"ชลน่าน" ตรวจฝุ่นพิษเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ เฝ้าระวัง 5 กลุ่มโรค ทั้งแบบเฉียบพลัน และระยะยาว ทำฐานข้อมูลเฝ้าระวังระดับเขต 8 จังหวัดเหนือ ช่วยติดตามแบบเรียลไทม์เชื่อมโยง มท. มหาวิทยาลัย พร้อมค้นหาเชิงรุก จัดคลินิกมลพิษ ทีม 3 หมอเข้าพื้นที่ ย้ำคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องสแกนต้องเข้าสิทธิประโยชน์
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมความพร้อมทางการแพทย์การดูแลสุขภาพประชาชนจากฝุ่น pm 2.5 ที่ปริมาณสูงทั้งเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ว่า เป็นข้อห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ตนในฐานะ รมว.สธ. มาติดตามสถานการณ์และช่วยกันแก้ปัญหาในมิติด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าเพิ่มสูงมาก โดยระบบการแพทย์และสาธารณสุข มีการติดตามเรื่องนี้ตลอด และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตา โรคหอบหืด และโรคมะเร็งปอด
อย่างโรค COPD ขณะนี้พบประมาณ 3,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยรายเดิม กลุ่มนี้ที่จะมีอาการขึ้นค่อนข้างเจอได้น้อย เนื่องจากมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ความสำคัญและมีการเฝ้าระวัง เมื่อพบจะรักษาแรกเริ่ม อย่างสถิติการให้ยาเพิ่มเป็น 3 เท่าเพื่อควบคุมอาการ ซึ่งมีการแนะนำจัดทำห้องปลอดฝุ่นที่บ้าน ขณะนี้ประมาณ 2 พันราย โดยยังเหลือ 1.9 พันรายที่ไม่มีห้องปลอดฝุ่น ส่วนของ รพ.เองก็มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“สำหรับโรคที่จะบ่งบอกว่ามาจากฝุ่น PM2.5 จะเป็นในกลุ่มโรคผิวหนัง และเยื่อบุตาอักเสบ สะท้อนได้เพราะเป็นระยะเฉียบพลัน แต่หากโรคเรื้อรัง เมื่อมีอาการก็จะวัดได้ในแง่ของการกระตุ้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
ถามว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน สธ.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 เป็นเขตต้นแบบเรื่องของการเฝ้าระวังทั้งเขตสุขภาพ (One Region One Surveillance System) เป็นระบบการเฝ้าระวังโรคผ่านเขตสุขภาพที่ 1 ทั้ง 8 จังหวัด ทำเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เชื่อมกับทางกระทรวงมหาดไทยและมหาวิทยาลัย โดยเรามีศูนย์ดำเนินการอยู่ ถือเป็นการนำร่องที่แรกที่ใช้ฐานข้อมูลทั้งเขตมาใช้บริหารจัดการ
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เฝ้าระวังซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานปลัด สธ. สำนักงานเขตสุขภาพ กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เฝ้าระวังสถานการณ์จริงแบบเรียลไทม์ โดยชุดข้อมูลนี้จะเข้าไปยังศูนย์เฝ้าระวังสำนักงานเขต จะบ่งชี้ได้ว่า เวลานี้มีผู้ป่วยที่ไหนอย่างไร เป็นข้อมูลแดชบอร์ด เป็นข้อมูลที่รวดเร็วและเข้าไปดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทันท่วงที ซึ่งศูนย์นี้จะเกิดประโยชน์ในแง่การบริหารจัดการด้วย เชื่อมไปยังกระทรวงมหาดไทยด้วยเช่นกัน
อีกทั้ง สธ.ยังเน้นการค้นหาเชิงรุก สำหรับผู้ป่วยที่มีความเปราะบาง และจัดบริการเชิงรุก มีคลินิกมลพิษออนไลน์ มีระบบเข้าไปดูแลในชุมชน มีทีม 3 หมอเข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะเข้าไปที่ระดับ รพ.สต. เป็นต้น รวมไปถึงมีมาตรการป้องกัน ด้วยการแนะนำให้ความรู้ประชาชน มีหน้ากากอนามัย N95 เป็นต้น
“ฝุ่นพิษ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย ระยะเฉียบพลันแสดงทางผิวหนัง ดวงตา หรือผู้ป่วยโรคเดิมก็อาจกระตุ้นได้ ส่วนผู้ป่วยใหม่ลักษณะโรคอย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องใช้ระยะเวลาแสดงอาการ รวมถึงมะเร็ง ที่หลายคนคิดว่าเกี่ยวกับมะเร็งปอด สธ.มีการเฝ้าระวัง เขตสุขภาพที่ 1 มีการคัดกรองเบื้องต้นด้วยคอมพิวเตอร์สแกน ใช้ปริมาณรังสีไม่เหมือนทั่วไป สามารถตรวจหามะเร็งที่เข้าข่ายได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สำหรับการคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นด้วยเครื่องสแกนนั้น จำเป็นต้องเข้าสู่สิทธิประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เข้าในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้ทางเขตสุขภาพที่ 1 กำลังเสนอความจำเป็นว่า ควรต้องเพิ่มเข้าไปในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องนี้ก็จะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน