กว่า 7 ปีที่การเดินทางของ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ขยับขยายความสำเร็จสู่ 25 จังหวัดพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่ง จ.นครราชสีมา หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “โคราช” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โคราชสานต่อความสำเร็จอีกปี เดินหน้าเปิดเทศกาลเดิ่นยิ้มเบิกบาน “ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จับมือ 15 ภาคีเครือข่าย ร่วมเปลี่ยนวันว่างของเด็กและเยาวชนกว่า 150 วัน/ปี ในช่วงปิดเทอม เติมเต็มด้วยพื้นที่การเรียนรู้ที่เอื้อต่อการสร้างทักษะและกิจกรรมสร้างสรรค์ กิน เล่น สนุก เรียนรู้ กว่า 100 กิจกรรม 60 พื้นที่ 32 อำเภอในโคราช ตลอดเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2567 เตรียมความพร้อมก้าวสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้”
ภายในงานเทศกาลเดิ่นยิ้มเบิกบาน “ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” ยังเต็มไปด้วยบรรยากาศแสนอบอุ่น ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานเปิดงานกล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ไว้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รวมทั้งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมของเด็กและเยาวชนเสมอมา ซึ่งกิจกรรม“ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” ทำให้เราเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้ง 32 อำเภอที่นำมาแสดง และเห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะสื่อสารและแสดงออกเกี่ยวกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เขาออกแบบเอง ซึ่งสามารถนำไปสู่การต่อยอดในการทำงาน นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีอาชีพและรายได้ในอนาคต
“วันนี้ถือเป็นวันดีเพราะเป็นวันเปิดตัวของเทศกาลเดิ่นยิ้มเบิกบาน“ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 60 แห่ง 100 กิจกรรมทั่วทั้ง 32 อำเภอในปิดเทอมนี้ ซึ่งก็จะเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสพบปะ แสดงความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ตนเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี กีฬา ก็ถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีจิตใจโอบอ้อมอารี ร่างกายแข็งแรง ตลอดจนสุขภาวะในมิติต่าง ๆ ซึ่งเด็กและเยาวชนนั้นยังถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”
อย่างไรก็ดี ในทิศทางต่อไปโคราชมีเป้าหมายผลักดันกิจกรรมให้เกิดขึ้นทุกตำบลในพื้นที่ จาก “อำเภอละ 1 แห่ง สู่ตำบลละ 1 แห่ง” คลอบคลุมทั้ง 334 ตำบล พร้อมขับเคลื่อนสู่เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางและยากจนมากขึ้น รองผู้ว่าฯ เมืองย่าโม ให้เหตุผลว่า การพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่นั้นเพราะเด็กและเยาวชนที่อยู่ต่างอำเภอ การเดินทางไปมาอาจจะไม่สะดวก ถ้ามีกิจกรรมดี ๆ ลงไปในพื้นที่ชุมชนหรือในพื้นที่ของเขา คาดว่า จะสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
นอกจากโคราชจะมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ยังถือเป็นจังหวัดที่มี “อำเภอ” มากที่สุดของประเทศอีกด้วยนั่นคือ 32 อำเภอ โดยปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนแรกเกิดถึงอายุ 19 ปี ราว ๆ 201,000 คน ซึ่งทำให้โคราชถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยถูกยกเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง “เมืองแห่งการเรียนรู้”สำหรับแผนระยะยาวของ สสส. ร่วมกับ จ. อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร และยะลาอีกด้วย
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชี้ให้เห็นว่า โคราชมีจุดเด่นที่หลากหลาย เป็นเมืองที่มีนักสร้างสรรค์ ศิลปินแขนงต่าง ๆ พื้นที่การเรียนรู้เปิดกว้าง รวมทั้งพลเมืองที่เข้มแข็ง ส่งผลให้เกิดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายภายในงานวันนี้ ทั้งศิลปะ DIY เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย เล่นสนุกกับ Free play กิจกรรมพัฒนาทักษะต่าง ๆ กิจกรรมจากห้องเรียนเดิ่นยิ้ม การรู้เท่าทันสื่อ หรือความรู้เรื่องดวงดาวแบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ ดนตรี และ Talk Show จากหลากหลายเครือข่าย เช่น พิพิธภัณท์ไม้กลายเป็นหิน พิพิธภัณฑ์เมืองโคราช จัตุรัสวิทยาศาสตร์ (อพวช.โคราช) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา บ้านสอนศิลปะ OTTO farm Studio Toy Truck รถของเล่น โคราชสตรีทอาร์ท กลุ่มต้นกล้าดี ชุมชนหัวถนน Play Day
“งานเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมในเด็กและเยาวชน มันไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย มันสามารถที่จะระดมความร่วมมือกันได้ จะเห็นเลยว่า งานวันนี้คือเขาระดมความร่วมมือกันในพื้นที่ ร้านขายของชำ ร้านโชห่วย แม้กระทั่งวัด หลวงพ่อ หลวงพี่ โดยนำข้าวของเครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้ง ออกมาช่วยกันให้เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมทำ เราเดินดูก็จะพบว่า แต่ละโซนเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ รอบตัวทั้งนั้น มีน้องคนหนึ่งบอกว่า เมื่อก่อนเขาติดเล่นเกมมาก เขาเลยทำโครงการเปลี่ยนเกมเมอร์เป็นเชฟ เปิดครัวให้คนที่สนใจเข้ามาสร้างสรรค์เมนูตามใจชอบ ได้ทำอาหารเอง ถึงจะเป็นแค่ข้าวไข่เจียว เขาก็สนุกแล้ว เห็นไหมว่า ความสนุกมันหาได้ง่ายมาก”
“การเล่นอิสระเป็นแนวคิดสำคัญที่ สสส. ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในทุกปี ไม่ใช่แค่ปิดเทอมเท่านั้น เพราะการเล่นมีหลายแบบ การเล่นทุกแบบดีหมด ขอแค่ให้ออกมาเล่นเถอะ แต่ว่าที่เราอยากจะชูเรื่องเล่นอิสระเป็นตัวเด่นหน่อย เพราะว่าเล่นอิสระมันจะได้อีกเรื่องหนึ่ง คือความสุข ความเป็นตัวของตัวเอง การได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ เด็กเขาได้เล่นอย่างไม่มีกฏกติกา ไม่เหมือนกีฬาอย่างเล่นบาสก็ต้องมีกติกาของบาสใช่ไหม แต่ว่าเล่นอิสระมันคือการที่เด็กเล่นอะไรก็ได้ ไม่ใช่การเล่นกับของเล่นสำเร็จรูปแต่เล่นกับข้าวของรอบตัว ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญที่สร้างเสริมสุขภาวะของเด็กได้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ”
ย้อนกลับไปปี 2561 สสส. ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะเด็กทุกช่วงวัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม เพื่อเป็น “ทุนชีวิต” ให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ สร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ ซึ่งหากลองถอดบทเรียนตลอดการทำงานที่ผ่านมา น.ส.ณัฐยา ยอมรับว่า โมเดลการเตรียมพร้อมแบบสำเร็จรูปอาจไม่ได้ผลเสมอไป
“สสส. เราทำงานมา 20 กว่าปี เรามีบทเรียนหลายอย่าง เมื่อก่อนเราจะคิดว่า เราต้องทำทุกอย่างให้พร้อมแล้วคนในพื้นที่หยิบไปใช้ แต่จริงๆ พอเราลองทำแบบไม่ต้องเตรียมอะไรให้พร้อม แต่แค่เปิดโอกาสลองให้เขาไปคิดดูว่า เขาอยากทำอะไร ลองสร้างสรรค์เองว่า อยากทำแบบไหน ไม่กำหนดโมเดลตายตัว เราจะได้เห็นสิ่งที่เป็นความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเยอะแยะเลย แล้วทุกคนก็ภูมิใจเวลาเล่าถึง ซึ่งเรามองว่า มันได้อะไรมากกว่าที่การเอาคู่มือมากางและทำตามข้อหนึ่ง สอง สาม ที่เราทำไว้ แต่ว่า เขาคิดเอง เขาก็จะรู้สึกว่า ตัวเองเป็นเจ้าของไอเดีย พี่ว่ าแบบนี้มันน่าจะไปได้ไกลมากกว่า”
