xs
xsm
sm
md
lg

"เชียงราย" ค่าฝุ่นสูงสุด ส่วน "ลำปาง" นานสุด 64 วัน สธ.ขยายผล "มุ้งสู้ฝุ่น" 8 จว.เหนือ ใช้งบไม่ถึง 2 พัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ขยายผล “มุ้งสู้ฝุ่น” ครอบคลุม 8 จังหวัดเหนือตอนบน หลังประสบวิกฤตฝุ่น PM2.5 ใช้มุ้งผ้าฝ้ายร่วมเครื่องฟอกอากาศ งบไม่ถึง 2 พันบาท ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ผลดี พบ "เชียงราย" ค่าฝุ่นสูงสุด ส่วน "ลำปาง" ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องสูงสุด 64 วัน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ห้องประชุม รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมขยายผลการใช้งาน “มุ้งสู้ฝุ่น” ในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นควัน เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมมอบวัสดุสาธิตการใช้งานมุ้งสู้ฝุ่นแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 8 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 1 รวม 300 ชุด


นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปีจะพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในระดับมากกว่า 75.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง และพบค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดถึง 209.9 มคก./ลบ.ม. ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป รมว.สธ.ได้มอบแนวทางสำหรับดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ คือ การจัดตั้งคลินิกมลพิษและจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ขณะนี้ดำเนินการแล้วใน 44 จังหวัด แบ่งเป็น คลินิกมลพิษ 225 แห่ง คลินิกมลพิษออนไลน์ 179 แห่ง และห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข 6,715 ห้อง มีผู้รับบริการสะสม ตั้งแต่ 22 พ.ย. 2566 - ปัจจุบัน รวม 112,238 ราย สนับสนุนการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็ก โรงเรียน สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึง สถานที่เอกชน ซึ่งมีกว่า 1,500 ห้อง

“นอกจากเข้าใช้บริการห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการแล้ว กรมอนามัยยังได้นำนวัตกรรม “มุ้งสู้ฝุ่น” ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนนำมาปรับปรุงพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน โดยใช้มุ้งผ้าฝ้ายร่วมกับเครื่องฟอกอากาศ สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านหรือห้องที่มีลักษณะโล่ง มีรูรั่ว หรือผนังห้องไม่มิดชิดได้อย่างดี ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 2,000 บาท แต่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ผลดี ช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้านได้มากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว


พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อขยายผลการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การสาธิตวิธีทำ “มุ้งสู้ฝุ่น” ของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ นิทรรศการระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว “ผ่อดีดี” โดยศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่การสาธิตเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dust Boy โดยหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และ ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ PM2.5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 21 มี.ค. 2567 ภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) ค่าความเข้มข้น PM2.5 สูงสุด ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ทั้ง 22 สถานีอยู่ระหว่าง 108.4 – 209.9 มคก./ลบ.ม. สูงสุด ณ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีวันที่ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ. จำนวน 18 - 64 วัน จำนวนวันสูงสุด ณ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง และสถานการณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 21 มี.ค. 2567 คุณภาพอากาศเริ่มดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่หลายจังหวัด ค่าความเข้มข้น PM2.5 อยู่ระหว่าง 20.5 -69.4 มคก./ลบ. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี (สีเขียว) ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม)


การเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนใน 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ และกลุ่มโรคทางเดินหายใจรวม ซึ่งจากฐานข้อมูล SMOG-Epinorth ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เขตสุขภาพที่ 1 (1 ม.ค. -21 มี.ค. 2567) พบว่า กลุ่มโรคทางเดินหายใจรวม มีผู้ป่วยมารับบริการ 179,540 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 16,219 ครั้ง ร้อยละ 24.11 โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ มีผู้ป่วยมารับบริการ 8,497 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 233 ครั้ง ร้อยละ 2.66 โรคหัวใจและหลอดเลือดมีผู้มารับบริการ 211,614 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1,489 ครั้ง ร้อยละ 0.699 และโรคผิวหนังอักเสบมีผู้ป่วยมารับบริการ 13,710 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 677 ครั้ง ร้อยละ 5.19

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคผิวหนังอักเสบมีจำนวนเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบและโรคหัวใจและหลอดเลือดมีจำนวนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโดยมี 4 มาตรการ 10 กิจกรรม ได้แก่ ส่งเสริมการลดมลพิษทางอากาศ โดยสื่อสารสร้างความรอบรู้ประชาชน ผ่านทุกช่องทาง จำนวน 29,736 ครั้ง ส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ Green energy ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เฝ้าระวังสถาณการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ รายงานผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันโดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ โดยใช้ฐานข้อมูล SMOG-Epinorth จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข


จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นของเขตสุขภาพที่ 1 ทั้งสิ้น 2,095 แห่ง และห้องปลอดฝุ่นสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 1,115 แห่ง ให้ความรู้เพื่อเป็นการป้องกันตนเองโดยแนะนำวิธีทำห้องปลอดฝุ่นหรืออาจใช้มุ้งสู้ฝุ่น เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น ให้บริการคลินิกมลพิษ 37 แห่ง และคลินิกมลพิษออนไลน์ 48 แห่ง ลงพื้นที่บริการเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชน สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง (หน้ากากทางการแพทย์,หน้ากาก N95) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public health emergency operation center: PHEOC) เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์ โดยอ้างอิงจากสถานี Air4Thai เท่ากับ 37.5 ติดต่อกัน 3 วัน หรือ มากกว่า 37.6 มคก. /ลบ.ม. 1 จุดตรวจขึ้นไป

ปัจจุบันได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแล้วทุกจังหวัด ส่งเสริมและขับเคลื่อนกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและโรคสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ประชาชนควรติดตามสถานการณ์ PM2.5 ในแอปพลิเคชัน หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ ควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งหากจำเป็น ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองทุกครั้ง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอกแน่นหน้าอก เมื่อยล้าผิดปกติ ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด และไปพบแพทย์ทันที และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน ได้ที่เวปไซต์ห้องปลอดฝุ่น https://podfoon.anamai.moph.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น