xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขอ "ญาติ-ร้านอาหาร-ผับบาร์" สกรีนคนดื่มห้ามขับ ลดอุบัติเหตุ "สงกรานต์" สตช.สั่งขึ้นบัญชีจับตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ย้ำสงกรานต์ "ดื่มไม่ขับ" สั่ง สธ.ดูแลรักษาเต็มที่ ตรวจจับขาย “น้ำเมา” ผิดกฎหมาย ขอ “ครอบครัว-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง” สกรีนคนดื่มห้ามขับรถ สตช.ย้ำเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์อุบัติเหตุทุกราย ให้ รพ.ยื่น สสจ.เบิกเงินจาก ตร.ภูธร ประสานผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ขึ้นบัญชีจับตาคนเมาแล้วขับ ผับบาร์ทำผิด กม.

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลประกาศให้มีการจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 2567 รวม 21 วัน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมทั้งมีการประกาศวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เม.ย. 2567 เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อมีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีการจัดงานประเพณีและงานรื่นเริง ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ ในปีนี้ สธ.และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยถนน (ศปถ.) จึงประกาศดำเนินงานเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11- 17 เม.ย. 2567 รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่


นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ปีนี้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งจากมาตรการที่เข้มข้นของทุกฝ่าย สำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถตรวจวัดโดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ พบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดถึง ร้อยละ 33.53 ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.46 ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยเกือบร้อยละ 90 เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ขอให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ รถรับจ้าง รถโดยสารสาธารณะ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และหากเป็นเด็กเล็กควรจัดหาที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้เด็กด้วย

“สธ.ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนแล้ว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ รพ.ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัด “ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน” พร้อมฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ลงพื้นที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน, เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ สำหรับโรงพยาบาล ให้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ ให้พร้อมรับผู้บาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือมีความรุนแรง, เตรียมการรับ/ส่งต่อของสถานพยาบาลในเครือข่าย, ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ให้ติดต่อประสานงานส่วนกลางกับจังหวัดและเครือข่ายสถานบริการตลอด 24 ชั่วโมง, เจาะเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบูรณาการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุรากับหน่วยบริการของโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยคัดกรองหรือประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่คุมประพฤติจังหวัดส่งมาให้ ประเมินปัญหาการดื่มสุราและช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนด


“ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของปีที่ผ่านมา มาวิเคราะห์หาสาเหตุ พฤติกรรมเสี่ยง จุดเสี่ยง และสะท้อนปัญหาให้กับ ศปถ.จังหวัด/อำเภอ เพื่อวางแผนแก้ไขและออกมาตรการระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ เฉลี่ยวันละกว่า 3,500 ราย คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.ดิเรก กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง พบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนประเด็นการดื่มแล้วขับ หากดื่มที่บ้านตนเองหรือบ้านญาติ ขอให้ครอบครัวช่วยตักเตือนห้ามปรามไม่ให้ผู้ดื่มขับรถกลับบ้านเอง แม้ระยะทางจะใกล้ ก็ต้องหาผู้ขับขี่แทนหรือจัดหาที่พักที่ปลอดภัย ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง ขอความร่วมมือคัดกรองนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ไม่ให้ขับรถ โดยจัดหารถสาธารณะหรือผู้ขับขี่แทน ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน


นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 11-17 เม.ย.66 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยเป็นผู้ที่ดื่มแล้วขับ และขับรถล้ม 2,319 ราย คิดเป็น 53.43% และเกิดอุบัติเหตุ ในผู้ที่ดื่มแล้วขับที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย หลายคนอาจคิดว่าดื่มนิดเดียวไม่เป็นไร เพราะขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังดื่มซึมได้ไม่หมด แต่ขณะขับขี่จะดูดซึมขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ส่งผลทำให้หมดสติ และเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางได้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 สสส. ได้รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง เผยแพร่สปอตรณรงค์ชุด “กล้าเสี่ยง” เพื่อสื่อสารให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้มีความกล้า คึกคะนอง และกล้าเสี่ยงมากขึ้น และยังผลิตสื่อชุดความรู้เนื้อหา “ดื่มไม่ขับ” พร้อมสื่อภาพรณรงค์ส่งต่อครอบครัว เพื่อน และภาคีเครือข่าย

“สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย สานพลังระดับพื้นที่ได้สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ป้องกันอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำ และอำเภอเสี่ยง 222 อำเภอ เน้นมาตรการดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย และในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง ศูนย์ประสานงานการจัดการความปลอดภัยทางถนน และ อปท.เครือข่าย 182 แห่ง นอกจากนี้ได้ร่วมกับ ศวปถ. กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ป้องกันอุบัติเหตุที่มักจะเกิดใกล้บ้านไม่เกิน 5 กม. โดยมี อสม. และเครือข่ายสื่อสารมวลชน สร้างพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข หลายคนเฉลิมฉลอง และคิดว่าดื่มเพียงเล็กน้อยไม่เป็นไร แต่อาจทำให้ต้องสูญเสียเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ทั้งตนเอง และคนรอบข้าง จึงขอเน้นย้ำ สงกรานต์นี้ ลด ละ เลิกพฤติกรรม ดื่มแล้วขับ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว


พล.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวว่า สตช.วางมาตรการสงกรานต์ ปี 2567 โดยมีการเตรียมพร้อมสำรวจกำลังพล เส้นทาง ขอคืนพื้นที่ผิวถนน จากการก่อสร้างโดยประสานกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบเครื่องมือเครื่องวัดแอลกอฮอล์ จัดสรรงบประมาณตรวจวัดแอลกอฮอล์ สำรวจพื้นที่เสี่ยงจุดเสี่ยงการใช้รถใช้ถนน ให้ทุกสถานีสำรวจพื้นที่เสี่ยง สำรวจบุคคลเสี่ยงในหมู่บ้าน ประสานผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หาคนเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว สำรวจร้านค้าเสี่ยง ขายแอลกอฮอล์ ผับบาร์ประวัติขายผิดกฎหมาย ขึ้นบัญชีไว้ตรวจสอบในช่วงเทศกาลเป็นระยะไม่ให้ทำผิด รวมถึงอำนวยความสะดวกแก้ปัญหาจราจรคับคั่ง ให้ตำรวจภูธรลงไปอยู่ทางหลวง ปั๊มน้ำมัน เร่งระบายรถ ประสานคมนาคม เพื่อไม่ให้มีรถกีดขวางเส้นทางหลัก

สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังดำเนินการ 10 ข้อหาหลัก โดยเน้นเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย การตั้งด่านตำรวจ จะสลับเปลี่ยนจุดไปตามจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ โดยย้ายจุดตรวจทุกวัน ขยายผลกรณีเมาแล้วขับทำผิดซ้ำ เสนอส่งฟ้องอัยการเพิ่มโทษตามกฎหมาย เด็กต่ำกว่า 20 ปีเมาแล้วขับ ดำเนินคดีร้านค้าผู้ขายสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกรณีชักจูงให้เด็กดื่ม เอาผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

สำหรับการเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ กำหนดในกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2565 ให้เจาะเลือดพิสูจน์ผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุ อาจจะเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนจะสั่งและมีเอกสารขอความร่วมมือจาก รพ.ให้เจาะเลือดผู้ขับขี่ทุกราย จะส่งผลตรวจเลือดไปให้ เบิกจ่ายเงินผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งงบประมาณ สตช.รับจัดสรรจากรัฐบาล จะจัดสรรลงไปถึงแต่ละจังหวัด ให้สถานพยาบาลเจาะเลือดเบิกค่าใช้จ่ายผ่าน สสจ. และส่งรวบรวมตำรวจภูธรจังหวัดก็จะส่งเงินให้ รพ.ได้เลย

สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.จุดเสี่ยงการจราจร จุดกลับรถต่างๆ ทางหลวงแผ่นดินเส้นหลัก ทางหลวงแห่งชาติสำรวจเส้นหลักทุกเส้น ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ กำหนดจุดเสี่ยงแก้ปัญหาแล้ว เช่น ปิดจุดกลับรถ 2.ดื่มแล้วขับ เราสำรวจว่าพื้นที่ไหนจัดงานบ้าง จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ งานรื่นเริงต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่ ความร่วมมือภาคีเคือข่ายเข้าสอดส่องดูแลรณรงค์ เอาธีมการขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เข้าไปเตือนและปรามประชาชน สนุกได้ ดื่มได้ ขอว่าอย่าขับรถ แนะนำให้ใช้รถสาธารณะ ให้ผู้ไม่ดื่มมาขับแทน ให้ทุกสถานีตำรวจดำเนินการรายงานมาส่วนกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น