จับตาปรับแผนกำลังคนสุขภาพระดับชาติ ไม่ใช่แค่ สธ. แต่มีหน่วยงานอื่นด้วย เผย "ชลน่าน" เห็นชอบร่างแรกยุทธศาสตร์แล้ว คาด 1-2 เดือนเห็นฉบับเต็ม ดูทั้งกำลังคน ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงาน พร้อมตั้งคณะกรรมการทำงาน
จากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 และเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า กฎกระทรวงฯ ดังกล่าว จะเป็นส่วนของการตั้ง "กองสนับสนุนสุขภาพปฐมภูมิ" อย่างเป็นทางการ ซึ่งจริงๆ กระบวนการปรับโครงสร้างได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาค่อนข้างยาวก่อนหน้านี้แล้ว เช่น สำนักสนับสนุนสุขภาพปฐมภูมิ ที่เรียกว่า สสป.เนื่องจากมี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิ จึงจำเป็นต้องปรับเป็นกองหรือสำนักใหม่เกิดขึ้น
“ส่วนการปรับโครงสร้างของ สธ. ก็จะสอดคล้องกับนโยบายของ รมว.สธ. เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขเรามีจำนวนค่อนข้างเยอะ ก็จะมีการทบทวนเรื่องบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ อย่างที่ รมว.สธ.เคยนำเรียนก่อนหน้านี้ว่า จะมีร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการบริหารงานบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ที่เรียกว่า ก.สธ.คล้ายของครู เมื่อจะปรับการดูแลบุคลากร สิ่งที่ต้องปรับควบคู่กันคือ โครงสร้าง เพราะหากปรับแต่คน ไม่ปรับโครงสร้างก็จะส่งผลต่อการทำงานได้ ขณะนี้ทั้ง 2 เรื่อง ทั้งการปรับบุคลากรและโครงสร้างจะทำควบคู่กันไป” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และจะจัดทำยุทธศาสตร์ควบคู่กันไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ โดยร่างยุทธศาสตร์ฯ เสร็จแล้ว แต่ต้องผ่านความคิดเห็นของภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่ สธ. แม้บุคลากรดูแลประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ สธ. แต่ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงกลาโหม ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และส่วนท้องถิ่นที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์จึงจำเป็นต้องรับฟังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการประชุม สธ. รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างแรกของยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพแล้ว แต่ตามกระบวนการต้องผ่านความคิดเห็น เพื่อปรับให้เหมาะสม คาดว่าใช้เวลาไม่นาน น่าจะ 1-2 เดือนจะเห็นฉบับเต็มออกมา โดยจะเป็นแผนของประเทศ อย่างเรื่องกำลังคนนอกกระทรวงฯ ก็มีไม่น้อย ที่ผ่านมาการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขต่างคนต่างทำ ทำให้การกระจายตัวไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน แต่ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นภาพรวมของประเทศ โดยมีคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งมอบ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด สธ. และนพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นกำลังสำคัญในการทำเรื่องนี้
“ยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ จะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งจำนวนคนที่เหมาะสมกับงาน การคงอยู่ ค่าตอบแทน เรื่องความก้าวหน้า ภาระการทำงาน ต้องดูทุกเรื่องควบคู่กันไป เพราะบุคลากรจะลาออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ต้องแก้และดำเนินการหลายๆอย่างควบคู่กันไป” นพ.โอภาสกล่าว