“ในภาพที่ใหญ่ขึ้นเราอยากเห็นท้องถิ่นลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ จริง ๆ ในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ถ้าลองได้สำรวจดูแล้วจะพบว่า มีเด็กทุกช่วงวัยเลย เด็กโตหน่อย 18-19 ปีอาจจะไม่ค่อยได้อยู่ในตำบลแล้ว ไปเรียนหนังสือไกลบ้านหรือว่าไปทำงาน แต่นอกนั้นยังอยู่ในตำบล เพราะฉะนั้น ถ้ากิจกรรมมันเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน ที่ตำบลหรือใกล้บ้านเขา นั่นหมายถึงว่า เราเพิ่มโอกาสให้เด็กจำนวนมากขึ้นได้เข้าถึงการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์เหล่านี้”
“เราต้องนึกภาพว่า เด็กคือกลุ่มที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองแล้วก็ยังไม่มียานพาหนะ ขับขี่มอเตอร์ไซต์ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเดินทางสำหรับเด็กมันต้องไม่เป็นภาระยุ่งยากมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะฉะนั้นเราอยากจะเห็นท้องถิ่นลุกขึ้นเป็นเจ้าภาพ ทำให้พื้นที่เล่นและเรียนรู้แบบนี้มันอยู่ใกล้บ้านเด็ก ๆ สัก 15 นาทีเดินถึง อย่าให้เกินนั้น เกินกว่านั้นเดี๋ยวเหนื่อย เดี๋ยวไม่ไป (หัวเราะ) ก็ถ้ามันยิ่งใกล้เท่าไหร่ ก็ยิ่งดี จะได้ไม่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ เดินอย่างปลอดภัยไปที่แหล่งเรียนรู้ แหล่งเล่น เราอยากเห็นภาพแบบนั้นมาก”
ด้าน น.ส.อรวรรณ ลาสูนย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้โคราชยิ้ม มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) ขยายความแนวคิด ‘เล่นบันดาลใจ’ ไว้ว่า เรามองว่า การเล่นไม่ใช่แค่เรื่องเล่นอิสระของเด็กและเยาวชน แต่สำหรับเราคำว่า เล่น มันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้
ซึ่งความพิเศษของ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” ในปีนี้คือมีการเปิดแพลตฟอร์ม LINE Official เล่นบันดาลใจ ที่สามารถ check point ค้นหากิจกรรมสร้างสรรค์ พื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ได้อย่างสะดวกตลอดปิดเทอมนี้ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกอย่างการสะสมแต้ม เพื่อแลกรับของรางวัลสุดพิเศษ หรือไปที่เว็บไซต์ www. cyckorat.com ที่จัดทำแผนที่ฐานข้อมูลทั่วทั้งโคราช ซึ่งคาดว่า จะครอบคลุมทั้งเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ จำนวนกว่า 10,000 คน
“การเข้าถึงพื้นที่ถือเป็นบทเรียนจากปีที่แล้วที่เรานำมาปรับปรุง อย่างเราเองคือมีเว็บไซต์ที่ชวนให้น้อง ๆ เข้าถึงอยู่แล้วแต่มันไม่ได้ทั่วถึง ไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เราก็เลยมองว่า วันนี้เรามีการใช้แพลตฟอร์มที่มันสะดวกมากขึ้น มี LINE Official ให้สแกน ซึ่งเวลามีกิจกรรมและข่าวสารต่าง ๆ ก็จะแจ้งเตือนเลย ซึ่งมันง่ายต่อการเข้าถึงและรวดเร็ว”
“งานในวันนี้จริง ๆ ต้องขอบคุณ สสส. ที่มอบโอกาสให้เราได้สร้างสรรค์พื้นที่ เหมือนเป็นตัวหนุนหลักในการทำให้กิจกรรมมันเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน ซึ่งภาพรวมในวันนี้ เราถือว่า ประสบความสำเร็จมากเพราะว่าหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้นิ่งเฉยกับกิจกรรม ให้ความร่วมมือดีมาก ทุกภาคส่วนเลย เหมือนกับว่า ทุก ๆ คนมองเรื่องเดียวกัน มีจุดหมายเดียวกันและพยายามปรับปรุงขับเคลื่อนจนเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ตรงนี้มันไม่ได้มีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างเดียว แต่ถือเป็นพื้นที่ของทุกครอบครัวที่จะได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน”
