ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งข่าวลวงเรื่องสุขภาพ ข่าวลวงเรื่องการเมือง ข่าวลวงที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่าง ๆ และยิ่งในยุคปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้การรับข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ก็สะดวกและง่ายมาก เพราะแบบนี้เองจึงทำให้ข่าวลวงเกิดขึ้นมาในรูปแบบใหม่ ๆ และพัฒนามากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนอาจถูกหลอกจนเกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงการสูญเสียทรัพย์สิน
รู้หรือไม่ว่า คนไทยถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีรายงานประจำปี พ.ศ. 2566 ของ ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า ปี พ.ศ. 2566 คนไทยโดนหลอกจากสายโทรเข้าและส่งข้อความหลอกลวง 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง คิดเพิ่มขึ้น เป็น 18% โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน ได้รับ SMS หลอกลวง 20.3 ข้อความ
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024)” ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน ขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อหวังกระตุ้นให้คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกตื่นตัว ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนเชื่อและส่งต่อ รวมถึงเข้าใจถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากข่าวลวงเพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ทุกคนรู้เท่าทันข่าวลวง
สสส.-ภาคีโคแฟค-กทม. สานพลัง
ให้ประชาชนเท่าทันข่าวลวง
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ยินดีที่ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนได้มีร่วมมือกัน โดยยุคนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทช่วยให้การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันสะดวก รวดเร็วและง่ายขึ้น ทุกคนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ สามารถเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ง่าย ข่าวลวง ข่าวปลอมจึงเกิดขึ้นมามากมาย การสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชนเพื่อเป็นเกราะป้องกันกับข่าวลวงถือเป็นเรื่องสำคัญ
“การจัดงานในครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดย กทม.ให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยคุกคามจากออนไลน์ทุกรูปแบบ จึงได้ร่วมกับ สสส. เร่งสร้างการรับรู้ภัยอันตรายที่เกิดจากข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งภาคีโคแฟค ประเทศไทย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้คนในสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวหลอกลวงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และขยายผลความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือได้อย่างเท่าทัน”
“ผมมองว่าข่าวลวง ข่าวปลอม ก็คล้ายกับเชื้อโรคโควิด-19 ช่วงแรก ๆ เราพยายามฆ่าเชื้อโรคแต่ฆ่ายังไงก็ฆ่าไม่หมด สุดท้ายเราก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิต้านทาน อย่างข่าวลวงก็เหมือนกัน เราจะตามกำจัดทั้งหมดมันก็ทำได้ยาก เพราะข่าวลวงมีมาทุกวัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราจะรู้เท่าทันข่าวลวงได้ เราต้องมีภูมิต้านทาน เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเราเองด้วย เพื่อให้เรามีความรู้ความเข้าใจ มีวิธีกลั่นกรอง มีวิธีจัดการ เพื่อเป็นเกราะป้องกัน โดยการร่วมมือกันจะช่วยให้เราช่วยกันกระจายภูมิต้านทานให้แก่กันและกัน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าว
นายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวเสริมถึงการจัดงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 ว่า สสส.มุ่งผลักดันและสนับสนุนให้โคแฟคเป็นพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2567 จากการดำเนินงานมาถือว่ามีผลตอบรับที่ดี
“สสส. โดยหลักเราจะสนับสนุนภาคประชาชน ภาคประชาสังคมมาร่วมกันสร้างเป็นเครือข่าย อย่างภาคีโคแฟค ประเทศไทย สสส. ก็ได้เข้าร่วมสนับสนุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2567 ซึ่งจากการดำเนินงาน โคแฟคได้บริการตรวจสอบข่าวลวงไปมากกว่า 7,672 บทความ และช่วยปกป้องคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกว่า 5,000 คน ซึ่งต้องขอบคุณอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ร่วมกันทำโครงการนี้ ทำให้เกิดเครือข่ายขึ้นมา ซึ่งก็ได้อาศัยหลาย ๆ เครือข่ายช่วยกัน ถือว่าโครงการนี้เป็นศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงอันดับ 2 ของไทยเลยก็ว่าได้ครับ”
