xs
xsm
sm
md
lg

จบแล้ว!! แพทย์ CPIRD ปี 66 รวม 1,059 คน เตรียมส่งกลับบ้านเกิดรักษาคนพื้นที่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จบแล้วแพทย์ CPIRD ปีการศึกษา 66 รวม 1,059 คน "ชลน่าน" มอบสัมฤทธิบัตร เตรียมส่งกลับบ้านเกิดทำงานในพื้นที่ห่างไกล กระจายโอกาสส่งบุคลากรเข้าพื้นที่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงรักษาของชาวบ้าน ชี้คนละส่วนกับ ครม.เห็นชอบผลิตแพทย์และทีมสุขภาพเพิ่มที่จะเริ่มปี 2568

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 800 กว่าคน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 15 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง ว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล สธ.จึงร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) เพื่อช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจาก สธ.เข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 6 ปี โดยปีที่ 1-3 ศึกษาในคณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนปีที่ 4-6 ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ใน รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป สังกัด สธ. ภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนใน รพ.สังกัด สธ.ตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี


สำหรับปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน จะกระจายไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 133 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 398 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคตะวันออก 79 คน ภาคตะวันตก 43 คน และภาคใต้ 218 คน โดยตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 23 รุ่น รวม 13,780 คน ทั้งนี้ สธ.ยังได้เตรียมการผลิตแพทย์เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศในอนาคต โดยจะยกระดับ รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไปใน 76 จังหวัด ให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการและแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา ครอบคลุมทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อผลิตแพทย์รองรับการขยายบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศด้วย

"หลังนักศึกษาแพทย์มาฝึกปฏิบัติด้านคลินิกระยะเวลา 3 ปีกับศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกจบ เลยจัดพิธีมอบสัมฤทธิบัตรให้ จากนั้นจะส่งไปตามภูมิลำเนาของแต่ละคนที่คัดเลือกมา เป็นการกระจายโอกาสให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าไปอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการดูแลด้านสุขภาพ และส่วนหนึ่งก็จะมีการไปศึกษาต่อหรือสอบอนุมัติบัตรด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อไปดูแลในหน่วยบริการปฐมภูมิก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน" นพ.ชลน่านกล่าว


ถามว่าจะเป็นหนึ่งในโครงการที่ ครม.อนุมัติเรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการ โครงการที่ ครม.อนุมัติไป คือ โครงการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อไปปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งจะเริ่มปี 2568 - 2577 ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ส่วนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ครม.มีมติตั้งแต่ปี 2537 จากที่มหาวิทยาลัยหรือ รพ.ที่เกี่ยวข้องผลิตอยู่แล้ว 1,200 คนต่อปี ก็เพิ่มอีก 1 พันคน โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าคัดเลือกมาจากพื้นที่ในแต่ละส่วนในแต่ละจังหวัด แล้วกลับไปทำงานในพื้นที่ตนเอง






กำลังโหลดความคิดเห็น