เมื่อถามลงลึกไปถึงการทำงานร่วมกับเครือข่าย น.ส.อรวรรณ ให้ข้อมูลว่า กระบวนการทำงานในปีนี้ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยเล่นบันดาลใจคือการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่าน ๆ มา จากฐานข้อมูลเดิมที่เก็บข้อมูลไว้ ซึ่งทำให้การประสานงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่และท้องถิ่นง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในปีหน้าจะมีการลงไปทำงานระดับพื้นที่มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้มากขึ้นเช่นกัน เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงและสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย
ด้านตัวแทนผู้ปกครอง นางนพรรษสรฐ์ วิสุทธิรัตนกุล อายุ 43 ปี จากจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า ตนมีลูกสาววัย 4 ขวบและ 6 ขวบ ซึ่งปกติช่วงปิดเทอม ตนและครอบครัวจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมในครอบครัว ส่วนมากเป็นอะไรง่าย ๆ อย่างการพาไปเล่นข้างนอกบ้าน ระบายสี ฝึกทำเปเปอร์มาเช่ บางทีก็ชวนกันเพนท์เสื้อ ซึ่งสำหรับงาน“ปิดเทอมสร้างสรรค์ เล่นบันดาลใจ” ในวันนี้ ตนและครอบครัวขับรถมาจากจ. บุรีรัมย์ เพราะเป็นแฟนคลับติดตามเพจบ้านสวนเดิ่นยิ้มอยู่แล้ว เนื่องจากชอบกิจกรรมที่เขาจัดกับเด็ก ๆ ซึ่งเมื่อเวลามีกิจกรรม ตนก็จะพาลูกสาวเข้าร่วมเป็นประจำ ซึ่งภายในงานวันนี้ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งโซนเด็กเล่น กิจกรรมของแต่ละโรงเรียน กิจกรรมหน้าเวที ซึ่งมันจะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลายอย่างและลูกสาวของตนก็ชื่นชอบมาก
“วันนี้เราอยากให้เขามาดู มาเปิดหูเปิดตาอะไรที่หลากหลายขึ้น เผื่อเขาจะเจอสิ่งที่ชอบและเราจะเอาไปต่อยอดสนับสนุนต่อไป ไม่ว่าจะเรื่องดาราศาสตร์ ของเล่น ทำกับข้าว ร้อยลูกปัดอะไรพวกนี้ ครอบครัวพร้อมจะสนับสนุนหมด ซึ่งบูธในวันนี้ที่เด็ก ๆ ชอบเป็นพิเศษคือบูธที่เพนท์กระถางและปลูกต้นไม้ เพราะว่า เขาชอบอยู่แล้วและสามารถนำต้นไม้กลับไปดูแลที่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งเหมือนกับเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้เขาไปในตัว ให้เขาดูการเติบโต ดูการพัฒนาว่า มันจะเป็นยังไง ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของลูกด้วยว่า เขาสนใจในสิ่งที่เขาดูแลมากขนาดไหน”
“สุดท้ายนี้ก็อยากให้ จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ มีงานแบบนี้บ้าง ครอบคลุมทั้งประเทศได้เลยยิ่งดี เพราะเราอยากเห็นเด็ก ๆ ทุกคนได้เข้าถึงกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ เพราะมันทำให้เด็กได้เปิดโลกของตัวเองว่า มันมีอะไรที่น่าสนใจกว่าการอยู่บ้าน กว่าการอยู่ในโรงเรียนและหน้าจอ ซึ่งเด็กจะได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ตลอดจนได้ค้นหาความชอบของตัวเองต่อได้” นางนพรรษสรฐ์ ฝากทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สสส. ได้มีการเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com รวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากหน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งกิจกรรมเสริมทักษะ จิตอาสา ฝึกงานและเสริมรายได้ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้/พื้นที่เรียนรู้ทั่วประเทศ สะดวกต่อการค้นหาของเด็กและเยาวชน ซึ่งสำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถนำกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ตลอดทั้งปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย