กรมอนามัย ส่งทีมตรวจสอบเหตุไฟไหม้บ่อขยะเทศบาลแม่ลาน้อย "แม่ฮ่องสอน" พบบ่อไม่มีการปกปิด ไม่มีรั้วกั้น ดับได้แล้ว 1 ยังปะทุอีก 2 แต่ไม่มีปล่อยแหล่งน้ำเสียสู่สาธารณะ ชุมชนโดยรอบยังได้กลิ่นควัน ระดับก๊าซพิษไม่ส่งผลกระทบ แนะเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นให้สวมหน้ากาก มีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายจังหวัด โดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยาและแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ มีอาการไอ มีเสมหะ ระคายเคืองจมูก ตา มีน้ำมูก บางรายรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่สะดวก และมีอาการภูมิแพ้กำเริบ และล่าสุดเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะเทศบาลตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีไฟลุกลามไปทั่วบริเวณ และมีกลุ่มควันจำนวนมากฟุ้งกระจายไปยังชุมชนใกล้เคียง ทำให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพจากควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ได้แก่ เด็กเล็ก คนท้อง คนแก่ และผู้มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งขณะนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ควบคุมสถานการณ์ไฟไหม้ได้แล้ว แต่ยังคงมีควันและฝุ่นละอองมายังชุมชนใกล้เคียง
นพ.เอกชัย กล่าวว่า ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานควบคุมโรค เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพประชาชน และประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ยังคงได้รับผลกระทบโดยพบว่า
1.บ่อขยะอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลแม่ลาน้อย มีจำนวน 3 บ่อ ลักษณะบ่อขยะเป็นแบบเทกองบนพื้น ไม่มีการปกปิดหรือปกคลุมขยะ จึงยังคงเห็นเศษขยะปลิวกระจายไปโดยรอบ ไม่มีรั้วปิดกั้นพื้นที่บ่อขยะ เป็นเพียงต้นไม้ปกคลุมโดยรอบ และมีร่องถูกไฟไหม้ในวงกว้าง ซึ่งจากการตรวจสอบยังพบว่าสามารถดับไฟบ่อขยะได้แล้ว 1 บ่อ และยังมีอีก 2 บ่อ ที่ยังปะทุและมีควันไฟเล็กน้อยในบ่อขยะ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการดับเพลิงไหม้ สำหรับสาเหตุการเกิดไฟไหม้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบโดยหน่วยงานท้องถิ่น
2.พื้นที่โดยรอบบ่อขยะ มีระบบบำบัดน้ำเสียจากบ่อขยะโดยรอบ แต่ไม่มีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ จึงไม่พบการปนเปื้อนของน้ำจากบ่อขยะลงในแหล่งน้ำ
3.สภาพแวดล้อมในชุมชน พบว่า ยังคงได้กลิ่นควันไฟเจือจาง
"เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ทีม SEhRT ได้ทำการตรวจวัดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก และตรวจวัดระดับก๊าซพิษที่เกิดจากเผาไหม้ พบว่าก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ระดับฝุ่นละอองในชุมชนมีค่าเกินมาตรฐานในช่วงระหว่าง 55 – 61.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาตรเมตร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงสื่อสารประชาชนงดหรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองและควันไฟทุกครั้งเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน" นพ.เอกชัยกล่าว
ทั้งนี้ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และทีมงานระดับจังหวัด ได้มอบหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองให้ประชาชนไว้สำหรับป้องกันตนเองจากควันไฟและฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมมีคำแนะนำสำหรับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น โดยให้สำรวจ ตรวจสอบ ประเมินความเสี่ยงบ่อขยะทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ และร่วมกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟไหม้บ่อขยะซ้ำ เช่น จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจตราความเสี่ยงไฟไหม้บ่อขยะ และการเผาในที่โล่งแจ้งของประชาชนที่อาจทำให้ลุกลามมายังบ่อขยะจนเกิดไฟไหม้ได้ มีคำสั่งห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับบ่อขยะเข้าพื้นที่ป้องกันการก่อประกายไฟจนเป็นเหตุของไฟไหม้ เป็นต้น และกำหนดรูปแบบการแจ้งเตือนภัยประชาชนที่รวดเร็ว มีแผนการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบ และสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจหลีกเลี่ยงหรือออกจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับประชาชนที่อยู่โดยรอบบ่อขยะ ขอให้หมั่นสังเกตความผิดปกติ หากพบควันไฟ หรือกลิ่นเหม็นการเผาไหม้ ผิดสังเกตรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ป้องกันการลุกลามของไฟไหม้ในวงกว้าง ตรวจสอบระดับฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รับฟังข่าวสาร การแจ้งเตือนจากหน่วยงานในพื้นที่และปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ สวมหน้ากากป้องกันควันไฟ ฝุ่นละอองตลอดเวลาในช่วงที่ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่สูงเกินมาตรฐานกำหนด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ควรอยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่มีการจัดไว้ในบ้านตนเอง หรือในสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือนอกอาคารบ้านเรือนในช่วงที่ยังคงมีควันไฟ และช่วงที่ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเกินมาตรฐาน
"ขอความร่วมมือหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมกันเฝ้าระวังความเสี่ยงภัยพิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงนี้เกิดกรณีไฟไหม้บ่อขยะในหลายจังหวัด และขอให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นหมั่นตรวจสอบ เฝ้าระวัง และป้องกันความเสี่ยงในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคการสาธารณสุข สื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือนภัยอันตรายต่อสุขภาพแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางสื่อสารในชุมชนตนเอง พร้อมจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางต่อไป" นพ.เอกชัยกล่าว