xs
xsm
sm
md
lg

สถานบำบัดยาเสพติดไม่พอ สบยช.อัตราครองเตียงเกิน 100% ปรับพื้นที่ รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี เปิดสาขา รพ.จิตเวชเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ เผยสถานบำบัดยาเสพติดไม่พอ อัตราครองเตียง สบยช.สูง 102% แค่ 2 เดือนกว่าดูแลแล้ว 2.8 พันราย อาการรุนแรงถึง 73% ฟื้นฟูระยะยาว 66% ปรับพื่นที่ รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี เป็น รพ.จิตเวชเลย สาขาอุดรธานี ดูแลผู้ป่วยจิตเวช 1 ปี

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ใช้มิติด้านสาธารณสุขโดยถือว่า “ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพหลักแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดและบำบัดรักษา สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และ รพ.ธัญญารักษ์ทั้ง 6 แห่งในภูมิภาคที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี มีภาระหน้าที่บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน รับส่งต่อผู้ป่วยจาก “มินิธัญญารักษ์” และเครือข่าย พัฒนาศักยภาพผู้ให้การบำบัดฯ ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดอย่างมีคุณภาพ โดยมีหลักสูตรที่กำหนดไว้จากกฎหมาย ได้แก่ หลักสูตรเวชศาสตร์ยาเสพติดสำหรับแพทย์ หลักสูตรการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาและสารเสพติดที่มีภาวะแทรกซ้อนวิกฤตและฉุกเฉิน หลักสูตรพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน สถานบำบัดฯ ยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมการแพทย์จึงเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยยาเสพติดได้มากขึ้น โดยอัตราการครองเตียงของ สบยช. อยู่ที่ร้อยละ 102.9 สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในที่ สบยช.และ รพ.ธัญญารักษ์ปีงบประมาณ 2567 (8 ม.ค. - 15 มี.ค.67) จำนวน 2,801ราย มีอาการรุนแรง 2,050 ราย คิดเป็น 73.19% ผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนจากการใช้ยาและสารเสพติดเป็นเวลานาน ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่ยังพบว่ามีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ความบกพร่องทางพุทธิปัญญา (Cognitive Impairment) ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ ผู้ที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ฯลฯ


ผู้ป่วยดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูระยะยาว จำนวน 1,851 ราย คิดเป็น 66.08% โดยใช้รูปแบบชุมชนบำบัดที่พัฒนาจนปัจจุบันเรียกว่า FAST model ซึ่งเป็นต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดให้กับสถานฟื้นฟูฯต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน มีการพัฒนาการรักษาแบบ Home ward ยาเสพติด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ โดยผู้ป่วยอยู่ที่บ้านได้รับการดูแลเสมือนอยู่ใน รพ.

นอกจากนี้ยังมีการขยายหน่วยบริการ “มินิธัญญารักษ์” ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดเพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติด ตามนโยบาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเห็นได้ว่าการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดไม่ใช่แค่รักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาด เพราะส่วนใหญ่มักจะกลับมาเสพติดใหม่ จึงต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยยาเสพติดหลายรายต้องการการดูแลในระยะยาวแบบ Long Term Care เพราะปัญหาการใช้ยาเสพติดมักจะมีปัญหาอื่นเข้ามาเสริม เช่น ปัญหาพฤติกรรม พื้นฐานทางอารมณ์ จิตใจ การขาดที่พึ่งพิง ปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำผิดกฎหมาย และปัญหาทางจิตเวช เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ที่ จ.อุดรธานี ซึ่งกรมการแพทย์ให้การสนับสนุนพื้นที่บางส่วนของ รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานีเพื่อเปิดเป็น รพ.จิตเวชเลย สาขาอุดรธานี ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเป็นระยะเวลา 1 ปี โดย รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานีได้มีการเพิ่มเตียงและศักยภาพในการให้บริการบำบัดผู้ป่วย ยาเสพติดที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพเต็มประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น