"ชลน่าน" แจงยังไร้สัญญาณปรับยาบ้า 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ดเป็นผู้เสพ ฉุนถูกติคนเดียวเรื่องนี้ พบกลไก "5 เสือ" จังหวัดไม่ทำงาน ลั่นถ้าเป็นนายกฯ จะสั่งย้ายหมด เหมือนยุค "ทักษิณ"
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความสมัครใจเข้ารับบำบัดยาเสพติด หลังมีการประกาศใช้กฎกระทรวง "ยาบ้า 5 เม็ด" ว่า ไม่ควรพูดคำนี้ เพราะสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนแก่ประชาชน ชักชวนให้เข้าใจผิด ยาบ้า 5 เม็ด เป็นวาทกรรม ถ้าไปร่วมผสมโรง แสดงว่าเป็นแนวร่วมผู้ไม่ประสงค์ดี โดยเฉพาะผู้ค้าที่ต้องการเอาชนะนโยบาย ยาบ้าไม่กี่เม็ดก็ผิดทั้งหมด 1 เม็ดก็ผิด ถ้าครอบครองจะผิดฐานครอบครอง ติดคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น มีการค้าผิดก็ฐานค้าจำหน่ายจ่ายแจก แต่เราเห็นว่าขณะนี้คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีมากถึง 1.9 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ใช้ ไม่มีอาการ 1.46 ล้านคน ผู้เสพ มีอาการไม่รุนแรงระดับสีเหลือง สีส้ม 4 แสนคน ผู้ติด อาการรุนแรงหรือสีแดง 4 หมื่นคน กลุ่มนี้อาจก่ออันตรายต่อสังคม
วิธีการแก้ไขปัญหา ต้องใช้ 3 ป คือ "ปราบปราม" สกัดกั้นผู้ค้า ยึดทรัพย์ ขจัดข้าราชการทุจริต ป นี้ต้องมาก่อน "ปลุกชุมชน" ให้เข้มแข็ง และ "เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย" ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะยากมาก เพราะ สธ.เราทำงานปลายเหตุ กฎหมายก็ต้องออกมาเพื่อช่วยเปลี่ยน กรณีครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด และสมัครใจเข้าบำบัดรักษาถือว่าเป็น "ผู้เสพ" จะได้รับสิทธิบำบัดรักษา แต่ถ้าไม่สมัครใจ จะมีความผิดฐานครอบครองและติดคุก
"ยาบ้า 5 เม็ด เป็นกฎเพื่อเปิดโอกาสให้คนเปิดใจ กลับเนื้อกลับตัวมาบำบัดรักษา เพราะเชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จะช่วยลดการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้รวดเร็ว และตัดวงจรการค้ารายย่อย" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนผู้เสพมากขึ้นไหม ไม่ได้เป็นปัจจัยจาก 5 เม็ดหรือไม่ 5 เม็ด เพราะฝ่ายจับกุมปราบปรามเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเมื่อทำงานหนักขึ้นก็พบมากขึ้น ขณะนี้เราดำเนินการบำบัดรักษา 2 ส่วน คือ 1.มีอาการบำบัดทางการแพทย์ อาการสีเหลืองสีส้มเข้ามินิธัญญารักษ์ได้ มี 150 กว่าแห่งทั่วประเทศ ส่วนอาการหนักรุนแรง สามารถเข้า รพ.ธัญญารักษ์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ที่มีจิตแพทย์ สามารถถอนพิษยา ระงับความคลุ้มคลั่ง 2.บำบัดฟื้นฟูทางสังคม แม้ไม่มีอาการ แต่ต้องบำบัด โดยทำชุมชนเป็นฐานคือ "ชุมชนล้อมรักษ์" นำร่องแล้ว 200 อำเภอ กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1 พันชุมชน
"ชุมชนบำบัด คือ บริเวณชุมชนนั้นที่มีคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นผู้ใช้ และชุมชนร่วมสู้นำคนใช้ยาเสพติดเข้าบำบัด ซึ่งการบำบัดใช้เวลาประมาณไม่น้อยกว่า 4 เดือน ผ่าน 9 ฐานการบำบัด ทั้งฐานสุขภาพกายสุขภาพจิต ฐานปัญญาความรู้เข้าใจวิธีปฏิบัติตนอยู่กับผู้คน ฐานฝึกอาชีพ เป็นต้น ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังสนับสนุน "ยาอดยาบ้า" พบว่าได้ผล ช่วยดอาการอยากยา ซึ่งต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เมื่อทดสอบว่าผ่าน จะมีหนังสือรับรองผ่านการบำบัดแล้วกลับคืนสังคมไปประกอบอาชีพ" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถามว่าผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน อย่าง จ.สตูล ชุมชนบำบัดทำกันเองในหมู่บ้านเดียว มีคนเข้าร่วมโครงการ 37 คน ผ่านบำบัดแล้ว 5 คน ส่วน "น่าน" ทำ 2 ตำบลจับมือกัน เข้าร่วมโครงการ 197 คน เป็นผู้สมัครใจเดินเข้ามาเองไม่ต้องตรวจค้นถึง 70 คน ครบ 4 เดือน ผ่าน 176 คน ยังเหลือ 21 คนบำบัดต่อ นี่คือสิ่งที่เห็นว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ หากปลุกชุมชนเข้มแข็ง แล้วต่างจากของเดิมหรือค่ายบำบัดอย่างไร ก็ตรงที่ค่ายบำบัดเดิมเมื่อหายแล้ว แต่กลับไปเสพอย่างเดิม หางานไม่ได้ ถูกตีตราว่ามีคดียาเสพติด แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เมื่อชุมชนเข้มแข็ง สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ทุกคนให้โอกาสในสังคม ไม่ตีตราไม่ตำหนิ ให้โอกาสทำงาน เพราะไม่ถูกบันทึกเป็นคดีเวลาหายจากการเสพติดแล้ว ไปสมัครงานที่ไหนใครก็รับไม่ถูกตีตรา
เมื่อถามถึงความเป็นไปที่จะแก้ไขกำหนดปริมาณยาเสพติดเหลือ 1 เม็ด เป็นผู้เสพที่ต้องเข้ารับการบำบัด นพ.ชลน่านระบุว่า กฎกระทรวงออกมาไม่เกิน 5 เม็ด จะปรับหรือไม่ ขึ้นกับการพูดคุยเชิงนโยบาย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณจะปรับเหลือ 1 เม็ด 2 เม็ด หรือ 3 เม็ดหรือไม่อย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ หลังออก พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดด พ.ศ. 2564 มีการเสนอกฎกระทรวงอยู่ที่ 15 เม็ด ผ่าน ครม.แล้ว แต่ไปตกที่ชั้นกฤษฎีกา ต่อมาถึงทำกฎกระทรวง 1 เม็ด ก็ถูก ครม.ชุดที่แล้ตีตก ก็เริ่มกระบวนการมาทำใหม่ในรัฐบาลชุดนี้ เสนอที่ 5 เม็ดขึ้นไปถึงผ่าน ฉะนั้น 1 เม็ดเป็นไปได้ไหม ต้องเอาข้อเท็จจริงเดิมๆ มาดู แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ
ถามว่าเหตุผล 1 เม็ด หรือ 15 เม็ดไม่ผ่านเพราะอะไร ทำไมถึงเป็น 5 เม็ด นพ.ชลน่านระบุว่า เหตุผลที่ไม่ผ่านมีการอภิปรายในสภาเยอะมาก โดยเฉพาะ ส.ว. ในห้องประชุมใหญ่และกรรมาธิการ หลายภาคส่วน โดยการกำหนด 1 เม็ดเป็นผู้เสพไม่ช่วยแก้ปัญหา เขาสรุปอย่างนั้น เพราะไม่ว่ากี่เม็ดก็จับกุมอยู่แล้ว แต่หากสันนิษฐานเพื่อบำบัดแค่ 1 เม็ด โอกาสเข้าบำบัดก็น้อยลง คนถูกจับกุมคุมขังตีตรายาเสพติดเข้าสถานพินิจก็จะเหมือนกฎหมายเดิม ซึ่งเขามองไม่ได้ผล ขณะที่ที่คุมขังก็ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดยาเสพติด เพราะที่คุมขังมีเพียงแสนกว่าคน ตอนนี้ก็มีสองแสนกว่าคนแทบล้นคุกอยู่แล้ว หากเอาเข้าไปอีกก็ไม่น่ามีที่คุมขัง และอีดเรื่องมองว่าวิธีการเดิมๆ ไม่ได้ผล การจับกุมคุมขังเหมือนไปฝึกวิทยายุทธ์สร้างเครือข่ายค้ายาเสพิดมากขึ้น
"ส่วนเรื่อง 15 เม็ด กฎหมายฉบับเดิมสันนิษฐาน 15 เม็ดขึ้นไปมีเพื่อจำหน่าย ก็ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ต่ำกว่า 15 เม็ดจะพิจารณาพฤติการณ์พฤติกรรมต่างๆ มีครอบครองเพื่ออะไร ถึงตัดสินเข้าสู่การบำบัด ดังนั้น ถ้าเป็น 15 เม็ดก็ไม่น่าต่างจากฎหมายเดิมและส่งเสริมให้มีการเสพมากขึ้น เพราะครอบครองถึง 15 เม็ดเอื้อต่อการค้ารายย่อย" นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่าหลังออกกฎกระทรวง ผู้เสพจะอ้างกับตำรวจว่าเสพเพียง 5 เม็ด ผู้ค้ารายย่อยก็ทำแพคเกจ 5 เม็ด มีการประกาศขายใน Tiktok นพ.ชลน่านกล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด นายกฯ ให้นโยบายเด็ดขาด โดยให้ "5 เสือ" รับผิดชอบ คือ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข และท้องถิ่น ฉะนั้น ระดับจังหวัดระดับอำเภอก็ต้องให้ 5 ฝ่ายนี้ในพื้นที่ร่วมกันทำ ถ้ามีปัญหาใดก็แจ้งติดต่อประสานงานคน 5 กลุ่มนี้ตลอดเวลา
"สิ่งที่พบผมเองก็แปลกใจว่า ทำไมไม่มีการดำเนินการใดๆ แสดงว่ากลไกที่นายกฯ มอบหมายไปไม่ทำงาน ก็ต้องไปดูว่าทำไมไม่ทำงาน ผมอยู่ปลายเหตุที่นำเข้ามาบำบัด ถ้ากลไกไม่ทำงาน ก็ทำไม่สำเร็จ พอเห็นมีปัญหาก็ด่าผมคนเดียวไม่ยุติธรรม ผมก็ไม่อยากว่าพวกเดียวกันเอง ถ้าผมเป็นนายกฯ ใครไม่ทำงานระดับจังหวัด จะสั่งย้ายทั้งหมด ซึ่งลไกนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วในสมัยนายกฯ ทักษิณ ถ้าจัดการไม่ได้ก็ให้ออก ดังนั้น 5 แกนต้องเข้มแข็ง ผมดูก็นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ถ้าไม่ทำงาน ก็ย้ายออกมา ให้คนเก่งคนอื่นมาทำเอง มาตรการต้องเข้มอย่างนี้ ให้คุณให้โทษด้วย ไม่งั้นเราก็จะเป็นผู้แพ้ต่อผู้ค้าหรือแนวร่วมผู้ค้า บรรดาติ๊กต๊อกทั้งหลาย คือ IO แนวร่วมผู้ค้า จ้างไม่แพง อย่าไปหลงกล" นพ.ชลน่านกล่าว