กรมควบคุมโรค เผยปี 67 "ไข้หวัดใหญ่- - โควิด - ไข้เลือดออก" ยังระบาดสูง กลุ่มเสี่ยงยังต้องระวัง เระบุ 4 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แนะเดินทางไปต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลโรคระบาดประเทศปลายทาง หาทางป้องกันเหมาะสม "ลาว" พบแอนแทรกซ์ "กัมพูชษ" พบไข้หวัดนก
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค โฆษกกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และโฆษกกรมควบคุมโาค แถลงข่าว "อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค" ปี 2567
พญ.จุไรกล่าวว่า 3 โรคที่คาดการณ์ยังระบาดในไทย คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 และไข้เลือดออก โดยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2567 พบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2566 กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเด็กต่ำกว่า 15 ปีลงมา โดยเฉพาะเด็กใน ร.ร. อายุ 5-9 ปีพบสูงสุด แต่เป็นได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยสะสมกว่า 1 แสนราย เสียชีวิต 5 ราย ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ความดันโลหิต มะเร็ง สายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอ ส่วนพันธุ์บีพบ 1 ใน 3 ทั้ง 2 สายพันธุ์มีอยู่ในวัคซีนตามโปรแกรมของประเทศ จึงแนะนำผู้สูงอายุ ผู้มีปัจจัยเสี่ยง เด็กเล็ก รับบริการวัคซีนฟรี ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องมีมาตรการป้องกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยทางเดินหายใจ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่มีแออัด เป็นไปได้ควรรับวัคซีน ส่วนการระบาดเป็นกลุ่มก้อนปีนี้ยังพบระบาดในเรือนจำ ส่วนร.ร.ก็ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
ไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 2 หมื่นกว่าราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย โดยเสียชีวิตทุกสัปดาห์ อุบัติการณ์โรคยังสูง ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา 2 เท่า เป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากในกลุ่มเด็กวัยเรียน 5-14 ปี วัยผู้ใหญ่พบน้อยแต่พบมากขึ้น และเสียชีวิตมากกว่าในวัยเด็ก ในผู้เสียชีวิตสะสม 27 รายเป็นผู้ใหญ่ถึง 20ราย ปัจจัยเสี่ยงคือไปรพ.ช้า ในผู้ใหญ่พบมีโรคประจำตัวร่วมด้วย แนะนำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากสงสัยป่วยเช่นมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ให้รีบพบแพทย์ อย่าซื้อยารับประทานเอง
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า โรคโควิด 19 ยังเป็นโรคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว แนะนำให้รับวัคซีน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 6,238 ราย เสียชีวิตสะสม 60 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ เน้นประชาชนยังคงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัดควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
สำหรับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปีนี้ พญ.จุไร กล่าวว่า 1.โรคหัด ปีนี้พบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขี้นตั้งแต่ต้นปี มีรายงานผู้ป่วยสงสัย 503 ราย ผลยืนยันโรคหัด 214 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก 1-4ปี แนะนำผู้ปกครองพาเด็กเล็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด
2.โรคไอกรน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็ก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายพื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนต่ำ แนะนำพาบุตรหลานรับวัคซีนตามกำหนด
3.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 101 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-39 ปี โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์หากมีอาการไข้ ตาแดง ผื่นให้รีบพบแพทย์
4.วัณโรค ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย ปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 111,000 ราย แนะนำกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือไอติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์
นพ.วีรวัฒน์กล่าวว่า โรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ 1.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ อาทิเช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไวรัสตับเสบเอ และโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นต้น ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เมื่อเรารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้ป่วยเป็นโรคดังที่กล่าวมา สำหรับการป้องกัน ขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างคืนควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ทั้งนี้โรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน สามารถฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
2.ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงนี้มีหลายพื้นที่ที่พบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชนปิดบ้านให้มิดชิด เมื่อออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM2.5 หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น ใช้เวลาอยู่ภายนอกในระยะสั้นๆ และสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ไม่ควรออกจากบ้านเพราะอาจเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น รวมถึงต้องต้องระวังอย่างมากในเด็ก เช่นกัน
3.การจมน้ำ สถานการณ์การจมน้ำยังคงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งในช่วงหน้าร้อนมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อไปใกล้แหล่งน้ำให้สวมอุปกรณ์ เช่น เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยลอยน้ำอย่างง่ายให้เด็กไว้กับตัวตลอดเวลา
นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทาง เช่น โรคแอนแทรกซ์ พบผู้ป่วยในประเทศลาว โรคไข้หวัดนก พบผู้ป่วยในประเทศกัมพูชา จีน โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิด เอ พบในประเทศญี่ปุ่น และโรคหัด พบการระบาดในทวีปยุโรปหลายประเทศ เป็นต้น หากจะเดินทางไป ควรศึกษาวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะยังคงมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป