หน่วยบริการสะท้อนหลากปัญหา "กองทุนบัตรทอง" ถูกบีบด้วยงบ อัตราเบิกจ่ายต่ำกว่าต้นทุนและกองทุนอื่น ทั้งประกันสังคมและข้าราชการ คาดอีก 3-5 ปีปัญหาระเบิดแรงแน่ ด้านชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชง 7 ข้อเสนอแก้ปัญหา ย้ำหาก สปสช.งบไม่พอ ให้บันทึกเป็นลูกหนี้ รพ.แล้วต้องตามจ่ายในปีต่อไป จี้ร่วมรับผิดชอบ อย่าปล่อยลอยแพ
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวในเวทีอภิปราย "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน" ในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการ ว่า การออกประกาศหลักเกณฑ์ของสปสช.ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไทม์ไลน์ปีงบประมาณปกติจะเริ่ม ต.ค. สิ้นสุด ก.ย. แต่เมื่อ 1-2 ปี จะไปสตาร์ทที่ไตรมาส 1 ส่วนปีนี้อาจจะอ้างว่าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล แต่ก็ล่อไปครึ่งปีแล้ว ซึ่งต้องเห็นใจหน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะคลินิกจะประสบปัญหาการเงิน ดังนั้น จึงฝากดูด้วยว่าในปีถัดๆ ไปขอให้เริ่มเร็วกว่านี้ได้หรือไม่
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในแง่ของงบฯ ค่าใช้จ่ายบัตรทอง เพิ่มจาก 154,000 ล้านบาท เป็น 217,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่งบรายหัวก็เพิ่มขึ้น 20% แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มีการจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ต้นทุนทั้งคนและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้นเงินที่เพิ่มขึ้น ฟังแล้วดูดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้นประชาชนไม่ผิด แต่ท่านต้องดูว่า จะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ ซึ่งหากมาดูหลักคิดที่เขียนชัดว่า “คำนึงถึงประชาชน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว แต่กลับลืมเพราะประกาศ 10 ฉบับ ไม่เคยเขียนเอาไว้เลยว่า “ให้ความเป็นธรรมกับสถานพยาบาล” เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ถามว่าใครต้องเป็นผู้แบกรับ
เมื่อดูรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป จะได้งบฯ จากกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท สำนักงานประกันสังคม 12,000 บาท และ สปสช. 8,300 บาท ซึ่งสมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็น รมว.สาธารณสุข ซึ่งทราบความเดือดร้อนของ รพ. จึงพยายามหางบฯ มาให้กว่า 5 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงงบเหมาจ่ายรายหัวตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ไว้ในช่วงต้นปี ราวๆ 8-9 พันล้านบาท พอมาถึง ส.ค.-ก.ย. ก็เหลือประมาณ 2-3 พันล้านบาท และยังมีงบฯ สำรองอีกประมาณ 100 ล้านบาท ตอนหลังน้อยลงเรื่อยๆ จึงต้องฝาก สปสช.ดูตรงนี้ว่าใครต้องแบกรับ เช่น โรงเรียนแพทย์ แถวกระทรวงการต่างประเทศ แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วย ประมาณ 500-700 ล้านบาท โรงเรียนแพทย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน 1.5 - 2 พันล้านบาทต่อปี เพราะ สปสช.ให้งบมาเท่านั้นและบีบไปหมด
“ตอนนี้ไม่ระเบิด แต่อีก 3-5 ปี จะระเบิดแรงขึ้น เพราะเห็นประกาศต้นเดือนนี้ กรมบัญชีกลางกำหนดลิมิตค่าใช้จ่ายด้านยาหลายรายการ ฉะนั้น รพ.โดยเฉพาะภาครัฐจะไม่มีมารองรับ และหลายอย่างจะระเบิดออกมา ดังนั้น ความท้าทายของกองทุน สปสช. คือทำอย่างไร ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ได้” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า จากการพิจารณา (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 มีข้อเสนอในประเด็นสำคัญ 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การจ่ายค่าบริการต้องสะท้อนต้นทุนจริงในทุกบริการ เพราะถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะผิดตลอดไป ยกตัวอย่าง ต้นทุนผู้ป่วยใน นักวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาต้นทุนในรพศ./รพท. 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยต้นทุนของรพ.แต่ละระดับอยู่ที่ราว 13,000 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) แต่อัตราจ่ายของบัตรทองอยู่ที่ 8,350 บาท ส่วนสำนักงานประกันสังคม 12,000-15,000 บาท และกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท แสดงให้เห็นว่าบัตรทองจ่ายให้ต่ำกว่ากองทุนอื่นและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุน
2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องมีแหล่งเงินที่ชัดเจน ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิม แต่ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่เพิ่มเรื่อยๆ 3.อัตราหรือราคาที่ประกาศแล้ว ห้าม ปรับแก้ลดลงระหว่างปี จนกว่าจะผ่านอนุกรรมการ เพราะจะทำให้รพ.จัดหาซื้อในราคาที่สปสช.ประกาศไม่ได้ ก็จะกระทบกับการให้บริการประชาชน ฉะนั้น หากมีการต่อรองราคาได้แล้วช่วยแจ้งบริษัทที่ผ่านการต่อรองให้แจ้งทั่วประเทศว่าจะขายราคาที่ตกลงกัน รพ.จะได้ดำเนินการได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 เมื่อมีสัญญาอยู่แล้วดำเนินไป 1-2 เดือน แต่สปสช.ประกาศราคาใหม่ แล้วสัญญาเก่าจะวุ่นวายมาก
4.ลดสัดส่วนกองทุนเฉพาะโรค จากที่ปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 12 หรือ 15 % ของงบฯเหมาจ่ายรายหัวถือว่าจำนวนมาก ให้เหลือน้อยกว่า 5% ให้เอาเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ 5.กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ให้ดำเนินการเหมือนกันในทุกกองทุน โดยเกลี่ยจากกองทุนย่อยอื่น หรือใช้จากกองทุนที่รายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม หรือของบกลางเพิ่มจากรัฐบาล ถ้ายังไม่พอ ขอให้บันทึกบัญชีสปสช.เป็นลูกหนี้ของหน่วยบริการ แล้วตั้งเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายที่ สปสช.ต้องตามจ่ายหนี้ให้หน่วยบริการในปีถัดไป ขอให้สปสช.ร่วมรับผิดชอบด้วยอย่าปล่อยลอยแพหน่วยบริการ อย่างปี 2566 จำนวน 2,600 ล้านบาทให้รพ.ต้องเป็นหนี้ กลายเป็นไปใครให้การรักษามายิ่งเป็นหนี้ ตรรกะแบบนี้ไม่น่าถูกต้อง
6.สปสช.ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการให้ประชาชน ไม่ใช่ซื้อข้อมูลอย่างตอนนี้ เพราะแม้หน่วยบริการให้บริการไป แต่ข้อมูลไม่ตรงก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มภาระงาน เกิดภาวะหมดไฟ จะกระทบประชาชน ดังนั้น รพ.ควรใช้ชุดข้อมูลเดียวในการเบิกจ่าย ทุกกองทุน รวมถึง กองทุนย่อยและใช้ช่องเดียวในการส่ง Financial Data hub ส่วนการตรวจสอบการโกง สปสช.ต้องหาวิธีอื่นอย่าโยนภาระให้หน่วยบริการ และ 7.สปสช.ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน โดยการกระจายอำนาจจาก สปสช.ไป สปสช.เขต เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่