เริ่มแล้ววันนี้ "ผู้ประกันตน" ใช้สิทธิตรวจสุขภาพ ส่งเสริมป้องกันโรคจากทั้ง 2 กองทุน คิกออฟจัดตรวจที่ "ดูโฮม" วันแรก "ชลน่าน" อวย "พิพัฒน์" รมต.คนแรกดันให้เป็นจริง ขอลูกจ้างอย่าน้อยใจสิทธิน้อยกว่าบัตรทอง ยันป้องกันโรคได้มากกว่า ทั้ง 24 รายการ "บัตรทอง" เพิ่ม 14 รายการ "ประกันสังคม"
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ต.บางพูน จ.ปทุมธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกันคิกออฟโครงการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ ระหว่าง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะ "วัยแรงงาน" ที่สร้างเศรษฐกิจประเทศ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เน้นบริการ 4 มิติ คือ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ซึ่งการตรวจสุขภาพเชิงรุกมีผลต่อมิติสุขภาพ อย่างที่ผ่านมา สธ.ร่วมกับประธานศาลฎีกา ออกตรวจสุขภาพเชิงรุกผู้พิพากษา บุคลากรในศาลยุติธรรมทุกจังหวัด ก็ช่วยให้เจอโรคที่ซ่อนอยู่ในผู้พิพากษาอายุ 56 ปี เส้นเลือดหัวใจตีบ 90% แต่ไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งหากเครียด ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก ก็จะอันตรายมาก เมื่อเจอก็รักษาทันทีขยายเส้นเลือดให้ โรคไม่เกี่ยวกับอายุ ยิ่งกินดีอยู่ดี ไขมันพอกเส้นเลือด เบาหวานก็เริ่ม อย่างวัยแรงงานอายุ 40-50 ปี ก็อันตรายต้องตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอาชีวเวชศาสตร์หรือโรคจากการทำงาน
"โครงการนี้ จะช่วยตรวจเช็กสุขภาพ หากค้นเจอโรคก็ไปทำการรักษา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสิทธิ ที่ทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลส่งเสริมป้องกันโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราตั้งงบไว้ในกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ แม้วัยแรงงานจะมีกฎหมายประกันสังคมดูแลสุขภาพ แต่ก็มีสิทธิรับการดูแลส่งเสริมป้องกันจากกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ เราให้ 24 รายการตามกลุ่มโรคตามวัย ผู้ประกันตนได้รับสิทธิมากกว่าคนอื่น เพราะได้ทั้งสิทธิพื้นฐานได้เหมือนคนทั่วไปและข้าราชการ แต่ในฐานะที่มีการร่วมจ่ายจากเงินเดือน ก็ได้สิทธิตรวจหรือทำกิจกรรมส่งเสริมป้องกันจาก สปส.อีก 14 รายการ รวม 38 รายการ อย่าได้น้อยใจว่าสิทธิเราน้อยกว่าหลักประกันฯ ไม่น้อย แต่มากกว่าด้วย" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า หากพบโรคตั้งแต่ระยะแรกมีโอกาสรักษาหายขาได้ อย่างมะเร็ง เราก็มีการตรวจคัดกรองมะเร็งหลายตัว เช่น มะเร็งปากมดลูก แม้จะพบน้อยกว่าโรคมะเร็งเต้านม แต่อัตราตายสูงกว่า เพราะกว่าจะตรวจพบก็ลุกลามแล้ว ทั้งนี้ การใช้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้ประกันตนทั้ง 2 สิทธินั้น นายพิพัฒน์ถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่เปิดโอกาสให้โครงการนี้ขึ้นมาได้ และยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทยสนับสนุนนำแอปพลิเคชันเป๋าตังมาเชื่อมโยงข้อมูลด้วย
"เรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ที่จะมีระบบการดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน เรื่องส่งเสริมป้องกันโรคให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากได้รับสิทธิเพิ่มเติมจากสิทธิอื่น กาดำเนินการยังมีการตรวจสุขภาพเชิงรุกและเชิงลึกเข้าไปในสถานประกอบการ ซึ่งผู้ประกันตนมักมีภาระยุ่งยากในการใช้เวลาไปตรวจสุขภาพ เพราะภาระงานเยอะมากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สภาพการจราจรอย่างนี้ ก็มีปัญหามาก ทำให้ขาดโอกาสในการป้องกันโรค การจัดตรวจที่สถานประกอบการจะเพิ่มการเข้าถึงของผู้ประกันตนได้มากขึ้นหรือครอบคลุมทั้งหมด และได้โอกาสจากผู้ประกอบการร่วมกิจกรรม ดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนผู้ใช้แรงงาน ที่มากไปกว่าเงินเดือนหรือค่าตอบแทน" นพ.ชลน่านกล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สปส. ได้ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2567 คือ เพิ่มรายการตรวจสุขภาพ 14 รายการ ให้ได้รับการตรวจสุขภาพที่ถี่ขึ้นตามช่วงอายุที่เหมาะสม เช่น ช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี 1 ครั้งทุกปี (ตรวจไขมันในเส้นเลือด น้ำตาลในเลือด การทำงานของไต ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ) เพิ่มรายการตรวจ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง FiT TEST การตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา รวมถึงเพิ่มความถี่การถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อค้นหาโรคและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคของผู้ประกันตน ให้มีสุขภาพที่ดี ลดค่าใช้จ่ายที่อาจสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล ลดอัตราการลางาน ลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรังที่อาจทำให้เกิดอันตราย พิการ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ประกันตนมีจำนวน 24 ล้านคน ได้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 จำนวน 14 ล้านคน และมาตรา 40 จำนวน 10 ล้านคน ซึ่งโครงการนี้เริ่มดำเนินการที่บริษัทดูโฮม ตรวจผู้ประกันตน จำนวน 300 คน โดยได้รับความร่วมมือจาก รพ.ปทุมธานี ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ 2 กระทรวงร่วมผลักดันด้านสุขภาพกับภาคเอกชน ลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ วางเป้า ตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น 100% พร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ดำเนินการสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดภาระการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ ครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิ รวมถึงผู้ประกันตน ให้เข้ารับบริการในหน่วยบริการหลักประกันสุขภาพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง สปสช.และ สปส. ลงนามบันทึก MOU การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน เพื่อให้เข้ารับการตรวจสุขภาพ คัดกรอง วินิจฉัยความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก มีชีวิตยืนยาว ลดภาวะแทรกซ้อน และภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จากเดิมหน่วยบริการต้องขึ้นทะเบียนแยกกัน 2 หน่วยงาน ก็เป็นหน่วยบริการใต้ระบบเดียวกัน ผู้ประกันตนเข้ารับบริการเพียงแห่งเดียวแต่รับบริการครอบคลุมสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพฯ ครอบคลุมทั้ง 2 สิทธิ โดยไม่ต้องไปรับบริการหลายแห่งเหมือนในอดีต และหน่วยบริการขอเบิกค่าบริการได้จากทั้งสองกองทุน เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ครอบคลุม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุก รพ. ทั่วประเทศ สถานประกอบการที่สนใจ สามารถดำเนินการประสานสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสุขภาพ ที่ขึ้นทะเบียนเรื่องส่งเสริมสุขภาพของสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ รวม 213 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลรัฐ 165 แห่ง เอกชน 48 แห่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sso.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ถามว่าตั้งเป้าการตรวจไว้มากน้อยเท่าไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตั้งเป้าไว้ผู้ประกันตนทุกคนทั้งมาตรา 33 39 และ 40 จำนวน 24 ล้านคน กรณีสถานประกอบการใดมีความประสงค์จะเปิดตรวจสุขภาพเชิงรุกสามารถประสานไปที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีสถานประกอบการแจ้งเข้ามาแล้วทั่วประเทศ สำหรับการตรวจสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามแต่ละอาชีพ เพราะส่วนใหญ่มีสุขภาพดีเป็นวัยหนุ่มสาววัยกลางคน แต่ภาวะเสี่ยงคือเรื่องของอาชีวเวชศาสตร์ ถ้าทำงานในการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ประเภทงาน เช่น ทำงานที่เจอฝุ่นเยอะๆ มีโอกาสเจอโรคปอดมากขึ้น หรือใช้กำลังแรงงาน โรคกระดูกและข้อก็จะพบมาก