การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผลักดันหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง (STEM²) “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” แก่นักเรียนชั้น ม.ต้น ในโรงเรียนหลายร้อยแห่ง หวังให้เด็กรุ่นใหม่ เข้าใจสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย
โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดการประกวดผลงานนักเรียน การพูดเชิงสร้างสรรค์ ElectricTalk ในหัวข้อ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ซึ่งกิจกรรมพูดเชิงสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า มีนักเรียนส่งผลงานทั้งหมด 18 ผลงาน คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 6 ทีมเข้ารอบตัดสิน ได้แก่ทีมจากโรงเรียนน้ำพองศึกษา จ.ขอนแก่น / โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) จ.ชลบุรี / โรงเรียนพานพิทยาคม จ.เชียงราย / โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จ.ลำพูน / โรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม SMTE309 จาก โรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ สมาชิกในทีมประกอบด้วย ด.ญ.ธนพร บุดดา,ด.ญ.นิราภรณ์ บุตรดี,ด.ญ.ปาณิศา ระยับศรี และ นางสาวภาวินี สุระ เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีคุณครูนงเยาว์ หงส์โสภา คุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ในวิชาพลังงานทดแทน เป็นที่ปรึกษาของเด็ก ๆ ซึ่งคุณครูเผยความรู้สึกว่า เด็ก ๆ ทุกคนมีความตั้งใจมาก รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ความพยายามและความทุ่มเทของเด็ก ๆ ทำให้ชนะเลิศในวันนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา มศว กล่าวว่า “หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” เป็นการเรียนรู้บูรณาการมาตรฐานและตัวชี้วัดของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมตอนต้น มุ่งส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนในการบูรณาการความรู้และข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาออกแบบแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ราคาเหมาะสม ลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมและสามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ภายใต้คำถามสำคัญ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร” โดยในปีที่ผ่านมามีโรงเรียนลงทะเบียนใช้หลักสูตรมากกว่า 200 โรงเรียน”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวในการเปิดงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านการเรียนรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการบริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตรศึกษาที่เป็นเลิศ ซึ่งโครงการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เป็นหนึ่งในการนำเสนอความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ สู่การเรียนรู้ที่ส่งเสริมทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติและเจตคติของผู้เรียน ผสานรวมกันจนเกิดเป็นสมรรถนะของผู้เรียน
นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มศว ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้...ไม่มีไฟฟ้า” ตั้งแต่ 2559 และผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพราะเล็งเห็นว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ ผู้เรียนที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งกิจกรรมการประกวดผลงานนักเรียนที่ดำเนินมาต่อเนื่องทุกปีนี้ สะท้อนผลลัพธ์ หลักสูตร STEM² อย่างน่าพอใจ นักเรียนสามารถตัดสินใจ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไฟฟ้าทั้งในชีวิตประจำวันและแนวทางการจัดหาไฟฟ้าในอนาคตอย่างเพียงพอและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่ กฟผ. ผลักดันเพื่อแก้วิกฤติพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”
นอกจากนี้ในงาน นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า นอกจากหลักสูตรสะเต็มกำลังสองแล้ว กฟผ. ยังมีโครงการอื่นด้านการศึกษาที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้า เช่น ห้องเรียนสีเขียว ศูนย์การเรียนรู้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็น 1 ใน 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ที่ทำบันทึกความเข้าใจในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒต่อไป ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก