xs
xsm
sm
md
lg

“วรรณธรรม” โต้แถลงการณ์มสธ. “ข้อกล่าวหา มิใช่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป” หลังศาลปกครองสูงสุด “ยกฟ้อง” คดีถอดถอนอธิการบดีคนก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วรรณธรรม” ชี้แจงภายหลังศาลปกครองสูงสุด “ยกฟ้อง” คดีถอดถอนอธิการบดีคนก่อน โต้แถลงการณ์มสธ. “ข้อกล่าวหา มิใช่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป” มีการสอบสวนที่ไม่เป็นกลาง การดำเนินการทางวินัยยังไม่เสร็จสิ้น แต่ สภา มสธ. ได้เพิกถอนสิทธิการเป็นอธิการบดี ไปก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาแล้ว  

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าการถอดถอนอธิการบดีรายเดิมชอบด้วยกฎหมาย รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ได้ชี้แจงว่า ตนเองได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี จากสภา มสธ. ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2560 แต่ถูกสภา มสธ. ประวิงเวลาการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีของรศ.ดร.วรรณธรรมฯ เอาไว้นานถึง 7 ปี โดยอ้างว่ามีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ในศาล ขอให้รอให้คดีในศาลยุติก่อน 
ข้อเท็จจริง : คดีที่ฟ้องร้องกันเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีมี 2 คดี คือ

คดีที่หนึ่ง มีผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมติสภา มสธ. ที่คัดเลือกรศ.ดร.วรรณธรรมฯ เป็นอธิการบดี ต่อมา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลปกครองสูงสุด (คดีหมายเลขดำที่ อบ.๓๘๑/๒๕๖๓ และคดีหมายเลขแดงที่ อบ.๕๑/๒๕๖๖) พิพากษาว่ากระบวนการสรรหาอธิการบดี รายรศ.ดร.วรรณธรรมฯ ชอบด้วยกฎหมาย การลงมติของสภา มสธ. ที่เสนอขอโปรดเกล้าฯ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ชอบด้วยกฎหมาย และรศ.ดร.วรรณธรรมฯ มีคุณสมบัติตามข้อบังคับ มสธ. ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2559

คดีที่สอง มีผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมติสภา มสธ. ที่ถอดถอนตน(อธิการบดีรานเดิม)ออกจากตำแหน่งอธิการบดี (คดีหมายเลขดำที่ อบ.๓๓๘/๒๕๖๒ และคดีหมายเลขแดงที่ อบ.๔๖/๒๕๖๗) สภา มสธ. นำคดีนี้ไปอ้างตลอดว่า อาจทำให้การสรรหา รศ.ดร.วรรณธรรม ไม่ชอบ เพราะอธิการบดีรายเดิมยังไม่พ้นจากตำแหน่ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าการถอดถอนอธิการบดีรายเดิมชอบด้วยกฎหมาย

