xs
xsm
sm
md
lg

สสส. จับมือรัฐบาลสานพลังภาคี ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ภายใต้สโลแกน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” พร้อมแฮสแท็ก “ No L”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญอย่างมากกับ “วันสงกรานต์” หรือ “วันปีใหม่ไทย” ที่ทุกคนได้ตั้งตารอคอยกัน และยังเป็นกิจกรรมแสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณีของคนไทย ให้กับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมรับรู้ถึงคุณค่า และความงดงามของวิถีไทย ซึ่งทาง สสส. จับมือกับรัฐบาลพร้อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2567 ขนทัพกว่า 60 ถนนตระกูลข้าว เจ้าของพื้นที่ภาคเอกชนทั่วไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ 5 ข้อ ขับเคลื่อน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” ให้สมกับที่ UNESCO ประกาศว่า “เทศกาลสงกรานต์” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ด้าน สธ. ขอความร่วมมือผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด จัดงาน “สงกรานต์ No L”

เทศกาลสงกรานต์เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ทั่วโลกจับตามอง ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ และต้องการให้เทศกาลสงกรานต์เป็นกิจกรรม Soft Power จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจทางสังคมมากยิ่งขึ้น นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้อธิบายความตั้งใจของกระทรวงวัฒนธรรมถึงแนวทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ได้ร่วมมือกับทาง สสส. ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรียกว่า “คณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ประจำปี 2567” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ทางคณะกรรมการได้มีกำหนดมาตรการสงกรานต์ปีนี้ คือ

1. จัดกิจกรรมสงกรานต์เป็นการสร้างการรับรู้กับประชาชน ให้นำเสนอองค์ความรู้ การประกาศรับรองจาก UNESCO ให้ประเพณีสงกรานต์ของไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย ในลำดับที่ 4 ของมรดกทางวัฒนธรรมไทย ต่อจากโขน นวดไทย โนรา และสงกรานต์เป็นอันดับ 4 และคาดว่าจะมีรายการต่อไปอีก
2. มติคณะกรรมการและ สสส. ปีนี้ค่อนข้างจะได้ผลในเรื่องของ “No L” ให้จัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ โดยให้เน้นในเรื่องของคุณค่า สาระ ของประเพณีเรา สร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
3. จัดกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ในเรื่องของเชิงศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงามที่เหมาะสม
4. รณรงค์สืบสานคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมไทย เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน การรักษาสถานที่สาธารณะ การทำบุญตักบาตร รดน้ำ ส่งน้ำพระ ขอพรผู้ใหญ่ เป็นต้น
5. มีการรณรงค์เรื่อง “เสื้อลายดอก”
6. ขอความร่วมมือแต่ละจังหวัดต่าง ๆ จัดการแสดงศิลปินพื้นบ้าน
7. รณรงค์ประเพณีโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
8. ขอความร่วมมือในเรื่องของการใช้ยานภาหนะโดยไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสโลแกนว่า“สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” พร้อมแฮสแท็ก “No L”
9. มีการป้องกันและการรักษาโรคภัยต่าง ๆ รวมไปถึงโควิด19
10. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล นำเงินเข้าสู่ประเทศ


กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศและมีการจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศแล้ว 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้อย่างกว้างขวาง โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไป ชม และดาวน์โหลดบทเพลงสงกรานต์ คลิป MV เพลงสงกรานต์ภาษาต่าง ๆ วีดิทัศน์องค์ความรู้ประเพณีสงกรานต์ ตำนานนางสงกรานต์ อินโฟกราฟิกเกี่ยวกับสงกรานต์ ได้ที่ www.culture.go.th และ www.youtube.com/@dcp5531/featured และในเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม

“ กระทรวงวัฒนธรรมต้องการสร้างภาพให้ใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า สงกรานต์จะเป็นหนึ่งในสิบเทศกาลของโลก ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศของเราได้จำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันในเรื่องของทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศ แต่ในเรื่องของคุณค่า สาระ เราจะต้องรักษาควบคู่กันไป ” โกวิท อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้าย

การจัดเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยนั้น ควรจัดให้มีบรรยากาศการเฉลิมฉลองที่มีความสุข สืบสานประเพณี วัฒนธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาพบเจอปัญหามากมาย ทั้งการทะเลาะวิวาท การเดินทาง รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีเหตุทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง สสส. ก็ได้มีการรณรงค์เรื่องการ “ดื่ม...ไม่ขับ” กันมาอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แสดงผลการสำรวจรับความคิดเห็นของประชาชนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวเรื่องการทำให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีการปลอดแอลกอฮอล์ มีการจัดโซนนิ่งในการเล่นให้มีความสนุกสนาน และที่สำคัญคือมีมาตรการควบคุมไม่ให้นำเครื่องแอลกอฮอล์เข้ามาในพื้นที่จัดงาน ตลอดจนไม่รับสปอร์นเซอร์จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งผลออกมาว่าคนไทยและนักท่องเที่ยวเกิน 80% เห็นด้วย


ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และส่งผลต่อกิจกรรมอันดีงาม จากที่เราวิเคราะห์ในเชิงลึกในกลุ่มของผลที่สำรวจความคิดเห็นคนไทย 939 คน และต่างชาติ 400 คน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงสงกรานต์ปี 2566 แล้วพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติพอใจการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้ามากถึง 88.90% ขณะที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดสงกรานต์แบบปลอดเหล้า 75.83% เห็นด้วยจัดโซนนิ่งเล่นน้ำ 79.23% เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่จัดงาน 77.74% เห็นด้วยที่เจ้าภาพจัดงานไม่รับสปอนเซอร์จากธุรกิจเหล้า-เบียร์ 73.16% เมื่อถามถึงประโยชน์ของการจัดงานแบบปลอดเหล้า พบว่า ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้น 90.42% สามารถลดอุบัติเหตุ 89.99% ลดการทะเลาะวิวาท 89.67% ลดการลวนลามล่วงละเมิดทางเพศ 85.20% และเห็นว่าการจัดงานแบบปลอดเหล้าไม่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 80.30%

“ถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคม ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น คนที่เข้ามาร่วมก็จะมีความพึงพอใจ เราต้องการขยายรูปแบบการทำงานแบบนี้ ส่งเสริมให้เห็นถนนตระกูลข้าว ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตอนนี้ก็มีมากว่า 60 ถนนตระกูลข้าว และมีอีก 100 พื้นที่ที่เล่นน้ำปลอดภัย ในหลาย ๆ จังหวัด”
นอกจากนี้การจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าก็ยังเป็นการคุมต้นทางของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ จึงรณรงค์ว่า “ขับไม่ดื่ม...ดื่มไม่ขับ” ตลอดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นพิเศษ และยังทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตราย เพิ่มความปลอดภัย และได้รับความสนุกสนานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างมีความสุข หากสังคมไทยร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะลดปัญหาความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำเมาลดลงได้


ซึ่งมีความเห็นตรงกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมและอีกหลายสิ่งอย่างบนพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะฐานรากของประชาชน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มองว่า เวลาจัดงานกิจกรรมที่มีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันทำให้ไม่เห็นภาพถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย เพราะมีแต่ความสนุก และไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจริง ๆ ของเรา เป็นเพียงความสนุกสนานในกิจกรรมมากกว่าที่จะเน้นคุณค่า ประเพณีอันสวยงาม ในฐานะที่ UNESCO ได้รับรองให้เราแล้วว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกของไทย ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงสนับสนับสนุนกิจกรรม “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” แฮสแท็ก “ No L” ช่วยเพิ่มคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์จริง ๆ เกิดขึ้นมาได้

ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแลเรื่องสุขภาพ และรับผิดชอบเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีคณะกรรมการควบคุมและคณะกรรมการนโยบาย ได้มีมติที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่
1. สนับสนุนเทศกาลสงกรานต์เป็นพื้นที่ปลอดภัย ลดปัญหาหลัก ๆ จากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นน้ำสงกรานต์ หรือ อุบัติเหตุจากการเดินทาง
2. ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้า รวมมือกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในจุดต่าง ๆ ที่ไปเล่นน้ำ

“คนไทย 80% ที่เกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค พบเมาแล้วขับ เราเลยต้องรณรงค์ให้คนที่จะขับรถต้องไม่ดื่มเหล้า และคนที่ดื่มเหล้าต้องไม่ขับรถ ซึ่งนี่เป็นพ้อยที่สำคัญที่เราต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราด้วยเหมือนกัน ขณะเดียวกันที่สำคัญนอกเหนือจากนั้นเราก็ถูกเตรียมการตรวจแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในเบื้องต้นได้ สิ่งที่เราต้องการจะฝากไว้ก็คือ สงกรานต์ปลอดภัยมันจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวบ้านเราอย่างวางใจและรู้สึกปลอดภัย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราจริง ๆ" นพ.นิพนธ์ ย้ำเพิ่มเติม

จะเห็นว่าพื้นที่ที่เล่นน้ำปลอดภัย ส่งผลดีต่อด้านความปลอดภัย ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล และได้กำชับให้ผู้จัดงานต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลในพื้นที่ จัดให้มีแสงสว่างที่พอเพียง ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่คุมเข้มเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณโดยรอบพื้นที่จัดงาน มีการสุ่มตรวจ เดินสำรวจ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมึนเมาจนขาดสติ นำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ


