รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะ สมานคติวัฒน์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะอกบุ๋ม ภาษาตามความหมายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เรียกว่า หน้าอกหวำ (Pectus Excavatum) หมายถึง ความผิดปกติของผนังทรวงอก เกิดจากการที่มีกระดูกอ่อนที่อยู่ข้างกระดูกสันอก (หรือกระดูกกลางหน้าอก) เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในการขยายตัวออกไปทางด้านข้าง จนกระทั่งไม่สามารถยืดไปได้อีก ทำให้เกิดการโค้งงอของกระดูกอ่อน หรือที่เรียกว่ากระดูกอ่อนซี่โครง ซึ่งอาจจะโค้งเข้าหรือโค้งออกก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มีลักษณะโค้งเข้า จึงทำให้เกิดภาวะหน้าอกหวำ แต่ไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการงอกหรือ
การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกระดูกอ่อน ในทางทฤษฎีเชื่อว่าผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว มีกระดูกอ่อนซี่โครงยาวกว่าคนปกติ จึงทำให้เกิดการหวำตัวทำให้กระดูกกลางหน้าอกยุบตัวลงไป
การศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบผู้ที่มีความผิดรูปของผนังทรวงอก ประมาณ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดจากภายนอก คือ ผนังทรวงอกด้านหน้าจะมีการยุบเข้าไปข้างในเห็นลักษณะเป็นเบ้าหรือเป็นร่อง ในรายที่รอยยุบมีความลึกมากอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจหรือปอดได้ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตที่เกิดจากการกดการทำงานของหัวใจหรือปอด ผู้ป่วยบางรายพบร่วมกับมาร์ฟานซินโดรม (Marfan syndrome) ที่มีความผิดรูปของผนังทรวงอกและเหมือนผู้ป่วยที่มีความผิดรูปนี้ทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ความผิดปกติของผนังทรวงอก แบ่ง 2 ประเภท ได้แก่ 1. อกหวำหรืออกบุ๋ม และ 2. หน้าอกโป่ง อกนูนหรือหน้าอกไก่ที่ความผิดรูปมีลักษณะที่นูนออกมาทางด้านหน้า โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะปรากฏเห็นเด่นชัดเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในช่วงอายุ 10 – 12 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยที่พบในครอบครัวเดียวกัน หรือประมาณ 10 – 20% ภาวะผิดรูปนี้มักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 – 4 เท่า ลักษณะโดยทั่วไปสังเกตเห็นได้จากภายนอก ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ แต่อาจแสดงอาการต่อเมื่อภาวะหน้าอกนั้นยุบลงมาก ๆ ซึ่งอาจจะรบกวนการหายใจ โดยเฉพาะในขณะที่ออกกำลังกายหนัก ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยใช้ชีวิตตามปกติ เช่น นั่งดูทีวี ทำงาน นั่งเขียนหนังสือ มักไม่แสดงอาการใดๆ เพราะส่วนมากไม่ส่งผลกระทบการทำงานของปอดและหัวใจ นอกจากนี้อาจมีอาการเจ็บ รู้สึกจุก ๆ บริเวณทรวงอก หรือมีอาการที่ทำให้รู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยทัน อาการเจ็บหรือจุกเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณที่ยึดติดกับกระดูก ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจกับรูปลักษณ์ของตนเอง อาจจะมีอาการทางด้านจิตใจ ส่งผลให้มีภาวะซึมเศร้า หรือรู้สึกหดหู่กับหน้าอกของตนเองที่ผิดรูปไม่เหมือนคนอื่นๆที่ปกติ
การรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอก ขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดรูป (ในที่นี้จะเน้นที่ภาวะหน้าอกหวำ) ความรุนแรงของอาการ และความต้องการของผู้ป่วย โดยที่ข้อบ่งชี้ในการรักษามีดังนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคือ มีความรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด แพทย์จะส่งตรวจทดสอบสมรรถภาพปอด และการทำงานของหัวใจโดยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ (echocardiography) ถ้าพบว่ามีความผิดปกติที่เกิดจากความผิดรูปของทรวงอกไปรบกวนการทำงานของปอดหรือหัวใจ แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษา ในส่วนของผู้ที่ไม่มีอาการหากผู้ป่วยไม่รู้สึกเป็นปมด้อยหรือสนใจในรูปลักษณ์ก็ไม่ต้องทำการรักษาแต่อย่างไร หากผู้ป่วยมีอายุเกิน 18 หรือ 20 ปีที่หยุดการเจริญเติบโตหรือความสูงคงที่แล้วยอมรับในรูปร่างของทรวงอกที่ผิดรูปนี้ได้ก็ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ แต่ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีอาการแต่กังวลใจหรือรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของตนเอง โดยในกลุ่มหน้าอกหวำที่มีความลึกมากถึงเกณฑ์ที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด จะได้รับการแนะนำจากแพทย์ให้ทำการรักษา ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ถึงแม้ความผิดรูปจะเป็นไม่มาก แต่หากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีผลกระทบต่อจิตใจและผู้ป่วยต้องการรักษาและยอมรับความเสี่ยงต่อการผ่าตัดได้ ก็สามารถรับการรักษาได้เช่นกัน
วิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือการผ่าตัดที่มีชื่อว่า Nuss procedure โดยการผ่าตัดชนิดนี้ศัลยแพทย์จะใส่แถบโลหะที่เรียกว่า Nuss bar เข้าไปในทรวงอกบริเวณที่มีการยุบตัวลงและดันกระดูกสันอกให้กลับขึ้นมาในระดับปกติที่เท่ากับกระดูกที่อยู่รอบ ๆ โดยในขณะผ่าตัดที่ศัลยแพทย์กำลังใส่โลหะเข้าไปต้องอาศัยกล้องส่องเพื่อให้เห็นภาพภายใน เนื่องจากการผ่าตัดชนิดนี้ทำผ่านแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กที่บริเวณทรวงอกทั้ง 2 ข้าง ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่มีหน้าอกโป่งการผ่าตัดจะอาศัยแถบโลหะที่ใส่เข้าเข้าไปเพื่อกดกระดูกที่นูนให้ต่ำลงมา
ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยใช้เวลาในการพักฟื้นประมาณ 5 - 7 วัน อาการเจ็บจากการผ่าตัดจะค่อย ๆ ดีขึ้น จากนั้นสามารถกลับไปดูแลและพักฟื้นต่อที่บ้าน หากเป็นนักเรียนควรพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่ออาการเจ็บแผลผ่าตัดทุเลาลง จึงจะไปเรียนได้ตามปกติ โดยที่ศัลยแพทย์มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการใส่แถบโลหะเข้าไปในร่างกาย โดยหลังการผ่าตัดระยะแรกควรงดการแบกเป้ประมาณ 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยเพื่อให้แถบโลหะอยู่กับร่างกายอย่างปลอดภัย และต้องหลีกเลี่ยงการกระแทกบริเวณทรวงอกรวมทั้งต้องงดการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา การทำกิจกรรมที่เกิดความสุ่มเสี่ยงเพราะจะทำให้เกิดการเคลื่อนของแถบโลหะออกจากจุดที่ยึดอยู่กับผนังทรวงอกได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด การงดกิจกรรมต่าง ๆดังที่กล่าวมาควรให้ผ่าน 3 เดือนไปก่อน ถึงจะมั่นใจว่าแถบโลหะได้ยึดติดอยู่กับเนื้อเยื่ออย่างแข็งแรงแล้วไม่หลุดและไม่เคลื่อนที่ออกจากจุดยึด ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่แถบโลหะจะต้องใส่ไว้ในร่างกายนานเป็นเวลา 4 ปี และต้องทำการผ่าตัด 2 ครั้ง โดยการผ่าตัดครั้งที่ 2 ศัลยแพทย์จะทำการถอดแถบโลหะออกจากร่างกาย
โรงพยาบาลรามาธิบดีให้การรักษาผู้ที่มีความผิดรูปของทรวงอกโดยที่เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ที่ให้บริการการรักษาชนิดนี้และมีมาตรฐานระดับสากล ในการรักษาภาวะหน้าอกหวำด้วยการผ่าตัดชนิดแผลเล็ก ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ทำการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดรูปจากผนังทรวงอกมากกว่า 300 ราย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของทรวงอกชนิดอื่น ๆ อาทิเช่น ชนิดที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือเนื้องอกของผนังทรวงอก ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีสามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดได้เช่นกัน