คดีที่ฟ้องร้องกันในศาลจนถึงปัจจุบันนี้จึงได้ถึงที่สุดแล้วทั้งสองคดี 
ในระหว่างนั้น รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ฟ้องสภา มสธ. ว่าละเลยล่าช้าในการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ตนเป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง (คดีหมายเลขดำที่ บ.๖๔/๒๕๖๔ และคดีหมายเลขแดงที่ บ.๑๖๗/๒๕๖๔) พิพากษาว่าสภา มสธ. ละเลยล่าช้าตามฟ้อง หรือสภา มสธ. เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ สภา มสธ. ได้เพิกถอนสิทธิการเป็นอธิการบดีของรศ.ดร.วรรณธรรมฯ ไปก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาแล้ว (คือ เพิกถอนสิทธิรศ.ดร.วรรณธรรม เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567) ศาลไม่สามารถบังคับคดีได้ จึงให้จำหน่ายคดี 
คำแถลงการณ์ มสธ. ลงวันที่ 3 เมษายน 2567
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 มสธ. มิได้เป็นผู้ถูกฟ้องคดี แต่ มสธ.กลับออกมาแถลงการณ์แทนสภา มสธ. อาจเป็นกรณีได้รับมอบอำนาจจากสภา มสธ.หรือไม่ก็ได้ แต่คำแถลงการณ์ของ มสธ.อาจถูกนำไปอ้างเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นการกระทำที่สภา มสธ. ให้ความยินยอม อีกทั้งสะท้อนความจริงว่า มสธ. กับสภา มสธ. เป็นฝ่ายเดียวกันที่เข้าครอบงำอำนาจ มสธ. มาอย่างยาวนานและยังดื้อดึงที่จะครอบงำ มสธ. ต่อไป คำแถลงการณ์มีสาระสำคัญว่า ยอมรับคำพิพากษาที่พิพากษาว่าสภา มสธ. ละเลยล่าช้า แต่สภา มสธ. จะขออุทธรณ์ต่อ และอ้างว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่กระทบกับการที่สภา มสธ. ไปเพิกถอนสิทธิการเป็นอธิการบดีของ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง สภา มสธ. เพิกถอนสิทธิ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นการเพิกถอนสิทธิก่อนศาลมีคำพิพากษาเดือนเศษ คนอาจเชื่อว่าเป็นกรณีที่สภา มสธ. รีบชิงเพิกถอนสิทธิรศ.ดร.วรรณธรรมฯ ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนั้น สภา มสธ. ยังอ้างอำนาจตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่บัญญัติว่า “คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครองอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอน หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนด ได้เฉพาะเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

(๓) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนี้ในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้”

จะเห็นได้ว่า การที่ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ได้รับการเสนอจากสภา มสธ. ให้เป็นอธิการบดีเมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ เป็นคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ และการเพิกถอนทำให้รศ.ดร.วรรณธรรมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หากจะเพิกถอนสิทธิต้องเข้าเงื่อนไขของมาตรา ๕๓ วรรคสอง (๓) ข้างต้น ประกอบด้วยเงื่อนไขสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง ต้องมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่วนที่สอง หากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ

แต่ตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสภา มสธ. เป็นกรรมการและเลขานุการสอบหาข้อเท็จจริงและได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า รศ.ดร.วรรณธรรมฯ มีพฤติการณ์ไม่ซื่อสัตย์สุจริตฯ สภา มสธ. นำเอาข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ของตนมาอ้างเป็น “ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป” โดยที่ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ยังไม่ได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน และความจริง

รศ.ดร.วรรณธรรมฯ มิได้มีการทุจริตและมีประวัติการกระทำความผิดอาญาหรือการดำเนินการทางวินัยใด ๆ เพราะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงของ มสธ. ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ว่า “เงินรายได้ของโครงการความร่วมมือฯ ที่รศ.ดร.วรรณธรรมฯ เคยเป็นผู้อำนวยการ มิใช่เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องนำส่งเข้าเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย” ขณะเดียวกัน สาขาวิชาอื่น ๆ ในมสธ. ต่างก็มีเงินรายได้เป็นของสาขาวิชาและดำเนินการเบิกจ่ายกันเองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีใครถูกสอบวินัยเหมือนรศ.ดร.วรรณธรรมฯ ยิ่งกว่านั้น คำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวยังระบุว่า “มหาวิทยาลัยมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย” แต่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คือ “สาขาวิชาที่เป็นเจ้าของเงินรายได้นั้น ๆ" ส่วนข้อต่อสู้อื่น ๆ มีอีกมากมาย เช่น มสธ. กับสภา มสธ. ตั้งเจ้าหน้าที่ของตัวเองเป็นกรรมการสอบสวนในขั้นตอนต่าง ๆ ไขว้กันไปไขว้กันมา เพื่อเข้าประจำการในตำแหน่งสำคัญในกรรมการแต่ละคณะ อันมีลักษณะการเข้าไปแทรกแซงและควบคุมผลการสอบสวน