จากข้อมูลในปีนี้ทางกรุงเทพมหานครได้จัดจุดให้เล่นน้ำสงกรานต์ทั้งหมด 118 จุด และมีจุดเล่นน้ำใหญ่ ๆ อยู่ 15 จุด เช่น สามยานมิตทาวน์ ไอคอนสยาม สนามหลวง ถนนข้าวสาร และอื่น ๆ นางสาวเยาวลักษณ์ พิมพะนิตย์ ผอ.สนง.วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กทม. ชี้แจงบนเวทีว่า “กทม.มองยังไงกับการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ทั้ง 118 จุด ซึ่งต้องบอกอย่างนี้ว่าเราพร้อมที่จะดูแลทั้ง 50 เขต ที่จะมีการจัดตั้งศูนย์วิชาการดูแลในเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว จัดตั้งศูนย์ใหญ่ในแต่ละเขตพื้นที่ พร้อมใช้ CCTV เข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญทางสำนักแพทย์และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไว้คอยบริการตลอด 24 ชม. ตลอดในช่วงสงกรานต์นี้ และนอกจากนี้ทางกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนกิจกรรมสงกรานต์ตามสโลแกน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” แฮสแท็ก “ No L” โดยการรณรงค์มาตราการ 5 ป. ขับเคลื่อส่งเสริมความปลอดภัยในสังคมไทย ได้แก่ 1.ปลอดปืนฉีกน้ำแรงดันสูง 2.ปลอดแป้ง 3.ปลอดโป๊ 4.ปลอดแอลกอฮอล์ 5.ประหยัดน้ำ”

แฮสแท็ก “ No L” เป็นสิ่งที่รัฐบาลและชุมชนพื้นที่ปลอดภัยต้องการเพื่อสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากธุรกิจภาคเอกชนในพื้นที่ด้วย แน่นอนว่า นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ได้กล่าวบนเวทีขอความร่วมมือกับนักธุรกิจเอกชน หรือพื้นที่เอกชนที่จัดคอนเสิร์ตแบบ “ No L” เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนท้องถนนได้ง่าย จึงมีความต้องการที่จะจัดกิจกรรมสงกรานต์แบบปลอดแอลกอฮอล์


เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่เอกชนมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างความสนุกสนานได้เหมือนเดิม แน่นอนว่าต้องได้รับความร่วมมือจากสังคม ทั้งในท้องถิ่นต่าง ๆ รวมไปถึงภาคชุมชน ดังนั้นเครือข่ายพลังสังคมร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง 5 ข้อ ดังนี้
1. สืบสานรักษาคุณค่าวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์ไทยให้ทั้งโลกได้เห็นคุณค่า ความหมายงานประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ใช่แค่สาดน้ำ แต่ยังมีเรื่องเข้าวัดทำบุญ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และการละเล่นแบบไทยตามวิถีแต่ละพื้นที่
2.รักษามาตรฐานพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย จากที่เคยเป็นพื้นที่เสี่ยง กลายเป็นพื้นที่ Zoning เล่นน้ำปลอดภัย
3.ป้องกันความปลอดภัยและควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเย็นค่ำและกลางคืน มีหน่วยเฉพาะกิจดูแลเป็นพิเศษ มีกล้อง CCTV คอยสอดส่อง และตรวจตราไม่ให้มีการดื่มการขายน้ำเมาในพื้นที่เล่นน้ำ
4.ขยายผลให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำของภาคเอกชน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่จัดงานเน้นความปลอดภัยไม่ให้มีน้ำเมา ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลดความสูญเสีย เพราะไม่เป็นแหล่งผลิตคนเมาลงถนน
5.สร้างค่านิยมให้การดื่มแล้วขับเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ สังคมไทยทุกฝ่ายต้องใช้ทุกโอกาสในการช่วยกันสื่อสารเพื่อเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม


“ภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่มีบทบาทและเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนงานเทศกาลสงกรานต์ปลอดภัย ช่วยกระตุ้นให้เกิดนโยบายการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงและความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัยนับพันแห่งทั่วประเทศ ที่แต่ละท้องถิ่นร่วมกันจัดงาน สำคัญคือสามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว รวมทั้งสงกรานต์ในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งไทยรามัญ และไทยทรงดำ ที่ได้ร่วมรณรงค์อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการจัดพื้นที่เล่นน้ำ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง เป็นตัวอย่างที่ดีไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ” ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวทิ้งท้าย




















กำลังโหลดความคิดเห็น