใคร, ตั้งใจเสียสละ จนได้รับ การขนานนามว่า “ชุมชนคนพอเพียง”


กำลังโหลดความคิดเห็น