นอกจากนี้ ผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ คือ รักษาการแทนอธิการบดีสองคน ต่างเป็นกรรมการสภา มสธ. ซึ่งเป็นคู่กรณีที่พยายามเหนี่ยวรั้งการเสนอขอโปรดเกล้าฯ โดยไม่คำนึงถึงเสียงของประชาคม มสธ. ที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือก รศ.ดร.วรรณธรรม หรือได้ประโยชน์โดยตรงจากการเข้ามาเป็นรักษาการแทนอธิการบดี บางคนรับค่าตอบแทนการเป็นรักษาการไปแล้วมากกว่าสองล้านบาท อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ที่ปิดบังซ่อนเร้น มีผลประโยชน์แอบแฝงหลายกรณี จนมีผู้ร้องต่อ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช. ได้ชี้มูลแล้วบางคดีและอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นต่อไป สรุปว่า การนำเอา “ข้อกล่าวหา” ของเจ้าหน้าที่ของตนมากล่าวอ้างเป็น “ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” มิใช่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย

อีกทั้ง รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ยังมีข้อต่อสู้มากมาย เช่น เพียงการเอาเจ้าหน้าที่ของสภา มสธ. มาสอบหาข้อเท็จจริง ก็มีผลทำให้สำนวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้หลักฐานที่อ้างว่า    รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ทุจริต ก็เป็นเพียงการใช้จ่ายเงินรายได้ของโครงการความร่วมมือฯ ที่โครงการมีอำนาจเบิกจ่ายด้วยตัวเองและอยู่นอกเหนือการบังคับของ มสธ. และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของโครงการความร่วมมือฯ อย่างแท้จริง

ส่วนเงื่อนไขของมาตรา ๕๓ วรรคสอง (๓) อีกข้อหนึ่ง คือ “หากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ” นั้น สภา มสธ. กลับไม่กล่าวให้ครบถ้วน อ้างลอยทำนองว่า “เพื่อไม่ให้เสียหายต่อราชการ” ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขของการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง (๓) และตามข้อเท็จจริง รศ.ดร.วรรณธรรมฯ เป็นเพียงผู้มีสิทธิเป็นอธิการบดี ยังไม่ได้รับการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงไม่ได้มีหน้าที่และอำนาจใดในการบริหารงาน มสธ. ซึ่งเป็นกิจการสาธารณะอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะได้

ดังนั้น แถลงการณ์ของ มสธ. ที่อ้างว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของรศ.ดร.วรรณธรรมฯ ที่ถูกแล้ว จึงเป็นการนำ “ข้อกล่าวหา” มาอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และมหาวิทยาลัยมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย และตามขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ “ข้อกล่าวหา” เป็นเพียงกรณีที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเห็นว่า “มีมูล” ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และต้องรวบรวมพยานหลักฐานของฝ่ายกล่าวหาให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้ รศ.ดร.วรรณธรรมฯ ได้มีโอกาสโต้แย้ง ส่วนการอ้างอำนาจสภา มสธ. ตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง (๓) ก็ไม่ถูกต้องและไม่เข้าเงื่อนไขและองค์ประกอบของกฎหมาย

คำแถลงการณ์ของ มสธ. วันที่ 3 เมษายน 2567 มีผลผูกพันสภา มสธ. ที่อ้างว่ามีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนถึงการกระทำผิดของ รศ.ดร.วรรณธรรม เพราะหากสามารถ  พิสูจน์ได้ว่า “ข้อกล่าวหา” มิใช่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป สภา มสธ. ก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ ได้มีมติแล้วว่า สภา มสธ. ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง แต่กลับมีความพยายามส่งคนเข้าไปล็อบบี้เพื่อเปลี่ยนแปลงมติ อันยิ่งทำให้กระบวนการบริหารงานสถาบันอุดมศึกษาไทยเสื่อมเสียและอาจมีผลกระทบกระเทือนถึงบุคคลสำคัญได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น