xs
xsm
sm
md
lg

เตือนตรวจ "ดวงตา" ทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ เผยอาการที่ควรตรวจของแต่ละช่วงวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จักษุแพทย์เตือนตรวจดวงตาประจำทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ ช่วยค้นพบอาการตั้งแต่เนิ่นๆ เผยแรกเกิด - 5 ปี เน้นค่าสายตา ตาเข ตาขี้เกียจ 6-20 ปี เน้นสายตาสั้น-ยาว-เอียง 20-39 ปีภาวะตาแห้ง การใช้งานสายตา 40 ปีอัปภาวะสายตายาว 60 ปีอัปต้อกระจก จุดรับภาพชัดเสื่อม

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัชวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญ การมีดวงตา และสายตาที่ปกติทำให้ประกอบภารกิจประจำวันทั้งเรื่องส่วนตัวและการงานได้อย่างครบถ้วน มีชีวิตที่เป็นสุข สุขภาพจิตดี ครอบครัวมีความสุข อย่างไรก็ตามพบว่าโรคตาหลายชนิดมักเกิดจากโรคซึ่งรักษาได้หากมารับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น การตรวจตาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยโรคตาที่ไม่มีอาการเตือนได้แต่เนิ่น ๆ และได้การรักษาที่เหมาะสม

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ละเอียดอ่อนที่ถูกกระทบได้ง่ายจากการสัมผัสโดยตรงกับฝุ่นละอองในอากาศ โดยเด็กและผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 20-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางตาจากมลภาวะทางอากาศ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ที่ใช้สายตาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งการทำงานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การเพ่งจอมือถือ เล่นเกมส์ และการดูโทรทัศน์ทำให้ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาสายตาเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์จำนวนมากขึ้น สำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้มีโรคประจำตัว ควรได้รับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละครั้ง และหากมีอาการผิดปกติทางตา หรือมีปัญหาทางสายตา แนะนำควรพบจักษุแพทย์


พญ.วรินทร์ สมิทธิเมธินทร์ นายแพทย์ชำนาญการ รพ.เมตตาประชารักษ์ กล่าวว่า ในผู้มีอาการผิดปกติทางตา ควรไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่มีอาการ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ควรไปตรวจสุขภาพตาเช่นกันโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงกลุ่มคนปกติ คือ

- เด็กแรกเกิด กุมารแพทย์จะตรวจร่างกายเป็นประจำ ช่วงอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ควรได้รับการตรวจดวงตา ตรวจค่าสายตา ตรวจภาวะตาเข และภาวะตาขี้เกียจ หากตรวจพบการรักษาจะได้ผลดี

- ช่วงอายุ 6 – 20 ปี เป็นช่วงวัยเรียนชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยมักมีภาวะสายตาผิดปกติอาจสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งควรได้รับการแก้ไข

- ช่วงอายุ 20 – 39 ปี เป็นวัยเรียนต่อกับวัยทำงาน มักพบโรคตาที่สัมพันธ์กับการใช้งานตาเป็นเวลานาน เช่น ภาวะตาแห้ง เป็นต้น อุบัติเหตุทางตา ภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง ที่สืบเนื่องมา

- ช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีภาวะสายตายาวตามอายุ

- ช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี อาจพบภาวะต้อกระจก จุดรับภาพชัดเสื่อมตามอายุ ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อย 1ครั้งต่อปี


ส่วนกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจตาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ได้แก่ 1.เด็กคลอดก่อนกำหนดที่เข้าเกณฑ์ได้รับการตรวจตา 2.ผู้มีปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน เช่น มีประวัติต้อหินในครอบครัว 3.ผู้ป่วยเบาหวาน 4.ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาฉีกขาดและหลุดลอก ได้แก่ เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา สายตาสั้นมาก 5.ผู้มีโรคทางกายที่ต้องใช้ยาบางตัวต่อเนื่อง เช่นยารักษา วัณโรค ยารักษาโรคข้อ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีอาการทางสายตา ไม่ว่าจะในช่วงอายุใด ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ เพราะอาการทางสายตาเกิดได้จากหลายปัจจัยเสี่ยง และอาจมีโรคทางกายเป็นสาเหตุร่วมด้วยได้การพบจักษุแพทย์จะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุได้ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที


กำลังโหลดความคิดเห็น