ปี 66 ไทยถูกหลอกเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย มากถึง 79 ล้านครั้ง
มีประชาชนแจ้งความออนไลน์มากกว่า 4 แสนคดี
นายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลว่า มีรายงานจาก Whocalls ว่า ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยถูกหลอกลวงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ทุก ๆ คนจะได้รับ SMS หลอกลวงประมาณ 20.3 ข้อความต่อปี อัตราการหลอกลวง 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ถึง 18 % เลยทีเดียว
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถูกหลอกของคนไทยเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ 1 มีนาคม พ.ศ.2565- 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 มีประชาชนแจ้งความออนไลน์มากกว่า 4 แสนคดี มี 3 ประเภทที่มักโดนหลอกมากที่สุด ได้แก่ 1. ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3. หลอกให้กู้เงิน
ถามว่าปัจจุบันประชาชนรับมือกับข่าวลวงได้มากน้อยแค่ไหน? ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ได้เผยว่า ประชาชนรับมือกับข่าวลวงลักษณะเดิม ๆ ได้ แต่ปัจจุบันในยุคดิจิทัลข่าวลวงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจาก Cheapfakes สู่ Deepfakes การหลอกลวงเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นต้องอาศัยหลายภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหา
“ตอนนี้ประชาชนรับมือกับข่าวลวงเรื่องเดิม ๆ ที่เคยเจอได้มากขึ้น 4-5 ปี ที่แล้ว ข่าวลวงที่มากที่สุดคือเรื่องปัญหาสุขภาพ เช่น กินมะนาวโซดารักษามะเร็งได้ ซึ่งข่าวลวงเรื่องสุขภาพจะมีมาเรื่อย ๆ หลัง ๆ ก็อาจจะซาลงไป อย่างปีที่แล้วก็จะเป็นเรื่องการเมืองเพราะมีการแข่งขันกันสูง ปีนี้ข่าวลวง ข่าวลือที่เป็นเชิงเนื้อหาจะไม่ค่อยเด่นนัก จะมาหนักเรื่องการหลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือมิจฉาชีพ หลอกทำให้เสียเงินแทน คือขยับจากข้อมูลลวงแบบ Cheapfakes เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องการเมือง มาสู่การหลอกลวงแบบ Deepfakes ซึ่งมีการพัฒนามาในรูปแบบ AI การเลียนเสียง ระบบไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น อย่างข้อมูลล่าสุดประเทศไทยขึ้นอันดับ 1 ของเอเชียที่ถูกหลอกออนไลน์ รวมค่าเสียหาย 3 หมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวาระแห่งชาติแล้วที่อยากจะเชิญชวนหลายภาคส่วนมาร่วมมือกันแก้ปัญหาเชิงรุก เราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น ซึ่งหลายภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับเราก็มีบทบาทสำคัญที่จะออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหา”
ด้านนายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมถึงปัญหาเรื่องข่าวลวงจาก Cheapfakes สู่ Deepfakes ว่า
“ข่าวลวงมีในส่วนของการต้องการยอดไลค์ ยอดแชร์ ซึ่งอาจทำให้เราเชื่อและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพแย่ลงได้ โดยอาจจะให้ข่าวลวงด้านสุขภาพที่เป็นเท็จ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งอาจจะเชื่อว่าการรักษามะเร็งหายได้โดยไม่ต้องหาหมอ ทำให้เราไม่เข้าถึงการรักษาที่แท้จริง เป็นต้น หรือ ในลักษณะของ Deepfakes การตัดต่อ เลียนเสียงด้วย AI หรือใช้เรื่องของระบบฐานข้อมูลเช่น เรื่อง ได้คืนเงินภาษี ได้เงินคืนค่านั่นค่านี่ เพื่อให้กรอกข้อมูลซึ่งทำให้เสียทรัพย์สิน ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยดูแลตนเองและคอยสอดส่องดูแลคนใกล้ชิดของเรา ทำยังไงให้เขามีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ถ้าทุกคนร่วมมือ ร่วมใจกันก็จะช่วยให้คนที่จะก่ออาชญากรรมเขาทำไม่สำเร็จ ถ้าทำซ้ำ ๆ แล้วไม่สำเร็จเขาอาจจะหยุดทำ”
เปิด Line Open Chat ‘โคแฟคเช็กข่าว’
ให้ประชาชนมีเครื่องมือในการตรวจสอบ
พร้อมช่วยกันเช็กข่าวลวงได้
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงการทำงานของภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีเครื่องมือในการตรวจสอบเช็กข่าวลวงได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเดินสายจัดอบรมให้ผู้สูงอายุมีทักษะรู้เท่าทันข่าว พร้อมเน้นย้ำว่า ‘อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน’
“ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วที่ได้ทำงานร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ โดยเราเริ่มต้นขึ้นในช่วงยุคโควิด-19 ซึ่งเป็นยุคที่คนหันมาใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะมาก ทุกคนเจอข่าวลวงกันได้ทุกวัน และข่าวลวงก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น และเราก็ได้เห็นว่าการบูรณาการการแก้ปัญหาของภาครัฐอาจจะยังไม่เท่าทันมิจฉาชีพ เพราะมิจฉาชีพไปไกลแล้วแต่กลไกภาครัฐอาจจะยังตามไม่ทัน ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนจะทำได้คือการกลับมาดูแลตัวเอง เราเลยคิดว่าสถิติการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ของประเทศไทยมีเยอะมาก เป็นเพราะอะไร อาจเป็นเพราะคนไทยใจดี เฟรนลี่ เป็นมิตร หรือเราอาจจะใช้เวลาบนออนไลน์มากเกินไปหรือเปล่า ตรงนี้ก็ต้องให้นักวิชาการช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุอีกที ส่วนสิ่งที่โคแฟคทำได้คือ เราต้องสร้างเครื่องมือหรือสร้างแนวคิดอะไรที่จะช่วยให้คนไทยสามารถตรวจเช็กข้อมูลได้ด้วยตนเองเบื้องต้น คล้าย ๆ เป็นสายด่วน เราจึงทำแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่ายอย่าง LINE CHAT BOT หรือ LINE OPEN CHAT ชื่อว่า ‘โคแฟคเช็กข่าว’ เพื่อสื่อสารกับทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เข้าเว็บไม่ถนัด ถ้าคุณไม่รู้จะถามใคร ไม่รู้จะไปไหน ได้ข้อมูลในแต่ละวันไม่รู้จริงหรือเท็จส่งข้อมูลมาทางโคแฟคได้ อย่างน้อยเราจะได้ช่วยกรองก่อน”
“โคแฟคนอกจากจะทำนวัตกรรม LINE CHAT BOT ทำเว็บไซต์ https://blog.cofact.org/ แล้ว ปีนี้โคแฟคยังได้เดินสายรณรงค์อบรมให้กับเครือข่ายผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้มีทักษะในการตรวจสอบข่าวลวง โดยเฉพาะยุคนี้เทคโนโลยีไปไกลมาก AI ทำภาพคลิปเหมือนจริงมาก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความสับสนได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรณรงค์เรื่องการเท่าทันสื่อในยุคปัญญาประดิษฐ์หรือยุคข้อมูลประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนตื่นตัวเพื่อจะได้ป้องกันตนเองได้ ต่อไปเราอาจจะได้ทำงานร่วมกับ กสทช. แบงค์ชาติ หรือตำรวจ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีเครื่องมือในการตรวจสอบและเท่าทัน”
“แน่นอนว่าเราห้ามคนไม่ให้ใช้สื่อออนไลน์หรือทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ไม่ได้ ในยุค 5G เราไม่สามารถหยุดยั้งการใช้งานได้อีกแล้ว แต่จะทำยังไงให้ทุกคนใช้อย่างสมดุล ปลอดภัย รู้จักปกป้องตัวเอง ดังนั้น อยากรณรงค์ว่าอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน อยากให้ทุกคนคิดและชะลอก่อน ให้มีเวลาไปพูดคุยกับคนใกล้ชิดก่อน ก็จะทำให้ตัดโอกาสที่จะถูกหลอกลงไปได้”
มุ่งหวังให้ทุกคนเท่าทันสื่อ ตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์
เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
ด้านนายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในฐานะผู้สนับสนุนว่ายินดีสนับสนุนทุกภาคส่วนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมุ่งหวังให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
“ผมมองว่าการที่เราจะผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ไม่ใช่แค่ สสส. โคแฟค หรือภาคีเครือข่าย แต่ต้องรวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนต้องร่วมมือกันด้วย สสส.เรายินดีสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมจับมือกันสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา โดยหวังสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งเรื่องการตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ และรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูล”
“โดย สสส. มุ่งหวังให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ มีความสามารถในการตรวจสอบข่าวได้ด้วยตนเอง จนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูล และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวงได้ ซึ่งการที่เรารู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม จะส่งผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพสังคม ซึ่งจะนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป” นายแพทย์ พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย